×

นักวิชาการค้าน ‘TRUE-DTAC’ ควบรวม ชี้เพิ่มอำนาจผูกขาดมากกว่าสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภค

19.02.2022
  • LOADING...
นักวิชาการค้าน ‘TRUE-DTAC’ ควบรวม ชี้เพิ่มอำนาจผูกขาดมากกว่าสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภค

‘TDRI – นักวิชาการ’ เห็นพ้อง ดีล TRUE-DTAC ควบรวมสร้างผลกระทบด้านลบมากกว่าประโยชน์ ชี้กรณีเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในอุตสาหกรรม จะเป็นอุปสรรคระดับประเทศยามต้องก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ พร้อมเสนอ 3 แนวทาง เพิ่มประโยชน์แก่ผู้บริโภค 

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเวทีเสวนารูปแบบออนไลน์ในหัวข้อ ‘ดีล TRUE-DTAC ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค’ โดยมีตัวแทนจาก TDRI นักวิชาการอิสระ และนักกฎหมายเข้าร่วมเสนาเวทีทางความคิดครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมองว่าดีลนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดให้กับผู้ประกอบการ และลดทอนประโยชน์ของผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลระดับประเทศ  

 

สภาฯ ชี้ กสทช. ต้องชี้ขาด

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ TCC กล่าวว่า หลังการประกาศควบรวมกิจการตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคมีท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย และคาดหวังว่าจะไม่ให้ควบรวมกิจการ ซึ่งการพิจารณาดีลนี้ควรดำเนินการโดย กสทช. ชุดใหม่

 

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อผู้บริโภคค่อนข้างชัดเจน คือทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง จากผู้ประกอบการเดิมที่มี 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย รวมถึงสิทธิต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกิจการโทรคมนาคมจะลดลง เช่น สิทธิในการการย้ายค่าย สิทธิต่อการควบคุมราคา สิทธิในการตรวจสอบ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลกลับเพิ่มขึ้น

 

โดยกรณีศึกษาจาก 25 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ พบว่าเมื่อผู้เล่นในตลาดลดลง ทำให้ราคาค่าบริการจะปรับเพิ่มขึ้นถึง 20% สำหรับดีลควบรวมกิจการโทรคมนาคมของไทยครั้งนี้ ก็ต้องติดตามต่อว่า กสทช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาจะมีมาตรการป้องกันตั้งแต่เบื้องต้นอย่างไร

 

“จริงๆ เรื่องนี้เชื่อว่ามีทางออก ถ้าจะไม่ลดจำนวนผู้เล่นก็ต้องไม่ให้ควบรวม แต่จะทำหรือไม่ หรือทำในรูปแบบอย่างไร ก็ต้องติดตามว่า กสทช. จะพิจารณาอย่างไร” สารีกล่าว 

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ตามหลักทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การควบรวมธุรกิจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ มีนวัตกรรมที่ดีขึ้น และประหยัดต้นทุน ขณะเดียวกันมีข้อเสียคือ เพิ่มอำนาจการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ต้องบาลานซ์ข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นให้ได้

 

กรณีการควบรวมบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC นั้นจะเข้าข่ายแบบใด สามารถประเมินได้จากท่าทีของบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นผู้เล่นอีกรายในอุตสาหกรรม โดยหากบุคคลที่สามมีท่าทีคัดค้านการควบรวม อาจเป็นสัญญาณว่าการควบรวมควรเกิดขึ้น เพราะจะสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และทำให้บุคคลที่สามเสียประโยชน์บางอย่าง เช่น ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ในทางกลับกัน หากบุคคลที่สามไม่คัดค้านดีลควบรวมใดๆ ก็เป็นสัญญาณว่าไม่ควรอนุญาตให้ควบรวม 

 

“สำหรับดีลนี้ ผู้เล่นรายที่เหลือคือ AIS ซึ่งไม่ได้คัดค้านใดๆ หลักฐานที่ชัดเจนคือราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทเพิ่มขึ้นจากการประกาศควบรวม ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แต่เป็นผลเสียต่อผู้บริโภค รวมถึงพาร์ตเนอร์ที่ทำงานกับโอเปอเรเตอร์ 3 ราย ทั้งดีลเลอร์ ผู้ให้บริการนวัตกรรม และสตาร์ทอัพ เพราะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย” ดร.สมเกียรติกล่าว 

 

ยันดีลควบรวมไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค 

 

ดังนั้นจึงมีความชัดเจนว่าดีลควบรวม TRUE-DTAC ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และสมควรระงับ โดยเฉพาะในเวลานี้ที่โลกกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตและดาต้าจำนวนมาก ขณะที่ผลการควบรวมจะทำให้ราคาในการเข้าถึงข้อมูลสูงขึ้น เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ต้องใช้บริการดาต้าก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ถือเป็นอุปสรรคระดับประเทศที่ขัดขวางการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ดังนั้นการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในอนาคตจึงไม่เพียงเผชิญการผูกขาดจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่ยังกำลังเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เท่ากับว่าประเทศไทยเผชิญการผูกขาดถึงสองชั้น

 

นอกจากนี้ การก้าวเข้าสู่โลก Metaverse ในอนาคตต้องใช้ดาต้าจำนวนมาก ถ้าราคาสูงจะทำให้การก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลยากขึ้น หากไม่สามารถกำกับดูแลจะทำให้ระบบการกำกับดูแลทั้งระบบล้มเหลว ไม่สามารถกำกับดูแลได้

 

เสนอ 3 แนวทางเพิ่มประโยชน์ผู้บริโภค 

 

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า มี 3 ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ได้แก่ 

  1. ไม่ให้ควบรวม ให้ขายรายอื่น และลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน 
  2. ให้ควบรวม โดยกำหนดเงื่อนไขให้คืนคลื่นมาจัดสรรให้รายใหม่ 
  3. ให้ควบรวม และส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการที่ไม่ได้มีการวางโครงข่ายของตัวเอง (MVNO) ซึ่งข้อเสนอที่ไม่เหมาะสมในไทย เพราะกำกับดูแลยาก

 

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วนของ กสทช. ได้ประสานงานกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอย่างสม่ำเสมอ และเข้าร่วมชี้แจงแก่คณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรในทุกสัปดาห์ ซึ่งจากการตีความตามกรอบและหน้าที่ ตอนนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า ดีลนี้ กสทช. ต้องมีอำนาจในการกำกับดูแลกระบวนการการวมธุรกิจโทรคมนาคม ในเรื่องประโยชน์ของผู้บริโภคทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งผลดีและผลเสีย 

 

กสทช. เร่งวิเคราะห์สภาพตลาด

ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาดีลนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กสทช. จะต้องวิเคราะห์สภาพตลาด ผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป การจัดทำรายงานของที่ปรึกษาของเอกชน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวิเคราะห์ว่าจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมที่เหมาะสมในประเทศไทยควรมีกี่ราย หากยังคงจำนวนผู้เล่นเท่าเดิมราคาจะไม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งโดยปกติหลังควบรวมราคาเฉลี่ยในตลาดจะเพิ่มขึ้นมากกว่า

 

โดยปัญหาสำคัญคือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยควรมีผู้เล่นกี่รายจึงจะเหมาะสมกับสภาพตลาดที่แท้จริง และสามารถปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภคได้ ซึ่ง กสทช. ต้องหาคำตอบให้ได้ ทั้งนี้ จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ที่มีการยื่นคำขอควบรวม ซึ่งบางประเทศก็ไม่อนุญาต เพราะจะทำให้จำนวนผู้เล่นลดลง แต่บางประเทศก็อนุญาตให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไข โดยกำหนดว่าต้องมีผู้เล่นเท่าเดิม โดยใช้มาตรการเชิงโครงสร้าง คือการออกคำสั่งให้กระจายทรัพยากร เช่น คลื่น เสาโครงข่าย ไปให้รายใหม่ เป็นต้น

 

“สำหรับการถกเถียงกันถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากกรณีการควบรวมครั้งนี้ ในทางปฏิบัติแล้วยังเป็นการพยากรณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทราบดีว่าถ้ารอให้เกิดการควบรวมขึ้นก่อนค่อยถกเถียงนั้น ก็อาจจะสายเกินไปในการรับมือ” นพ.ประวิทย์กล่าว

 

ทางด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การควบรวมทางธุรกิจทางการเงินมีหลายแบบ แต่ดีลการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC  ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการควบรวมกิจการแบบลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือการรวมทุกส่วนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นบริษัทใหม่ ขณะที่บริษัทเดิมหายไป เท่ากับเหลือผู้เล่น 2 ราย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการผูกขาด และแข่งขันไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่ก่อนการควบรวมเสร็จด้วยซ้ำ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X