×

ทำความรู้จัก ‘ผู้ลงทุนที่ได้รับการรับรอง’ Accredited Investor

03.04.2021
  • LOADING...
ทำความรู้จัก ‘ผู้ลงทุนที่ได้รับการรับรอง’ Accredited Investor

จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ในการกำหนด Accredited Investors ใช้หลักเกณฑ์ในเรื่องของสินทรัพย์ รายได้ และเงินลงทุนเป็นหลัก ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยที่มีหลักทรัพย์หรือรายได้น้อย ไม่มีโอกาสในการลงทุนในหลักทรัพย์เหล่านี้ ผู้ลงทุนหลายๆ คนจึงเกิดความรู้สึกว่าเป็นการจำกัด และทำให้คนรวยรวยขึ้นไปอีก ส่วนคนจนกลับขาดโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง จึงขาดโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้จากผลตอบแทนจากการลงทุน

 

ผู้ลงทุนสถาบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น และผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (High Net Worth) โดยกรณีเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถพิจารณารวมกับคู่สมรสได้ ส่วนกรณีเป็นนิติบุคคลต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป

 

นอกเหนือจากการทำงานเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพแล้ว การลงทุนเป็นอีกหนึ่งวิธีในการหาเงินเลี้ยงชีพ รวมไปถึงการสร้างและสะสมเงินออมเพื่อเผื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และยามเกษียณอายุ

 

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า การลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนที่ผิดพลาดอาจจะทำให้แผนการใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงได้เลยทีเดียว ซึ่งการลงทุนนั้นมีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินกับธนาคาร สถาบันการเงิน การซื้อพันธบัตรรัฐบาล การลงทุนในสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนในตลาดทุนไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญ หุ้นกู้ และการลงทุนยุคใหม่อย่างเช่น สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น 

 

ซึ่งการลงทุนทั้งหลายเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้งยังมีเรื่องของความรู้ความเข้าใจในการลงทุนที่ไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย และความซับซ้อนนี้เองทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้บุคคลบางจำพวกเข้ามาหาผลประโยชน์จากผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนรายย่อยที่มักจะเป็น ‘เหยื่อ’ ​เพราะที่มีช่องทางเข้าถึงการให้บริการ มีข้อมูล และความเข้าใจที่น้อยกว่า

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)​ ได้ทำหน้าที่ดูแลกำกับหลักทรัพย์​และการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะผู้ลงทุนมีความหลากหลาย และแต่ละประเภทอาจจะมีข้อมูล และมีช่องทางเข้าถึงตลาดทุนได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ ก.ล.ต. จะบังคับใช้กฎเกณฑ์ทั้งหลาย อย่างเข้มงวด เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาเป็นบริษัทที่มีคุณภาพและมีการกำกับดูแลการซื้อขายเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวราคาที่ผิดปกติจากผู้ไม่ประสงค์ดี รวมไปถึงผู้ที่มีข้อมูลภายใน (Insiders) อย่างมาก กล่าวคือ เลือกที่จะควบคุมทางด้านฝั่งขาย (Sell Side) มากกว่าทางฝั่งผู้ซื้อ (Buy Side)

 

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเองก็มีมาตรการให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้น และสนับสนุนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ทำให้บริษัทมีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น และลดปัญหาการทุจริต และความผิดพลาดในการบริหารงานลง

 

แล้ว Accredited Investors คือใคร แตกต่างกับผู้ลงทุนรายย่อยอย่างไร

ในฝั่งผู้ซื้อ ซึ่งมีความสามารถในการรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. บริษัทหลักทรัพย์ และหน่วยงานตลาดทุนต่างๆ ได้สนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกช่องทางสื่อ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ จนผู้ลงทุนเริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และมีช่องทางการเข้าถึงตลาดทุนมากขึ้น จึงน่าจะถึงเวลาที่มาตรการควบคุมทั้งหลายเหล่านี้ควรจะมีการผ่อนปรนลง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงมากขึ้น ระมัดระวังการลงทุนเองมากขึ้น

 

แต่เพราะ ก.ล.ต. ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนรายย่อย ในปี 2555 คณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงเห็นชอบให้มีการกำหนดลักษณะผู้ลงทุนที่ได้รับการรับรองหรือประเภท Accredited Investors (AI) รวมทั้งอนุญาตให้มีการเสนอขายสินค้ากับผู้ลงทุนกลุ่มนี้ได้ ต่อไปนี้

 

  • ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Bonds)
  • กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ซึ่งสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือมีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade ได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วนการลงทุน

 

โดย ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ Accredited Investors ประกอบด้วยผู้ลงทุน 2 ประเภท ได้แก่

 

  • ผู้ลงทุนสถาบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
  • ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (High Net Worth) โดยกรณีเป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สามารถพิจารณารวมกับคู่สมรสได้ ส่วนกรณีเป็นนิติบุคคลต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป

 

จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ในการกำหนด Accredited Investors ใช้หลักเกณฑ์ในเรื่องของสินทรัพย์ รายได้ และเงินลงทุนเป็นหลัก ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยที่มีหลักทรัพย์หรือรายได้น้อย ไม่มีโอกาสในการลงทุนในหลักทรัพย์เหล่านี้ ผู้ลงทุนหลายๆ คนจึงเกิดความรู้สึกว่าเป็นการจำกัดและทำให้คนรวย รวยขึ้นไปอีก ส่วนคนจนกลับขาดโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง จึงขาดโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้จากผลตอบแทนจากการลงทุน

 

เมื่อ ก.ล.ต. มีนโยบายกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงทุนในลักษณะเดียวกับที่ทำมาก่อนหน้านี้ กับการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี รวมทั้งกำหนดให้มีการทดสอบความรู้เกี่ยวกับการลงทุน (Knowledge Test) ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเพิ่งมีการเปิดรับความคิดเห็นไปเมื่อเร็วๆ นี้ จึงเกิดกระแสต่อต้านจากผู้ลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตัลอย่างมากว่าไม่ควรนำมาตรการทางด้านคุณสมบัติด้านฐานะทางการเงินมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด และอาจจะควรใช้คุณสมบัติทางความรู้ และวิธีการจำกัดความเสี่ยงในรูปแบบอื่นแทน จนในวันที่ 1 เมษายน 2564 ก.ล.ต. ก็ได้ออกหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการว่า หากเป็นผู้ลงทุนมีความประสบการณ์ในการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีอยู่แล้ว สามารถลงทุนได้ แต่หากนักลงทุนรายใหม่ที่ไม่มีความรู้ในการลงทุนด้านนี้จะต้องมีการเข้าคอร์สอบรมความรู้หรือผ่านการทดสอบความรู้ โดยทางผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของ ก.ล.ต. พร้อมเป็นผู้สนับสนุน โดยจะมีการจัดหลักสูตรการให้ความรู้ ‘คริปโต 101’ กับผู้ที่สนใจลงทุน และจะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแบบทดสอบมาตรฐานต่อไป

 

นอกจากนี้แล้วยังมีประเด็นในเรื่องของบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นความหวังในการก้าวเข้าสู่ S-Curve ใหม่ของประเทศไทย และอาจจะมีผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็มีความเสี่ยงสูง ทุกวันนี้ การลงทุนในบริษัทเหล่านี้จึงจำกัดตัวอยู่ในวงแคบ เช่น กับผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนแบบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เป็นต้น

 

ตลาดหลักทรัพย์เล็งเห็นถึงความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้กับผู้ลงทุนรายย่อยในการเข้าถึงการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ จึงได้มีโครงการที่จะนำบริษัทเหล่านี้เข้าทำการซื้อขายในกระดานใหม่ที่จะเปิดให้กับบริษัทเหล่านี้ โดยเฉพาะในโครงการ LiVE Platform และพยายามทำให้บริษัทที่จะเข้ามาทำการซื้อขายเป็นบริษัทที่มีคุณภาพพอสมควรและมีอนาคตที่ชัดเจน มีความสามารถในการระดมทุนใหม่เพื่อขยายกิจการ และเติบโตเป็นบริษัทที่มั่นคง และเติบใหญ่ในอนาคต

 

แต่เพื่อเป็นการปกป้องผู้ลงทุน จึงมีความเป็นไปได้มากว่ามาตรการในลักษณะเดียวกันกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอาจจะถูกนำมาใช้กับการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้วยเหมือนกัน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ลงทุนรายย่อยที่อาจจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของความเสี่ยงของบริษัทสตาร์ทอัพที่อาจจะสูงกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาก และต้องมีการกระจายการลงทุนที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน รวมไปถึงมาตรการในการเสริมสร้างความรู้และให้ข้อมูลที่จำเป็นให้กับผู้ลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม การที่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์มีนโยบายขยายช่องทาง และประเภทสินทรัพย์ใหม่ๆ ให้ผู้ลงทุนทั่วไปตามความต้องการของผู้ลงทุน โดยเห็นว่าผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากขึ้นนั้น ผู้ลงทุนก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน โดยใช้ข้อมูลต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กับการลงทุน รู้จักบริหารความเสี่ยง รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจ มีคุณภาพต่ำ หรือความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่ตนเองจะยอมรับได้เช่นกัน

 

ซึ่งแผนการดำเนินงานและหลักเกณฑ์ทั้งหลายเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างและทบทวน และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปในอีกไม่นานนัก ผู้ที่สนใจที่จะลงทุนในหลักทรัพย์รูปแบบใหม่ๆ ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลและบริษัทสตาร์ทอัพควรที่จะติดตามศึกษาและให้ความเห็น เพื่อสร้างตลาดใหม่ที่จะสร้างโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี และสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กันครับ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising