×

สิ่งที่เรียนรู้จากตัวละคร ‘จุนยอง’ ในซีรีส์ A World of Married Couple

18.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ถ้าเปรียบเทียบ จุนยอง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง จะมีทั้งเหตุการณ์ดี-ร้าย เหตุการณ์ทั้งใหญ่-เล็ก สะสมเป็นก้อนประสบการณ์ที่ถูกซึมซับกลายเป็นนิสัยและบุคลิกภาพ
  • สาเหตุที่ทำให้ตัวละครจุนยองไม่รักตัวเอง มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ ก็ล้วนมาจากพ่อแม่ที่ไม่เคยมองเห็นความต้องการของลูก และยัดเยียดความต้องการของตัวเองให้เขาโดยไม่รู้ตัว
  • การที่เราจะลองมองตัวละครจุนยองในซีรีส์เรื่องนี้จากมุมของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ในครอบครัวที่แตกสลาย อาจทำให้เราเข้าใจความลึกซึ้งของซีรีส์เรื่องนี้ และเข้าใจผลกระทบที่เด็กคนหนึ่งได้รับ

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*

 

A World of Married Couple เป็นซีรีส์ที่มีมิติหลากหลาย แสดงความเหนือชั้นในเชิงการเขียนบท และการกำกับที่ทำให้คนดูสะใจไปกับเรื่องราวดุเดือดของตัวละครก็ได้ หรือถ้ามองเชิงลึกจะเห็นว่าเป็นซีรีส์ที่ทำการบ้านหนักมาก เพื่อสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว สังคมช่างนินทา การยึดถือรูปแบบความสัมพันธ์ผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งแสดงผ่านตัวละครแทบทุกตัวในเรื่อง โดยเฉพาะมุมมองเชิงพฤติกรรมที่ผู้เขียนบทศึกษาอย่างละเอียด และใช้ในรายละเอียดของบทที่แสดงให้เห็นโครงสร้างปัญหาครอบครัวได้อย่างที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง  

 

ตัวละครสำคัญอย่าง จุนยอง ลูกชายคนเดียวของ อีแทโอ และ จีซอนอู มีบทบาทสำคัญในช่วงครึ่งหลังของซีรีส์ เพื่อชี้ให้คนดูได้เห็นว่า การทะเลาะ การหักหลัง การใช้ลูกเป็นข้ออ้าง การผลักให้เด็กไม่เข้ามายุ่งกับปัญหาของผู้ใหญ่ การใช้กำลังและความรุนแรงของพ่อแม่ ได้กลายเป็นสิ่งบ่มเพาะให้จุนยองที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นแสดงพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็น ‘เด็กมีปัญหา’ 

 

ดังนั้น การที่เราจะลองมองตัวละครจุนยองในซีรีส์เรื่องนี้จากมุมของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ในครอบครัวที่แตกสลาย อาจทำให้เราเข้าใจความลึกซึ้งของซีรีส์เรื่องนี้ และเข้าใจผลกระทบที่เด็กคนหนึ่งได้รับ 

 

 

 

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*

 

ทุกพฤติกรรมและการแสดงออกล้วนมีที่มาเสมอ

ผู้สร้างซีรีส์ A World of Married Couple พยายามอธิบายให้เราได้เห็นว่า การที่ตัวละครทำพฤติกรรมนั้นๆ เพราะมันมีที่มา มันมีเหตุมีผลต่อการกระทำที่เกิดขึ้น 

 

แต่นั่นคือโลกของละคร ที่ย่นย่อ เลือกเฉพาะช่วงตอนที่สำคัญมานำเสนอ แต่ในชีวิตคนเราจริงๆ จะไม่ได้เห็นผลกระทบเหล่านี้ชัดเจน เพราะเราไม่สามารถมองย้อนไปในอดีตที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ล้านอย่างในชีวิต แล้วจับได้ชัดว่า เหตุการณ์ไหนที่ส่งผลกับพฤติกรรมของเราในทุกวันนี้ 

 

ถ้าเปรียบเทียบ จุนยอง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง จะมีทั้งเหตุการณ์ดี-ร้าย เหตุการณ์ทั้งใหญ่-เล็ก สะสมเป็นก้อนประสบการณ์ ถูกซึมซับกลายเป็นนิสัยและบุคลิกภาพ อย่างเช่น เหตุการณ์ในอีพีแรกที่จุนยองพูดออกมาตอนวาดรูปหน้าเค้กวันเกิดพ่อแล้วให้แม่เลือก “ดูสิครับ อันไหนดีที่สุด” ประโยคนี้ในซีรีส์ ผู้เขียนบทได้บอกเล่าพื้นฐานตัวละครให้เราได้รู้ว่า ลูกชายคนเดียวของครอบครัวมีภาวะพึ่งพิงและการสนับสนุนจากคนอื่น เช่นเดียวกับการที่แม่ยังซื้อเสื้อผ้าให้ ไปรับไปส่ง เลือกวิชาที่ควรเรียนพิเศษ ฯลฯ

 

และในอีพีต่อๆ มา เรายังพบว่า จุนยองเริ่มสื่อสารความต้องการออกมาว่า “ผมไม่ใช่เด็กแล้วนะครับ” แต่ปัญหาในจุดนี้คือ การสื่อสารที่ไม่สัมฤทธิ์ผล แม่อาจจะได้ยินว่าลูกต้องการอะไร แต่แม่กลับเลือกพูดในสิ่งที่แม่ต้องการ เช่นเดียวกับพ่อ ทุกคนได้เอาความต้องการของตัวเองใส่ลงไป โดยไม่ได้ฟังความต้องการของลูกเลย การถูกมองเห็นของจุนยองในครอบครัวนี้จึงไม่แข็งแรง และตกเป็นความสำคัญลำดับสุดท้ายในบ้าน 

 

ในชีวิตจริงรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราต่างมองข้าม เพราะคิดว่าความต้องการของเด็กไม่ได้สำคัญเท่าหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ อย่างเช่น การตั้งใจเรียนหนังสือ สอบได้คะแนนดีๆ และทำตัวเป็นลูกที่ไม่มีปัญหา

 

สำหรับเด็กวัยรุ่น เขาย่อมต้องการพื้นที่ปลอดภัย และในเมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซน ทำให้จุนยองต้องเปิดโหมดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา คอยระวังว่าเมื่อไรพ่อแม่จะทะเลาะกัน เมื่อไรที่เขาต้องถูกใช้เป็นตัวกลางระหว่างพ่อแม่อีกครั้ง สิ่งนี้ทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งสุดท้ายมันจะส่งผลออกมาในรูปแบบของการกระทำ

 

ฉะนั้น สาเหตุที่ทำให้ตัวละครจุนยองไม่รักตัวเอง มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ ส่วนสำคัญอาจมาจากพ่อแม่ที่ไม่เคยมองเห็นความต้องการของลูก และยัดเยียดความต้องการของตัวเองให้ลูกโดยไม่รู้ตัว 

 

*ความเป็นตัวของตัวเอง (Independence) วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง และมีความต้องการรับผิดชอบตัวเอง ผู้ใหญ่ควรค่อยๆ ปล่อยให้วัยรุ่นมีอิสระมากขึ้นอย่างเหมาะสม ไม่บังคับหรือมีกฎระเบียบมากเกินไป ควรให้พวกเขาตัดสินใจในขอบเขตที่เหมาะสม วัยรุ่นต้องการความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองอย่างมาก บางครั้งจะแยกตัวไปจากบิดามารดาเพื่อไปสู่ความเป็นตัวของตัวเอง จนมีการต่อต้านความคิดและการกระทำของผู้ใหญ่
(ข้อมูลจิตเวชเด็ก จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child)

 

 

เหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนความเชื่อในตัวตน

เหตุการณ์ที่เป็นจุดสั่นสะเทือนความเชื่อที่ฝังรากลึกจนเป็นตัวตน (Core Beliefs) และทำให้จุนยองกลายเป็นเด็กมีปัญหา กระจายอยู่ในหลายอีพี เริ่มตั้งแต่อีพีแรกที่ จีซอนอู กำลังอารมณ์พลุ่งพล่านกับการจับได้ว่าสามีนอกใจ ระหว่างขับรถไปรับลูกชาย เธอเหยียบคันเร่งโดยไม่สนใจว่าจุนยองจะเตือนอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้คือการสั่นสะเทือนความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานขั้นแรกๆ ของทฤษฎีจิตวิทยาลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ 

 

ในอีพี 6 จีซอนอู ได้รู้ความจริงว่า จุนยองเป็นคนเห็นเหตุการณ์ว่าพ่อมีผู้หญิงคนอื่น ทั้งยังได้ถ่ายวิดีโอเอาไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จุนยองเข้าใจว่าพ่อนอกใจแม่ และแม่เองก็รู้แล้วว่าพ่อนอกใจ แต่ประเด็นคือไม่มีใครมาบอกเล่าให้จุนยองฟังตรงๆ ซึ่งมนุษย์เราในวัย 12 ปีขึ้นไป กำลังอยู่ในระยะแสวงหาตัวตน (Identity) ซึ่งตรงกับจุนยองที่อยู่ในวัยนี้ จริงๆ แล้วเขาควรมีส่วนร่วมกับปัญหา มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่เมื่อจุนยองไม่เคยได้รับคำอธิบายอะไรเลย สิ่งที่เขาจะทำคือ การพยายามหาคำตอบให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อไม่พบ สิ่งที่พอจะทำได้คือการโทษตัวเองว่าเป็นตัวปัญหา เหตุการณ์นี้เป็นอีกจุดหนึ่งพลิกผัน

 

ในอีพี 6 เช่นเดียวกัน ที่เกิดเหตุการณ์เกี่ยวพันถึงชีวิต เมื่อ จีซอนอู พาจุนยองขับรถหนี อีแทโอ ท่ามกลางความหวาดกลัวที่พ่อแม่ใช้อารมณ์รุนแรงใส่กัน คุณค่าในความเป็นมนุษย์ของจุนยองกลับยิ่งลดน้อยลง เพราะพ่อแม่ไม่ได้มองเห็นเขาในฐานะลูก แต่มองเห็นเป็นเครื่องมือในการต่อรองระหว่างกัน จนมาถึงจุดไคลแม็กซ์ที่จุนยองได้เห็นเหตุการณ์ที่พ่อทำร้ายร่างกายแม่จนนอนจมกองเลือด ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด กลับกลายเป็นทางออกของปัญหาที่เด็กอาจซึมซับได้ว่า นี่คือการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะหลังจากนั้นพ่อก็ย้ายออกจากเมืองโกซานไป

 

จุดแตกหักที่สุดคือในอีพี 11 ที่จุนยองได้เห็นว่าพ่อแม่ที่ทะเลาะกันมาตลอด หย่าร้างจนแยกย้ายไปมีครอบครัวใหม่ แต่สุดท้ายพวกเขากลับมามีอะไรกัน การกระทำของ จีซอนอู และ อีแทโอ ทำให้กรอบศีลธรรม สิ่งที่ได้รับการสั่งสอน ยึดเหนี่ยวมาตลอดชีวิตของจุนยองพังทลายลง และในอีพี 16 จุนยองก็ยังได้รับแรงสั่นสะเทือนลักษณะนี้อีกครั้ง จนนำไปสู่จุดจบของซีรีส์ในท้ายที่สุด

 

*ทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์บอกให้เรารู้ว่า มนุษย์จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้นจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อที่พ่อแม่จะอบรมเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโตไปสู่ความสำเร็จ 1. ความต้องการด้านร่างกาย (Physiological Needs) 2. ความต้องการด้านความปลอดภัย (Safety Needs) 3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Love and Belongingness Needs) 4. ความต้องการการยกย่องและความภาคภูมิใจ (Self-Esteem Needs) 5. ความต้องการประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต (Self-Actualization Needs) 
(ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27456)
 
**แสวงหาเอกลักษณ์ของตน (Identity) เนื่องจากต้องเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า วัยรุ่นจะมองหาว่าตัวเองต้องการเป็นคนอย่างไรในอนาคต จะมีอาชีพอะไร บทบาทของตัวเองในฐานะผู้ใหญ่จะเป็นอย่างไร ความรู้สึกมั่นใจในตนเองจะเกิดขึ้นได้เมื่อวัยรุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถในงานที่ได้รับมอบหมายหรือรับผิดชอบ (Experiencing Success) 
(ข้อมูลจิตเวชเด็ก จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child)

 

 

พฤติกรรมสะท้อนกลับและการเอาคืน 

ในช่วงอีพีท้ายๆ ของซีรีส์ เราได้เห็นการสะท้อนกลับของตัวละครจุนยอง ผ่านการกระทำต่างๆ ทั้งการโดดเรียน กรีดรถประธานยอ ขโมยของเพื่อนๆ ที่โรงเรียน และสุดท้ายเลือกใช้ความรุนแรงกับเพื่อนในห้อง

 

จุนยองเริ่มเอาตัวเองออกมาจากสังคม เก็บตัวอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ต นำไปสู่การขโมยขนมในร้าน และลุกลามไปสู่การใช้กำลัง เมื่อเพื่อนเข้ามาเตือนสติ จนต้องเข้าโรงพยาบาล การที่จุนยองใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเกิดจากกระบวนการเลียนแบบพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นทางเลือกเดียวที่เขามีในตอนนั้นจากประสบการณ์ที่ได้รับมา ทั้งที่จริงๆ แล้วมีทางเลือกมากมายของการแก้ปัญหานี้ ในทางจิตบำบัด อาจใกล้เคียงกับ Coping Strategy หรือวิธีการเผชิญปัญหาที่จุนยองมองไม่เห็นทางเลือกอื่น เพราะความรุนแรงในครอบครัวทำให้เห็นแล้วว่านั่นคือทางรอด

 

ในขณะที่คนดูส่วนใหญ่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญกับพฤติกรรมของจุนยอง น่าสนใจทีเดียวว่า ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ไม่ยาก เมื่อเราเห็นพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่มักสร้างปัญหาในรูปแบบต่างๆ เราก็พร้อมจะติดป้าย ‘เด็กมีปัญหา’ ให้เขาทันที โดยลืมวิเคราะห์ดูในเชิงลึกว่า ต้นทางของพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นจากอะไร

 

*พ่อแม่ต้องไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงต่อลูก เพราะเด็กจะเรียนรู้และเลียนแบบวิธีแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเช่นกัน เวลาเด็กทำผิด ให้มีวิธีจัดการอย่างจริงจัง แต่ไม่ก้าวร้าวรุนแรง ไม่ลงโทษด้วยอารมณ์

 

**พ่อแม่เป็นตัวอย่างของการประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมที่ดี
(การเลี้ยงดูที่จะป้องกันปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่น, ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล https://www.si.mahidol.ac.th/sirirajcme/Others/Hot_issues/gavrav.asp)

 

 

ซีรีส์สะท้อนชีวิตจริง และทัศนคติที่ผิดพลาดของพ่อแม่

A World of Married Couple นอกจากความบันเทิงในแง่ของละครแล้ว ยังได้สะท้อนให้เห็นชีวิตจริงผ่านตัวละครที่มีสีเทาปะปนทั้งดี-ชั่ว และยังได้หาทางออกให้กับปัญหา หากว่าใครสักคนกำลังเผชิญเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน 

 

ในแง่ของการสะท้อนทัศนคติ มองเห็นชัดเจนผ่านการเลี้ยงดูจุนยองของ จีซอนอู ที่ควบคุมลูกอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการให้ลูกทำผิดหรือทำพลาด แต่ในความจริง ชีวิตคนเราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด การที่ จีซอนอู ป้องกันลูกจากความผิดพลาด ทำให้เขาไม่ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาและสะสมประสบการณ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในอนาคต

 

ทัศนคติที่ผิดพลาดอีกอย่างคือ จีซอนอู มองว่าลูกคือผลงานของพ่อแม่ ด้วยความที่เธอเป็นเฟอร์เฟ็กชันนิสต์ เก่งทั้งการทำงานและดูแลครอบครัว ความสำเร็จของลูกจึงเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเธอเช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่ ไม่ใช่ข้าวของที่ใครจะมาครอบครอง

 

เปิดทางเลือกที่แตกต่างให้การแก้ปัญหา

ในช่วงท้ายของซีรีส์ เราเห็นทางเลือกที่แตกต่างในการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ เพราะโดยตัวตนของ จีซอนอู แล้ว เมื่อลูกชายหายตัวไป เธอมักจะทำทุกวิถีทางเพื่อหาตัวเขาให้ได้ แต่ในอีพี 16 เมื่อจุนยองหายตัวไป เธอกลับไม่ได้ออกไปฟาดฟันกับทุกสิ่งอย่างเพื่อตามหาตัวเขาอย่างที่เคยเป็นมา 

 

ในอีพีนี้ จีซอนอู ก็ได้เรียนรู้และเลือกที่จะแก้ปัญหาบนเส้นทางที่แตกต่าง เพื่อผลลัพธ์ที่จะต่างไปจากเดิม เธอทิ้งระยะห่างกับลูกชายเอาไว้ ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองที่ทำลงไป เธออดทนใช้ชีวิตของตัวเองต่อไป และรอคอยว่าในวันใดวันหนึ่งลูกชายจะกลับมาให้เธอได้ไถ่บาป

 

พ่อแม่ทุกคนต่างมีความรักและความปรารถนาดีให้กับลูก แต่ด้วยความรักที่มากจนเกินไป อาจกลับกลายเป็นกับดักที่พังทลายตัวตนของลูกที่พวกเขารัก ในท้ายที่สุด A World of Married Couple ได้ทำให้เราเข้าใจว่า สำหรับลูก เขาเพียงต้องการความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ความรักในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เครื่องมือในการต่อรองระหว่างพ่อแม่ ถูกมองเห็นคุณค่า ถูกรับฟังความต้องการ และมีความปลอดภัยมั่นคงทั้งทางร่างกายและจิตใจอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์

 

*เด็กหรือวัยรุ่นที่เติบโตในครอบครัวที่มีปัญหาความขัดแย้ง ถูกทอดทิ้ง หรือใช้แรงงานอย่างหนัก ครอบครัวมักมีปัญหาการใช้สุรา สารเสพติด หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เด็กมักจะรู้สึกว่า อยู่ในบ้านไม่มีความสุข ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ต้องการของคนในบ้าน อยากจะออกจากบ้านเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ที่ตนเองต้องทนอยู่เป็นเวลานาน ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้วางแผนชัดเจนว่า ออกมาจากบ้านแล้วจะไปอยู่ที่ไหน บางครั้งก็ตัดสินใจออกจากบ้านทันทีหลังเกิดการทะเลาะที่รุนแรงหรือถูกทารุณกรรม
(ข้อมูลจิตเวชเด็ก จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/09052017-0834)

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

FYI
  • ผู้รับบทจุนยองคือ จอนจินซอ นักแสดงเด็กอนาคตไกลที่เคยฝากผลงานซีรีส์มาแล้วเกือบ 30 เรื่อง 
  • จอนจินซอ เกิดวันที่ 28 พฤษภาคม 2006 เริ่มงานในวงการบันเทิงตั้งแต่ยังเล็ก โดยซีรีส์เรื่องแรกคือ Can’t Live Without You (2012) 
  • ส่วนผลงานที่ทำให้รู้จักในช่วงหลังคือ Mr.Sunshine (2018) ที่เขารับบท ยูจีนชเว ในช่วงวัยรุ่น และ The Tale of Nokdu (2019) รับบทเป็นพระราชา ชายูลมู วัยเด็ก
  • ติดตามอินสตาแกรมของ จอนจินซอ ได้ที่ https://www.instagram.com/jeon.jin.seo/
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X