×

รับโอน ‘พล.ต.อ. รอย’ รอง ผบ.ตร. ข้ามห้วยนั่ง ‘เลขาฯ สมช.’ หน่วยงานที่คนในไม่ค่อยได้โต

โดย THE STANDARD TEAM
03.01.2024
  • LOADING...

เปิดเอกสารรับโอน

 

ช่วงเย็นของวันนี้ (3 มกราคม) มีรายงานว่า ได้มีการเผยแพร่หนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0401.3/12930 ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2666

 

 

เนื้อหาภายในหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เซ็นรับหนังสือฉบับนี้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 13.51 น. เลขรับที่ 44 เรื่องการขอรับโอนข้าราชการตำรวจ ระบุเนื้อหาว่า

 

ด้วยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ข้าราชการตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสม 

 

จึงมีความประสงค์จะขอรับโอน พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ข้าราชการพลเรือนประเภทบริหาร ระดับสูง เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท) เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57(1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้เห็นชอบให้ดำเนินการขอรับโอนแล้ว 

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายินยอมการโอนข้าราชการตำรวจรายดังกล่าว เพื่อจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ลงชื่อ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

 

เลขาธิการนายกฯ ย้ำ เป็นไปตามกระบวนการ

 

ทั้งนี้ นพ.พรหมินทร์ กล่าวถึงการทำหนังสือขอรับโอนข้าราชการตำรวจว่า เป็นไปตามกระบวนการ เนื่องจากเป็นการย้ายหน่วยงาน ซึ่งตนทำในนามนายกฯ ในฐานะนายกฯ เป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อขอทาบทาม โดยการทำหนังสือนี้จะต้องทำแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่ 

 

จากนั้นเจ้าตัวคือ พล.ต.อ. รอย จะต้องตอบว่าเจ้าตัวยินยอมหรือไม่ และหน่วยงานยินยอมหรือไม่ จากนั้นขั้นตอนต่อไปจึงจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม สมช. แล้วจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า จะมีการนำเรื่องการโอนย้าย พล.ต.อ. รอย เข้าสู่การพิจารณาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และที่ประชุม ครม. ในวันที่ 9 มกราคม 2567 

 

หน่วยงานที่คนในไม่ค่อยโต

 

สำหรับหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘สภาความมั่นคงแห่งชาติ’ หรือ สมช. มีผู้นำองค์กรสูงสุดคือตำแหน่งเลขาธิการ เป็นข้าราชการพลเรือนระดับสูง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีวิสัยทัศน์ขององค์กรระบุว่า “องค์กรนำด้านความมั่นคงแบบองค์รวม บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ และบริหารจัดการความมั่นคงทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน”

 

อย่างไรก็ตาม บทความของกรุงเทพธุรกิจได้ระบุไว้ว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติก่อตั้งมา 112 ปี มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมาแล้ว 23 คน ส่วนใหญ่มาจากทหาร-ตำรวจ มี ‘พลเรือน’ เพียง 5 คนที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำองค์กร ทั้งที่มีจุดมุ่งหมายให้เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่ช่วยคานอำนาจกับ ‘เหล่าทัพ’

 

บทความระบุด้วยว่า ‘สมช.’ ถูกใช้เป็นศาลาพักใจ รองรับคนอกหักจาก ‘ทหาร-ตำรวจ’ ส่งผลให้ ‘ลูกหม้อ’ คนในองค์กรไม่เติบโตในตำแหน่งหน้าที่ 

 

บทความดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ‘คนใน สมช.’ นับวันยิ่งยากจะเติบโต เพราะตำแหน่ง ‘หัวหน้าองค์กร’ มักจะถูกนำไปใช้ตอบสนองด้านการเมือง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising