นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำหรับการดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้ได้รับค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีกองทุนเงินทดแทนที่ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกจ้างและไม่ให้เป็นภาระแก่นายจ้าง
ซึ่งลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลให้นายจ้างจ่าย เพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท
หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท ตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และหากไม่เพียงพอก็สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ สามารถเบิกเพิ่มได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวอีกว่า แนะนำนายจ้าง ในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน นายจ้างต้องแจ้งการประสบอันตรายตามแบบแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) พร้อมสำเนาหนังสือส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาพยาบาล (กท.44) ให้แก่สำนักงานประกันสังคมที่สถานประกอบการของท่านที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ซึ่งการแจ้งการประสบอันตราย นายจ้างและลูกจ้างต้องแสดงเอกสารใบเสร็จรับเงิน ประวัติการรักษาพยาบาล และหลักฐานการปฏิบัติงานประกอบการพิจารณา เช่น หลักฐานการลงเวลาทำงาน รวมทั้งให้ข้อเท็จจริง โดยจะทำให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยได้รวดเร็วอีกด้วย