×

วิเคราะห์ตัวละคร จีซอนอู ‘แม่และเมีย’ ในซีรีส์ A World of Married Couple

20.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • ต้องยอมรับว่า A World of Married Couple ได้กลายเป็นซีรีส์สะท้อนสถานะของผู้หญิงในเกาหลีใต้ พร้อมตั้งคำถามว่า พวกเธอควรยอมต่อไป หรือถึงเวลาลุกขึ้นสู้เสียที
  • ตัวละคร ‘จีซอนอู’ ใน A World of Married Couple เป็นตัวละครหลักของเรื่องราวที่ผสมผสานความดีความร้ายไม่ต่างจากคนธรรมดา คาแรกเตอร์ที่ลึกซึ้งของตัวละครทำให้ คิมฮีแอ นักแสดงเจ้าของรางวัลแดซัง ตกลงใจรับงานแสดงในครั้งนี้ 
  • ฉันเป็นผู้หญิงเก่ง ฉลาด และทำอะไรทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง จีซอนอู เป็นแบบนั้น จากการที่เติบโตเพียงลำพัง และสร้างทุกอย่างขึ้นด้วยสองมือของตัวเอง ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง จัดการกับทุกปัญหาได้ ไม่ใช่ผู้หญิงในละครที่มัวแต่ร้องไห้หาความเป็นธรรม

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*

 

A World of Married Couple ซีรีส์ที่ร้อนแรงที่สุดในตอนนี้ หลังจากออนแอร์ไปเพียง 8 ตอน ก็ทำสถิติขึ้นไปสู่เรตติ้งอันดับ 3 ช่องเคเบิล เป็นรองเพียงแค่ Sky Castle และ Crash Landing on You โดยเรตติ้งยังคงพุ่งสูงขึ้นในทุกอีพีที่ออกอากาศ เรื่องราวการหักเหลี่ยมเฉือนคมของเมียหลวงเมียน้อยที่พลิกผันตลอดเวลา จนทำให้แฟนๆ ซีรีส์คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป น่าสนใจว่ากว่าจะจบ 16 อีพี A World of Married Couple ซีรีส์เมียหลวงยุค 2020 น่าจะทำลายอีกหลายสถิติอย่างแน่นอน

 

นอกจากบทที่พลิกผันตลอดเวลา การดำเนินเรื่องที่ซ่อนเงื่อนงำมากมาย เกี่ยวข้องกับกฎหมายหย่าร้าง ปัญหาลูกวัยรุ่น ความรุนแรงในครอบครัว แต่ทั้งหมดทั้งมวลความโดดเด่นที่สำคัญคือ เหล่าตัวละครผู้หญิงของเรื่อง พวกเธอล้วนมีทัศนคติต่อการแต่งงานและหย่าร้างในแบบที่แคร์สายตาคนอื่น หรือตกอยู่ในสภาพจำยอมว่า การนอกใจของสามีคือเรื่องปกติของผู้ชาย 

 

ยิ่งเรื่องราวดำเนินอยู่ในร่มเงาของวัฒนธรรมเกาหลี ที่เพศหญิงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมมาโดยตลอด ก็ต้องยอมรับว่า A World of Married Couple ได้กลายเป็นซีรีส์สะท้อนสถานะของผู้หญิงในเกาหลีใต้ พร้อมตั้งคำถามว่า พวกเธอควรยอมต่อไป หรือถึงเวลาลุกขึ้นสู้เสียที

 

 

 

จีซอนอู รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลครอบครัวและความรัก แพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ภรรยาคนแรกของอีแทโอ 

ตัวละคร ‘จีซอนอู’ ใน A World of Married Couple เป็นตัวละครหลักของเรื่องราวที่ผสมผสานความดีความร้ายไม่ต่างจากคนธรรมดา คาแรกเตอร์ที่ลึกซึ้งของตัวละคร ทำให้ คิมฮีแอ นักแสดงเจ้าของรางวัลแดซัง ตกลงใจรับงานแสดงในครั้งนี้ 

 

เราได้รวบรวมข้อมูลตัวละคร พร้อมวิเคราะห์ปัญหาที่พบเจอ เพื่อตอบคำถามว่า หากเกิดขึ้นในชีวิตจริง เราจะยอมทนเหมือนดังเช่น ‘เมีย’ คนอื่นๆ ในซีรีส์ หรือลุกขึ้นมาหาทางออกให้กับตัวเองในหนทางที่เหมาะสมแบบ จีซอนอู

 

จีซอนอู เสียทั้งพ่อและแม่ในอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเธออายุได้ 17 ปี ปมบาดแผลนั้นได้กลายเป็นอาการบาดเจ็บทางจิตใจ แต่ด้วยความสงสารที่คนรอบข้างมอง กลับทำให้เธอต้องเข้มแข็งและใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด เธอแต่งงานกับผู้ชายที่รัก ย้ายจากโซลมาอยู่เมืองเล็กๆ บ้านเกิดของสามี ครอบครัวเหมือนกับภาพในฝันที่ผู้หญิงทุกคนต้องการ ในส่วนของ จีซอนอู เธอทำหน้าที่ของเมียและแม่ได้ไม่มีบกพร่อง หน้าที่การทำงานก็ช่วยให้ฐานะครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี เรื่องงานบ้านเธอทำได้ดีทั้งฝีมือทำอาหาร ดูแลเรื่องการเรียนของลูก และดูแลสามีอย่างเรียบร้อย

 

แต่เมื่อค้นพบว่า สามีกำลังนอกใจให้ผู้หญิงอื่น ในช่วงแรกเธอยังคงก้ำกึ่งกับการตัดสินใจ เพราะผู้หญิงในสังคมเกาหลีที่ต้องเป็นหม้ายนั้นอยู่ในสถานะที่ต้องอดทนต่อคำครหาและเสียงนินทา แต่เมื่อได้พบว่า เนื้อแท้ของสามีเป็นคนเช่นไร เธอจึงตัดสินใจทำทุกวิถีทาง เพื่อหลุดพ้นออกมาจากวังวนของการเป็นเมียหลวงแสนดีที่ยอมกล้ำกลืนฝืนทนกับสามีที่ไม่ซื่อสัตย์

 

 

Perfectionist

จีซอนอู เป็นผู้หญิงที่รักความสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ฉากแรกๆ ของซีรีส์ เธอแขวนภาพครอบครัวบนผนัง มองแล้วมองอีกจนแน่ใจว่าตรงดี ข้าวของในบ้านจัดวางเป็นระเบียบ เสื้อผ้าแขวนเรียงตามเฉดสี กระทั่งตู้เสื้อผ้าสามีก็เป็นระเบียบ เสื้อรีดคมกริบ ซึ่งเราจะเห็นว่าทั้งหมดเป็นฝีมือของเธอเอง ไม่มีแม่บ้านมาเกี่ยวข้อง

 

และความเป็นระเบียบแบบเต็มร้อยของเธอ ทำให้การจับความผิดปกติเกิดขึ้นได้ไม่ยาก จีซอนอู จึงสังเกตเห็นเส้นผมสีแดงยาวหนึ่งเส้นที่อยู่บนผ้าพันคอ ซึ่งสามีของเธอให้มา อันเป็นต้นเรื่องของเหตุการณ์ปานปลาย

 

หรือกระทั่งแผนการเอาคืน เธอก็คิดอย่างรอบคอบที่สุด และวางแผนได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด 

 

สถานะของผู้หญิงที่ตกเป็นรองในสังคมการทำงานเกาหลีใต้

ด้วยความสามารถ จีซอนอู ขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ไม่ยาก แต่ในสังคมการทำงานที่กีดกันผู้หญิงจากตำแหน่งบริหารระดับสูง ทำให้เธอไปไกลที่สุดเพียงในตำแหน่งรอง ผอ. แต่ถ้าดูจากการทำงาน การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงต้นๆ ของซีรีส์ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เธอทำหน้าที่ได้ดีกว่าผู้อำนวยการเสียอีก 

 

จีซอนอู ในโรงพยาบาล แม้ว่าจะมีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ แต่กลับทำผลงานได้ดีกว่า ส่วนในบ้าน เธอไม่ได้เป็นแค่ภรรยาที่คอยสนับสนุนสามีอย่างยอดเยี่ยม แต่เธอยังสนับสนุนด้านการเงินของสามี รวมทั้งค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบ้าน โดยที่คนภายนอกไม่รู้ 

 

กรอบบังคับของสังคมเกาหลีใต้นั้น ผู้หญิงจะถูกผลักสู่การเป็นแม่บ้านหลังจากแต่งงาน และไม่มีทางเลือกมากนักในการทำงาน ยิ่งกับตำแหน่งงานบริหารระดับสูง The Diplomat ได้อธิบายสภาพสังคมและการทำงานของผู้หญิงในเกาหลีใต้ว่า เมื่อพนักงานผู้หญิงตั้งครรภ์ เธอจะถูกกดดันให้ลาออกจากงาน หรือถ้ากลับมาทำงานหลังคลอด พวกเธอจะถูกลดเงินเดือนหรือถูกบังคับให้ทำงานไม่เต็มเวลา นี่อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ตัวละครเมียคนอื่นๆ เลือกจะคงสถานะการแต่งงานเอาไว้ แม้ว่าสามีจะไม่ซื่อสัตย์กับพวกเธอก็ตาม

 

 

 

“ฉันรู้แล้วว่าฉันกลัวอะไรที่สุด ตอนที่เราหย่ากัน ฉันจะกลายเป็นคนที่ใครๆ ต่างสงสารอีกครั้ง” 

จีซอนอู พยายามอย่างหนักในการหลุดพ้นจากคำนิยาม ‘คนน่าสงสาร’ หลังจากที่ต้องใช้ชีวิตลำพังเมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ความสงสารเป็นสิ่งที่ด้อยค่าตัวตนของ จีซอนอู เธอจึงใช้ความเข้มแข็งปกปิดความเจ็บปวดและความผิดพลาดทั้งหมดที่ต้องเผชิญ

 

บาดแผลหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD)

หลังจากโดนจู่โจมจากคนไข้ที่มีอาการทางจิต จีซอนอู ถึงกับหมดสติไปชั่วคราว จิตแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลเดียวกันสังเกตเห็นว่าเธอน่าจะมีบาดแผลหลังเหตุการณ์สะเทือนใจในชีวิตที่ไม่เคยได้รับการรักษา เขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้เธอรับการรักษา แต่ จีซอนอู ยืนยันว่าเธอไม่เป็นไร

 

อาการหลายอย่างของ จีซอนอู ตรงกับ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) พ่อแม่ของเธอเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาจากอุบัติเหตุรถยนต์ ในซีรีส์เธอพยายามลืมเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ทุกครั้งที่มีสิ่งสะกิดใจจะส่งผลต่ออาการทางกาย ทั้งการนอนหลับยาก ระวังตัวเกินกว่าเหตุ ดื่มเพื่อดับความกระวนกระวายใจ รวมทั้งการตื่นกลัวจนหมดสติ

      

ปมจากแม่ เรื่องสามีนอกใจ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีต้องทน?

ซีรีส์ดำเนินไปถึงครึ่งทาง ตัวบทก็เฉลยปมปัญหาเรื่อง ‘ผัวมีเมียน้อย’ ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง จีซอนอู เคยเล่าให้สามีฟังว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ของเธอ จริงๆ แล้วอาจเป็นความตั้งใจของแม่ที่เมื่อรู้ว่าสามีมีผู้หญิงคนอื่น ก็ไม่อาจยอมทนอยู่ในสภาพทุกข์ทนทั้งที่ยังมีลมหายใจ

 

“คุณมาโดยไม่บอกกล่าว และมายุ่งกับของของฉัน แล้วยังจะมาบุกทำร้ายฉัน แต่คิดว่า ฉันจะหัวหดแล้วหนีไปงั้นเหรอ” จีซอนอู เลือกเดินบนเส้นทางที่ไม่ยอมทนเช่นเดียวกับแม่ แม้ว่าผู้หญิงรอบข้างในเมืองโกซานจะเลือกยอมรับว่า การที่สามีมีผู้หญิงคนอื่นคือการขับถ่ายอย่างหนึ่ง

 

 

หลงลืมสิ่งสำคัญข้างกาย

ดูเหมือนว่าปัญหาสามีนอกใจจะทำให้ จีซอนอู หมกมุ่นจนลืมสิ่งสำคัญในชีวิต นั่นคือลูกชายคนเดียวของเธอ หลายครั้งที่ซีรีส์ทำให้เห็นว่า เธอสนใจแต่กับการตามแก้แค้น จนลืมลูกชายไว้ที่โรงเรียน หรือช่วง 2 ปีหลังหย่าร้าง เธอก็สนใจแต่กับตัวเอง จนละเลยความรู้สึกที่เจ็บปวดในใจของลูกชาย

 

“ฉันไม่เป็นไร” 

ฉันเป็นผู้หญิงเก่ง ฉลาด และทำอะไรทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง จีซอนอู เป็นแบบนั้น จากการที่เติบโตเพียงลำพังและสร้างทุกอย่างขึ้นด้วยสองมือของตัวเอง ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง จัดการกับทุกปัญหาได้ ไม่ใช่ผู้หญิงแบบในละครที่มัวแต่ร้องไห้หาความเป็นธรรม 

 

“เรื่องแค่นี้ แม่ทำเองก็ได้” จีซอนอู บอกกับลูกชาย เมื่อหน้าต่างบ้านแตก และลูกชายแอบโทรหา อีแทโอ ให้มาช่วยจัดการ หรือในอีกหลายครั้งที่ จีซอนอู แสดงความเข้มแข็งอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าเปลือกที่แข็งแกร่งจะมีอะไรซ่อนอยู่ข้างในบ้าง 

 

ในตอนนี้ A World of Married Couple เดินทางมาถึงเพียงอีพี 8 ยังเหลืออีกครึ่งทางที่ซีรีส์อาจเปิดเผยเรื่องราวของ จีซอนอู มากขึ้นกว่านี้ และทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่า เหตุใดเธอจึงเลือกแก้ปัญหาอย่างที่เราได้เห็น แต่ที่แน่ๆ ชีวิตของ จีซอนอู มีความใกล้เคียงชีวิตจริงของคนทั่วไป และนั่นทำให้เราอาจต้องย้อนกลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่า พื้นฐานชีวิตจิตใจเป็นแบบไหน และจะคิดแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ของชีวิต

 

ตัวอย่างซีรีส์ A World of Married Couple

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

FYI

ข้อมูลจาก The Korean Herald รายงานการสำรวจของ The Korean Women’s Development Institute พบว่า บริษัทจำนวน 500 แห่ง ในปี 2017 มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงเพียง 454 คน หรือนับเป็น 3% จากตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากปี 2016 ในขณะที่ภาพรวมของประเทศอื่น ผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงอยู่ที่ 21.8%

 

รายงานของ World Economic Forum เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศในปี 2018 ประเทศเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 115 จาก 149 ประเทศ ซึ่งจัดอยู่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน (ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 73) 

 

The Diplomat ได้อธิบายสภาพสังคมและการทำงานของผู้หญิงในเกาหลีใต้ว่า เมื่อพนักงานผู้หญิงตั้งครรภ์ เธอจะถูกแรงกดดันให้ลาออกจากงาน หรือถ้ากลับมาทำงานหลังคลอด พวกเธอจะถูกลดเงินเดือนหรือถูกบังคับให้ทำงานไม่เต็มเวลา ส่วนการสัมภาษณ์รับเข้าทำงาน ผู้หญิงจะโดนตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะการแต่งงานและแผนในการมีบุตร นอกจากนี้ยังได้รับคำถามว่า จะถอดแว่นหรือแต่งหน้าจัดกว่านี้ได้ไหม เพื่อให้ดูเป็นมืออาชีพ หากผู้หญิงถามกลับว่า สิ่งเหล่านี้มีผลกับการทำงานอย่างไร พวกเธอจะถูกมองว่าเป็นพวกกล้าเกินไป และไม่ได้รับเลือกเข้าทำงาน จริงๆ แล้วคำถามเหล่านี้ผิดกฎหมาย แต่จากกรณีศึกษาของ KB Kookmin Bank ที่ถูกฟ้องร้องจากผู้หญิง 112 คน ในเรื่องนี้ ทางบริษัทถูกปรับไปเพียง 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 146,000 บาทเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising