×

การข้ามมหานทีสีทันดรของ ‘สายสมร’ : จากราชสำนักแวร์ซายส์สู่พระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9

26.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. read
  • การเดินทางของเพลง ‘สายสมร’ จึงเปรียบได้กับการข้ามมหานทีสีทันดรแห่งสังสารวัฏ ผ่านกาลเวลา 300 กว่าปี ข้ามสามมหาสมุทรและสามราชสำนักทั้งขาไปและขากลับ รวมทั้งผ่านรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาสู่รัชสมัยรัชกาลปัจจุบันหรือแผ่นดินที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 นับเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รวบรวมศิลปวิทยาการของชาติไว้ทุกแขนงตลอดพระราชพิธี และแสดงให้เห็นถึงคุณค่าทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และการดนตรี

     สำหรับการดนตรีประเภทหนึ่งที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ คือ การบรรเลงเพลง ‘สรรเสริญพระนารายณ์’ และเพลง ‘สรรเสริญเสือป่า’ นอกจากเพลง ‘พญาโศกลอยลม’ ในริ้วขบวนที่ 2 ของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศจากพลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สู่พระเมรุมาศในท้องสนามหลวง

     โดยเพลง ‘สรรเสริญเสือป่า’ และเพลง ‘พญาโศกลอยลม’ เป็นการแต่งทำนองในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

     ส่วนเพลง ‘สรรเสริญพระนารายณ์’ หรือชื่อเดิมคือเพลง ‘สายสมร’ เป็นเพลงที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน สามารถย้อนไปได้ไกลถึง 300 กว่าปี หากแต่จุดเริ่มต้นกลับอยู่ที่ราชสำนักแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

 

ออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14

 

     กล่าวคือ ออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ราชทูตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้อัญเชิญพระราชสาส์นถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2229 และในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ มหาคีตกวีนามว่า Michel-Richard Delalande ได้แต่งทำนองเพลง ‘2.e air des Siamois’ และเพลง ‘Entrée des Siamois’ เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราชทูตสยาม

 

Michel-Richard Delalande

     

     สิ่งที่น่าสนใจคือ การพบปะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการดนตรีระหว่างราชสำนักของโลกตะวันออกและโลกตะวันตก รวมถึงประเด็นที่น่าขบคิดว่า คณะราชทูตสยามได้นำเครื่องดนตรีไทยไปบรรเลงให้ชาวฝรั่งเศสได้รับฟังบ้างหรือไม่? จนนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ Michel-Richard Delalande ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเหล่านี้สมควรที่จะได้รับการศึกษาและเผยแพร่ต่อไป

 

Simon de la Loubère

 

     เมื่อออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ออกเดินทางกลับสยามพร้อมกับ Simon de la Loubère ราชทูตชุดที่สองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี พ.ศ. 2230 ก็ได้ถวายรายงานเกี่ยวกับการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตลอดจนความต้องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ภายในราชสำนักสยามของ Simon de la Loubère ให้พระองค์ทรงทราบ

     ดังนั้น ‘จดหมายเหตุลาลูแบร์’ (Du Royaume de Siam) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2234 จึงเป็นการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลจากราชสำนักสยามโดยตรงทั้งสิ้น รวมถึงการบันทึกเพลง ‘A Siamese Song’ ด้วยตัวโน้ตสากลและมีอักษรโรมันกำกับไว้สำหรับการอ่านออกเสียงภาษาไทย ซึ่งก็คือเพลง ‘สายสมร’ และ สันต์ ท. โกมลบุตร ผู้แปลจดหมายเหตุลาลูแบร์ ในปี พ.ศ. 2510 ถอดความได้ว่า “สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ ขอแนบเนื้อเจ้าคนเดียวนะเอย…”

A Siamese Song’ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์

 

     อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2231 นิโกลาส์ แชร์แวส พ่อค้าชาวฝรั่งเศส ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาก่อนที่ลาลูแบร์จะมาถึงสยามเป็นเวลา 4 ปี ก็ได้บันทึกเพลง ‘สุดใจ’ ในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม(Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) ไว้แล้วเช่นกัน

 

https://www.youtube.com/watch?v=DKBXRwCgHyI&app=desktop

A Siamese Song

 

     สิ่งที่เป็นปริศนาและควรค่าแก่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเพลง ‘สายสมร’ ซึ่งเป็นเพลงมโหรี และได้รับการบันทึกเป็นโน้ตสากลโดยคีตกวีนิรนามชาวฝรั่งเศส (รวมถึงเพลง ‘สุดใจ’) ก็คือ เพราะเหตุใดเพลงมโหรีทั้งสองเพลงถึงได้รับการบันทึกจากชาวต่างชาติ ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม เพื่อนำออกตีพิมพ์ในอีกซีกโลกหนึ่ง

     ผู้เขียนเริ่มต้นสันนิษฐานว่าเพลง สายสมร คือเพลงมโหรีในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งบรรเลงขับกล่อมพระมหากษัตริย์ในเขตพระราชฐานชั้นในดังที่ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า ‘หกทุ่มเบิกเสภาดนตรี’ ประกอบกับพระราชานุกิจของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงใช้เวลาช่วงค่ำปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งจากบันทึกร่วมสมัยของชาวตะวันตกพบว่า ขุนนางชาวต่างชาติเพียงผู้เดียวที่ได้รับโอกาสดังกล่าวและมีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ตลอดจนมีหน้าที่ติดต่อกับราชทูตฝรั่งเศสโดยตรงคือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) สมุหนายก จึงย่อมเป็นผู้ถอดเสียงเพลง ‘สายสมร’ ให้ลาลูแบร์บันทึกไว้

     ในประเด็นต่อไป ทั้งเพลง ‘สายสมร’ และเพลง ‘สุดใจ’ สามารถแปลความหมายโดยตรงได้ว่า ‘ผู้หญิงอันเป็นที่รัก’ จึงย่อมน่าคิดอีกเช่นกันว่า แล้วผู้ใดเล่าคือผู้หญิงอันเป็นที่รักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  

จากพระราชพงศาวดารไทยและบันทึกร่วมสมัยของชาวตะวันตกพบว่า พระองค์ทรงมีพระมเหสีและพระสนมประมาณ 10 พระองค์ ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบตามมาตรฐานของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา และไม่ทรงปรารถนาที่จะมี ‘พระหน่อ’ กับพระสนมอื่นใด นอกจากพระอัครมเหสี ซึ่งพระองค์ก็ได้ให้กำเนิดพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ             

     หากแต่ในช่วงเวลาที่มีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับฝรั่งเศส กลับไม่มีการเอ่ยถึงพระอัครมเหสีแต่อย่างใด เริ่มตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตรัสถามถึงเฉพาะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ ต่อออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ณ พระราชวังแวร์ซายส์ และการถวายของกำนัลเฉพาะทั้งสองพระองค์ ก็ไม่ปรากฏว่ามีของกำนัลของพระอัครมเหสี ซึ่งผิดธรรมเนียมทางการทูตที่จะต้องถวายของกำนัลแด่สมเด็จพระราชินีด้วย จึงนำไปสู่บทสรุปได้เพียงประการเดียวว่า พระอัครมเหสีได้สวรรคตอย่างน้อยก็ตั้งแต่ก่อนการไปถึงฝรั่งเศสของพระวิสุทธสุนทรแล้ว

     ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระองค์ทรงมีโอกาสนำเพลงมโหรีแปลงออกเป็นโน้ตสากลนำไปฝากไว้กับราชสำนักแวร์ซายส์ พระองค์จะต้องเลือกเพลงที่มีความหมายอยู่ในพระราชหฤทัย และแน่นอนว่าการเลือกเพลง ‘สายสมร’ (รวมถึงเพลง ‘สุดใจ’) ย่อมเป็นเพราะการทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึง ‘ผู้หญิงอันเป็นที่รัก’ และย่อมจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพระอัครมเหสี ผู้หญิงอันเป็นที่รักของพระองค์ และพระราชมารดาผู้ให้กำเนิดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ

 

เพลง สรรเสริญพระนารายณ์

 

     แม้ว่าในระหว่างการข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก อินเดีย และแอตแลนติกของ ‘สายสมร’ สู่แผ่นดินฝรั่งเศสพร้อมกับลาลูแบร์ ในปี พ.ศ. 2231 (รวมถึง ‘สุดใจ’ ที่ได้ข้ามมหาสมุทรไปกับแชร์แวสก่อนแล้ว) จะเป็นการก่อรัฐประหารของพระเพทราชา พร้อมกับการสิ้นราชวงศ์ปราสาททองและการเสด็จสู่สวรรคาลัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ ‘สายสมร’ ก็ได้โลดแล่นบนแผ่นดินฝรั่งเศสสมดังพระราชประสงค์ ก่อนจะข้ามสมุทรกลับคืนสู่ราชอาณาจักรสยามในอีกสองศตวรรษต่อมา!

     ภายหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงฟื้นฟูศิลปวิทยาการจากกรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนมาอีกครั้ง สำหรับเพลงมโหรีก็ได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์หนังสือ ‘ประชุมบทมโหรี’ เมื่อปี พ.ศ. 2463 ทำให้ทราบว่ารัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเพลง ‘สายสมร’ ซึ่งถูกจัดประเภทไว้ใน ตับเพลงอรชร เนื่องจากมีเงื่อนเค้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่ปรากฏเนื้อเพลง เพราะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดอยู่ในประเภทเพลงมโหรีที่มีความวิปลาสผิดเพี้ยนไปมาก จึงย่อมไม่มีทางรู้ว่ามีความผิดเพี้ยนไปจากยุคกรุงศรีอยุธยามากน้อยเพียงใด

     ในปี พ.ศ. 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พระองค์ได้เสด็จเยือนกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเพลง ‘A Siamese Song’ หรือเพลง ‘สายสมร’ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กัปตันไมเคิล ฟุสโก หัวหน้าวงดุริยางค์กองทัพเรือ เรียบเรียงเป็นทำนองเปียโน แล้วพระราชทานชื่อว่า ‘สรรเสริญพระนารายณ์’ และจัดอยู่ในประเภทเพลงสรรเสริญพระบารมี ดังปรากฏไว้ในหนังสือ ‘สยามอาณาจักรแห่งช้างเผือก’ สำหรับแนะนำราชอาณาจักรสยามต่อนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ ‘สายสมร’ จึงได้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และอินเดีย กลับคืนสู่ราชอาณาจักรสยามอีกครั้ง หลังจากอยู่บนผืนแผ่นดินฝรั่งเศสมาเป็นเวลาสองศตวรรษ

     ในปี พ.ศ. 2484 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นผู้อำนวยการสร้างและเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ และนำออกฉายในปีนั้น ก็ได้นำเพลง ‘สายสมร’ มาเป็นเพลงไตเติลประจำภาพยนตร์ ใช้ชื่อว่าเพลง ‘ศรีอยุธยา’ ซึ่งได้รับการเรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่จากพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) และใส่เนื้อร้องโดย นาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร (สวาท นิยมธรรม)

     เนื้อร้องของเพลง ‘สายสมร’ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ จึงเปลี่ยนจาก “สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ ขอแนบเนื้อเจ้าคนเดียวนะเอย…” มาเป็น “ทวยเทพไทใหญ่น้อย ลอยอยู่บนนภา ข้าขอวันทาไท้เทวาธิราช ประสาทอยู่คุ้มครองไทย…” ซึ่งเป็นทำนองและเนื้อร้องที่แพร่หลายและติดหูคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก

 

     จวบจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2560 หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้สร้างภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง ‘ศรีอโยธยา’ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช โดยนำเพลง ‘สายสมร’ หรือเพลง ‘ศรีอยุธยา’ ในเนื้อร้องและทำนองฉบับเดียวกับเมื่อครั้งฉายภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’ มาเป็นเพลงไตเติลประจำภาพยนตร์ และให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกเพลง ศรีอยุธยา ว่าเป็นเพลงแห่งความรัก โดยมีกำหนดออกอากาศในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ทำให้เพลง ‘สายสมร’ กลับมามีชีวิตชีวาในโลกภาพยนตร์อีกครั้ง

     สำหรับการบรรเลงเพลง ‘สรรเสริญพระนารายณ์’ โดยวงดุริยางค์กองทัพบก ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมกับเพลง ‘สรรเสริญเสือป่า’ และเพลง ‘พญาโศกลอยลม’ ซึ่งบรรเลงเมื่อพระโกศพระบรมศพได้ประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ แล้วเคลื่อนริ้วขบวนสู่พระเมรุมาศในท้องสนามหลวง ประดุจดั่งพระราชพาหนะนำองค์สมมติเทพแห่งโลกมนุษย์ข้ามมหานทีสันทันดรสู่เขาพระสุเมรุ เพื่อกลับสู่ความเป็นมหาเทพบนสรวงสวรรค์อีกครั้ง

 

ริ้วขบวนที่ 2 ของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

 

     โดยนัยนี้ การเดินทางของเพลง ‘สายสมร’ จึงเปรียบได้กับการข้ามมหานทีสีทันดรแห่งสังสารวัฏ ผ่านกาลเวลา 300 กว่าปี ข้ามสามมหาสมุทรและสามราชสำนักทั้งขาไปและขากลับ รวมทั้งผ่านรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาสู่รัชสมัยรัชกาลปัจจุบันหรือแผ่นดินที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

     นับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของ ‘เจ้าแห่งละโว้’ ที่ทรงมอบให้กับผู้สืบสกุลของออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ผู้เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะมิได้ตั้งพระราชหฤทัยไว้แต่แรกก็ตาม โดยยึดถือตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่มีไปถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ว่าบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีได้สืบเชื้อสายมาจากท่านโกษาปาน อันเป็นบทสรุปของ ‘สายสมร’ ที่มีความโลดโผน ตื่นเต้น และงดงาม รวมถึงการได้ส่งมอบภูมิปัญญาทางดนตรีให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามอย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X