ไม่ทันไรกรุงเทพฯ ก็ละลานตาไปด้วยงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยและต่างชาติในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 สมกับธีม ‘Beyond Bliss – สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต’ และหนึ่งในงานที่เราไม่อยากให้พลาดคือ การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบต่อเนื่องชุด ‘A Possible Island? And The Abramovic Method’ โดย 8 ศิลปินจาก MAI สถาบันศิลปะที่ก่อตั้งโดย มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic) ศิลปินสายเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตระดับตำนานที่ได้ชื่อว่า ‘Godmother of Performance Art’ ที่สำคัญนี่เป็นการแสดงสดที่ยาวนานถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งจะแสดงถึงวันที่ 11 พฤศจิกายนเท่านั้น ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ไม่บ่อยนักที่จะได้ชมงานแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์จากสถาบันระดับโลกกันใจกลางเมืองแบบฟรีๆ
ถ้าพร้อมแล้ว ก็ล่องเรือออกไปกันเลย
เยือน ‘เกาะแห่งความเป็นไปได้?’
เมื่อก้าวสู่ห้องนิทรรศการชั้น 8 ผู้ชมจะปะทะกับการแสดงชุดแรก ‘รูปร่างของความโศกเศร้า’ โดย Jihyun Youn ศิลปินชาวเกาหลีใต้ ที่ปรากฏตัวในชุดสีขาว ขนาบสองข้างด้วยราวแขวนเสื้อสีขาว กำแพงขาวบางส่วนถูกละเลงด้วยสีแดงฉานประหนึ่งเลือด
“ทำอย่างไรจึงจะอธิบายอารมณ์ออกมาเป็นรูปร่างได้” ศิลปินตั้งคำถามนี้เพื่อทดลองค้นคว้าวิธีอธิบายอารมณ์ให้ออกมาเป็นรูปร่าง และตั้งคำถามต่อว่า เราจะวัดอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้อย่างไร ในกระบวนการหาคำตอบ ศิลปินจะอาศัยการเคลื่อนไหวของ ‘เรือนกาย’ เป็นเครื่องมือสำรวจ และใช้ ‘สีแดง’ ระบายความโศกเศร้าเมื่อศิลปินไม่อาจสื่อสารได้ โดยจะเริ่มต้นการทดลองใหม่ทุกวัน นั่นหมายความว่าเราจะได้ยลโฉม ‘ความโศกเศร้า’ ไม่ซ้ำกันแม้แต่วินาทีเดียว
หากความโศกเศร้าไร้รูปร่างแล้ว การไร้ตัวตนอาจเจ็บปวดยิ่งกว่าในงาน ‘อดีตอันเรืองรอง ปัจจุบันอันเรืองรอง และอนาคตอันเรืองรองของเรา’ โดย Lin Htet ศิลปินเมียนมาได้ถ่ายทอดปมขัดแย้งทาง ‘อัตลักษณ์’ ของชาวโรฮีนจา ที่ถูกรัฐกดขี่ลิดรอนเสรีภาพและปฏิเสธตัวตน ผ่านการจองจำตัวเองในกรงรั้วลวดหนาม ศิลปินยืนนิ่งราวกับถูกตอกตรึง บอกเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงผ่านสายตาไร้ซุ่มเสียง การกั้นรั้วลวดหนามระหว่างศิลปินกับผู้ชมราวกับจะเน้นย้ำ ‘ความแปลกแยก’ และ ‘ความเป็นอื่น’ ทั้งจากการกระทำโดยรัฐและการตอบสนองของเพื่อนมนุษย์
งานแสดงนี้จึงคือการตอกย้ำถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มชายขอบไร้รัฐ และตั้งคำถามกับผู้ชมที่จ้องมองหรืออยากยื่นมือไปช่วยเหลือ เหตุการณ์นี้ไม่ได้ไกลตัวเลย แต่กำลังเกิดขึ้นกับผู้อพยพลี้ภัยทั่วทุกมุมโลก และชวนคิดว่า ความเรืองรองนี้จะพาเราไปสู่จุดไหนกัน
ท่ามกลางความหวังอันริบหรี่ เปลวไฟดวงน้อยเปล่งแสงจากเล่มเทียนบนโต๊ะขาว เชื้อเชิญให้ผู้ชมเฝ้ามอง ‘ฉัน, เปลวไฟ’ ร่วมกับ Vandana ศิลปินอินเดียที่ต้องการทดลองยกระดับสติจากสมาธิให้เป็นการตระหนักรู้ จากการคิดเป็นการไม่คิด ผ่านการมองเปลวไฟลุกไหม้เพื่อให้เราย้อนกลับสู่ภายในและอยู่กับปัจจุบัน โดยเปลวไฟเปรียบได้กับจิตในกายตามคัมภีร์ของศาสนาฮินดู
ประเด็นการเมืองถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นใน 5 งานที่เหลือ หากความเงียบงันของ Lin Htet ถ่ายทอดความรุนแรงได้แสนเจ็บปวดแล้ว การเปล่งเสียงเรียกชื่อบุคคลที่สูญหายในงาน วงโคจร – Reetu Sattar ศิลปินชาวบังกลาเทศ ก็เป็นการทำลายความเงียบด้วยการป่าวร้องให้โลกรู้ว่า ทุกๆ วันมีบุคคลที่ถูกทำให้สูญหายไป ศิลปินจะเคลื่อนไหวตามการหมุนของนาฬิกาบอกเวลาทางทหาร (Zulu Time) ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้นเกี่ยวพันกับคดีที่มีผู้สูญหาย การแก้แค้น การมีส่วนรู้เห็นหรือดำเนินการในคดีเหล่านั้นในระดับประเทศ
คนสวน – ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ศิลปินไทยคนเดียวที่ได้ร่วมแสดงสด เป็นงานที่แตกต่างที่สุด ศิลปินจะเดินถือดอกไม้พลาสติกออกจากบ้านไปยังหอศิลป์ฯ ทุกวันเป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร ผู้ชมสามารถชมพิธีกรรมนี้ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์จนกระทั่งศิลปินเดินทางมาถึงพื้นที่แสดงจริง งานชิ้นนี้ยังเล่นกับการถ่ายทอดความจริง ความลวง ธรรมชาติ และสิ่งแปลกปลอม เช่น ดอกไม้พลาสติกที่ผ่านการเดินทางยาวนานก็ไม่ต่างอะไรจากระบอบประชาธิปไตยของไทยในเวลานี้
วงกลม – Pantea บอกกับเราว่า การเมืองยังเป็นเรื่องเพศสภาพ ศิลปินสาวจากเตหะรานพยายามท้าทายการแบ่งแยกทางเพศในสังคม ผ่านการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ระหว่างมาทาดอร์กับวัวกระทิง ไม่ต่างจากปัญหาการคุกคามทางเพศและความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงในอิหร่านและอีกหลากประเทศล้วนประสบ เราได้เห็นการตีความใหม่ในทุกๆ การเคลื่อนไหวอันแน่วแน่และดุดันของศิลปินซึ่งยากจะละสายตา
เช่นเดียวกับ คําสอน – Despina Zacharopoulou งานแสดงนี้พาผู้ชมปิดกั้นจากโลกภายนอกเพื่อเผชิญหน้ากับศิลปินโดยตรง เปิดพื้นที่ให้พินิจพิเคราะห์ปรัชญาการดำเนินชีวิตและค้นหาความจริงในโลกปัจจุบัน การขยับและไม่ขยับของศิลปินสื่อถึงชั้นผิวของแนวคิดการปกครอง (Governmentality) ชวนให้นึกถึงแนวคิดของ มิเชล ฟูโกต์ แท้จริงแล้วบุคคลสามารถปกครองตนเองโดยไม่ให้รัฐเข้ามามีอำนาจโดยตรง หรือเป็นรัฐที่มีอำนาจบงการและจงใจปิดบังเฉพาะส่วนไม่ให้เห็นความจริงทั้งหมดกันแน่
ถ้าหากบาดแผลที่กระทำโดยรัฐหรือโดยปัจเจกบุคคลนั้นรุนแรง เราจะเยียวยาอย่างไร เป็นคำถามที่ผุดขึ้นเมื่อได้เห็นศิลปินพยายามห่อหุ้มร่างกายตนเองด้วยปูนปลาสเตอร์ ในชิ้นงาน เทเลฟัส – Yiannis Pappas ศิลปินชาวกรีซได้สำรวจความตระหนักรู้ในตนเองผ่านการรักษาบาดแผลโดยอ้างอิงจากเทพปกรณัมกรีก คําว่า «Οτρώσαςκαιιάσεται» ในสำนวนกรีกโบราณ หมายถึง ‘ผู้ที่สร้างรอยแผลเท่านั้นที่จะรักษาแผลนั้นได้’ สำหรับเรามันเป็นความพยายามอันอ่อนล้าเพื่อที่จะกอดเก็บทุกเสี้ยวส่วนไม่ให้แตกสลายไปมากกว่านี้
เกาะแก่งกลางกระแสมหาสมุทรที่ชื่อ ‘Marina’
แม้ว่าการแสดงทั้งหมดนี้จะไม่ได้เล่นกับขีดจำกัดของร่างกายและจิตวิญญาณแบบสุดขั้ว ซึ่งเรามักเห็นในผลงานที่ผ่านมาของ มารีนา อบราโมวิช แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการตั้งสถาบัน MAI เช่นกัน เพราะสิ่งที่เธอต้องการถ่ายทอดให้กับศิลปินคือ วิธีการทำงาน หรือ ‘วิถีแห่งมารีนา’ (The Abramovic’s Method) โดยให้ความสำคัญกับการหายใจ การค้นหาตัวเอง การเผชิญหน้ากับปัญหา ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบคำตอบอีกมากมาย
มารีนาเคยอธิบายว่า เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตไม่ใช่การแสดงละคร หากเป็นสิ่งรังสรรค์ทางจิตวิญญาณและร่างกาย ที่ศิลปินสร้างขึ้นต่อหน้าผู้ชมในช่วงหนึ่งของเวลาและพื้นที่ และเกิดการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกัน ทั้งผู้ชมและศิลปินร่วมกันสร้างผลงานนั้นขึ้นมา
ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักในหอศิลป์ฯ เรานั่งคุยกับ เซียร์จ เลอบอร์น (Serge LeBorgne) และ พอลล่า การ์เซีย (Paula Garcia) ภัณฑารักษ์ผู้อยู่เบื้องหลังงานแสดงนี้
กระแสตอบรับที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
เซียร์จ: บรรยากาศดีมาก เพราะมีคนรุ่นใหม่ๆ เต็มไปหมด เราเห็นเด็กนักเรียนมานั่งดูกันตั้งแต่วันแรก ผมไม่เคยเห็นเทศกาล Biennale จัดงานแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบต่อเนื่องเลย เคยเห็นแค่ในงานอาร์ตแฟร์ ทั้งที่จริงๆ มันก็เป็นสื่อประเภทหนึ่ง เหมือนกับภาพวาด ภาพถ่าย หรือภาพยนตร์
พอลล่า: ฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับศิลปิน เพราะพื้นที่การแสดงจะเปลี่ยนไปตามกลุ่มผู้ชมและพลังงานที่ได้รับจากผู้ชม ฉันเพิ่งเคยเห็นเด็กมาดูงานแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตเป็นการสื่อสารกับบุคคลโดยตรง บรรยากาศที่นี่ไม่เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ คล้ายกับอาร์ตสเปซมากกว่า ไม่ได้มีแต่คนในวงการศิลปะ ผ่อนคลายกว่า และเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ
คุณพัฒนาไอเดียการแสดงชุดนี้ภายใต้ธีม ‘Beyond Bliss’ ของเทศกาลได้อย่างไร
เซียร์จ: Beyond Bliss มีความหมายทั้ง ‘เป็นไปได้’ และ ‘เป็นไปไม่ได้’ อาจเป็นบางสิ่งที่คุณสามารถตระหนักรู้และเข้าถึงได้ หรืออาจจะทำไม่ได้ ผมคิดว่าชื่องาน A Possible Island? ค่อนข้างตอบคำถามนี้ในตัวอยู่แล้ว
พอลล่า: เรามีศิลปิน 8 คนที่มาร่วมแสดงงานนี้ 2 คนเป็นศิลปินที่เราเชิญมา อีก 6 คนเป็นศิลปินชาวเอเชียและศิลปินที่อยู่ในเอเชีย ซึ่งเราคัดเลือกมาจากการเปิดรับสมัครแบบ Open Call จากนั้นเราก็เริ่มคุยกับศิลปินผ่าน Skype เพื่ออธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่ามันเป็นการแสดงสดแบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมากๆ แม้แต่ Yiannis Pappas ศิลปินจากประเทศกรีซที่เคยร่วมงานกันในโปรเจกต์ที่แล้ว เขาก็ไม่เคยแสดงแบบนี้มาก่อน มันก็เลยเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับเรา และเป็นความท้าทายใหม่สำหรับพวกเขาด้วย ทุกๆ วันคือความท้าทาย บางครั้งพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้า แต่ก็ต้องก้าวข้ามจุดนั้นไปให้ได้ งานมันเลยสดใหม่ทุกวัน ผู้ชมจะได้ชมเรื่องราวที่ไม่เหมือนกันเลย
ศิลปินเตรียมตัวอย่างไรสำหรับการแสดงสดแบบต่อเนื่องที่ใช้เวลาเกือบทั้งวัน
พอลล่า: ปกติเราจะจัดเวิร์กช็อปกับศิลปินก่อนการแสดง เวิร์กช็อปนี้ชื่อว่า Cleaning The House ซึ่งมารีนาคิดขึ้นมาในช่วงยุค 90s พวกเขาจะเดินทางไปสถานที่ไกลจากตัวเมือง เช่น ฟาร์ม หรือสถานที่ใกล้กับน้ำ พวกเขาใช้เวลาอยู่ที่นั่นประมาณ 4-5 วันโดยไม่พูดคุยหรือกินอะไรเลย แค่ดื่มน้ำเปล่ากับน้ำชาเท่านั้น และทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่คุณเห็นในห้อง ‘วิถีแห่งมารีนา’ เช่น แต่ละคนจะถูกปิดตาและฟังแค่เสียงธรรมชาตินานหลายชั่วโมง วัตถุประสงค์ของเวิร์กช็อปนี้คือ ให้ศิลปินเตรียมตัวเผชิญหน้ากับข้อจำกัดทางร่างกายและจิตใจ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเจอตลอดการแสดง หลังจากทำเวิร์กช็อปพวกเขาจะออกมาพร้อมกับจิตใจและร่างกายที่เชื่อมั่นว่าตนเองทำได้
เท่าที่สังเกต การแสดงสดแต่ละงานให้น้ำหนักกับประเด็นการเมืองมากพอสมควร เพราะอะไร
เซียร์จ: ผมคิดว่าศิลปินในโปรเจกต์นี้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจริงๆ พวกเขาพาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วสร้างเรื่องราวขึ้นมาเพื่อสื่อสารประเด็นเหล่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ เราทุกข์ทรมานกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้น และนี่เป็นวิธีการโต้ตอบของเรา
เป็นเรื่องย้อนแย้งอยู่เหมือนกัน ระหว่างที่ศิลปินกำลังสื่อสารเรื่องนี้ เพลงของแรปเปอร์ไทยที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกือบถูกแบนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
เซียร์จ: จริงๆ ที่คุณพูดมาก็ไม่ใช่เรื่องการเมืองด้วยซ้ำ ถ้าย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในช่วงปลายปี 1960 ถึงต้นปี 1970 มันเป็นเรื่องการใช้ร่างกายเป็นสื่อเพื่อสื่อถึงอิสรภาพ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกการแสดงจึงต้องใช้ร่างกายเป็นหลัก มีการเปลือย มีเลือด มันเป็นเรื่องอำนาจของเรือนร่าง แต่ตอนนี้เรากลับถูกฟรีซไว้อีกครั้ง
ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ตกอยู่ภายใต้เผด็จการ ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาสิ ในยุโรปก็มีข้อขัดแย้ง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่บราซิลในคืนพรุ่งนี้ ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘การเมือง’ ซึ่งก็คือการอยู่ร่วมกัน หรือช่วยให้คนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตได้ง่ายขึ้น นี่ต่างหากคือความหมายของการเมือง หรือสิ่งที่การเมืองควรจะเป็น ที่จริงงานนี้สามารถนำไปแสดงที่ไหนก็ได้ในโลก ที่ไหนก็เป็นเหมือนกันหมด เวลาพูดถึงการเมือง คุณจะรู้สึกอับอายเพราะผู้มีอำนาจทางการเมืองในประเทศ
คุณมีวิธีกำหนดพื้นที่การแสดงอย่างไรว่าส่วนไหนที่ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับศิลปินได้หรือไม่ได้
เซียร์จ: นั่นเป็นปัญหาของศิลปิน ไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง บางคนต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม เช่น Vandana จริงๆ แล้วเธอเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามานั่งด้วยกัน แค่เธอไม่ได้มองพวกเขา เพราะเธอกำลังจ้องมองเทียนอยู่ พอคนเริ่มเข้าใจ พวกเขาก็จะมานั่งมองเทียนกับเธอ ศิลปินแต่ละคนมีวิธีดีลกับผู้ชมในแบบของตัวเอง พวกเราไม่ได้เป็นคนกำหนดกรอบหรือตัดสินใจว่าคุณต้องมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปิน เราสั่งพวกเขาได้นะ แต่ว่าเราไม่ใช่ผู้มีอำนาจทางการเมืองไง (หัวเราะ)
พอลล่า: เราบอกศิลปินเสมอว่า ถ้าคุณอยากจะทำงานอินเตอร์แอ็กทีฟ คุณต้องพร้อมรับความท้าทาย เพราะคุณยอมเปิดให้ตัวเองทำในสิ่งที่ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นคุณควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย รอบตัวเรามีทั้งพวกบ้าๆ และคนที่ดี
เซียร์จ: สถาบันนี้เป็นชื่อของ มารีนา อบราโมวิช ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตระดับตำนาน แต่เราก็ต้องคอยระวังว่า เวลาศิลปินต้องแสดงสดแบบต่อเนื่อง มันจะง่ายมากที่พวกเขาพยายามจะเลียนแบบ (imitate) หรือใช้พลังงานจากงานเก่าของมารีนามากเกินไป พวกเราไม่ได้จะสร้างโชว์ของมารีนา อบราโมวิช นี่คือโจทย์ที่ท้าทายที่สุดเลยก็ว่าได้ เราทุกคนรู้ว่ามารีนาเคยทำอะไรมาบ้าง เธอทำสิ่งนี้มานานกว่า 40 ปีแล้ว มันเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะศิลปินต้องสร้างสรรค์งานของตนเอง ด้วยพลังงาน พื้นที่ ร่างกาย และจิตใจของตนเอง
พอลล่า: อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำกันมาหลายปีคือ การสร้างคอมมูนิตี้สำหรับศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต เพราะมันอยู่รอดในเชิงธุรกิจได้ยาก ต่อให้คุณมีแกลเลอรี โอเค คุณสามารถขายภาพถ่าย สารคดี ภาพยนตร์ หรือแม้แต่เปิดรับบริจาค แต่มันยากที่ศิลปินจะทำงานนี้เท่านั้น ตอนนี้เพอร์ฟอร์แมนซ์กลายเป็นเมนสตรีมแล้วก็จริง แต่ศิลปินยังต้องดิ้นรนกันอยู่ มันเหมือนจะเป็นกระแส แต่ก็ไม่เชิง คุณไม่ค่อยได้เห็นเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในพิพิธภัณฑ์เท่าไร เพราะมันมีเรื่องต้องจัดการเยอะ
คุณคาดหวังอะไรจากงานนี้บ้าง
เซียร์จ: เราแค่คาดหวังว่าเราจะมีความสุข Beyond อะไรสักอย่าง
พอลล่า: Beyond Bliss ล่ะมั้ง
เซียร์จ: ใช่ๆ (หัวเราะ) ผมคาดว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างและพยายามผลักดันให้เกิดงานแสดงสดในเทศกาลศิลปะและพิพิธภัณฑ์ต่อไป
พอลล่า: เราอยากให้มีคนมาดูกันเยอะๆ
เซียร์จ: ให้คนออกมาประท้วงกันเลย ‘เราต้องการเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตๆ’ (หัวเราะ)
Photo: BACC
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: