×

A Pandemic of the Unvaccinated คืออะไร ทำไมผู้ติดเชื้อในยุโรปถึงพุ่งอีกครั้ง

17.11.2021
  • LOADING...
A Pandemic of the Unvaccinated

ในขณะที่การระบาดของโควิดในหลายทวีปมีแนวโน้มลดลง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกลดลง 7% และผู้เสียชีวิตลดลง 10% ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยุโรปกลับเป็นทวีปเดียวที่มีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อหรือประมาณ 1.9 ล้านรายอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งหลายประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 4 หรือ 5 

 

คำอธิบายที่สื่อต่างประเทศกล่าวถึงคือ ‘A Pandemic of the Unvaccinated’ หรือการระบาดใหญ่ของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน วลีนี้มีความหมายว่าอย่างไร ทำไมผู้ติดเชื้อในยุโรปถึงเพิ่มขึ้น

 

A Pandemic of the Unvaccinated คืออะไร?

เยอรมนีซึ่งตั้งอยู่ทางยุโรปตะวันตก เป็นหนึ่งในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงกว่าจุดสูงสุดในระลอกที่ 2 ติดต่อกันเป็นสัปดาห์แล้ว และในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบผู้ติดเชื้อเกือบ 50,000 รายภายในวันเดียว (60 รายต่อประชากร 100,000 คน) เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีด้านสาธารณสุขของเยอรมนีกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนว่า

 

“สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่เหนื่อสิ่งอื่นใดคือ A Pandemic of the Unvaccinated”

 

แปลตรงตัวคือ ‘การระบาดใหญ่ของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน’ หมายถึงการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ทำให้วลีนี้เป็นที่รู้จักคือ ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ตอนนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งจากสายพันธุ์เดลตา และมีแนวโน้มที่จะพบมากในพื้นที่ที่มีสัดส่วนการได้รับวัคซีนต่ำ

 

ข้อมูลจากการศึกษาของ CDC ระหว่างเมษายน-กรกฎาคม 2021 พบว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 5 เท่า และมีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงมากกว่า 10 เท่า ดังนั้นในจำนวนผู้ป่วยหนักที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ดังภาพที่ 1 กราฟอัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลระหว่างกลุ่มที่ได้รับ-ไม่ได้รับวัคซีนแตกต่างกันคล้ายรูปตัว K 

 

ภาพที่ 1 อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลในสหรัฐฯ แยกตามประวัติการได้รับวัคซีน 

สีน้ำเงิน = ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน, สีเขียว = ผู้ที่ได้รับวัคซีน

 

 

ตัดกลับมาที่เยอรมนี ถึงแม้ว่าสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจะมากกว่า 2 ใน 3 ส่วนแล้ว แต่ก็สามารถพบการระบาดใหญ่ได้ เพราะในเยอรมนีมีประชากรรวม 83 ล้านคน จึงยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอีกราว 25 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในจำนวนนี้กระจุกตัวอยู่ในรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เยอรมนีฝั่งตะวันออกมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

และสัดส่วนนี้ยังไม่ถึงระดับ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd immunity) ที่จะสามารถหยุดการระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้ ซึ่งต้องมีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันมากกว่า 80-90% เนื่องจากสายพันธุ์เดลตามีค่าการระบาด (R) อยู่ระหว่าง 5-8 หมายถึงผู้ติดเชื้อ 1 รายสามารถแพร่เชื้อต่ออีก 5-8 ราย เทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีค่าการระบาดอยู่ระหว่าง 2-3 หรือคำนวณเป็นภูมิคุ้มกันหมู่คือ 50-70%

 

ทว่าการพุ่งประเด็นไปที่ ‘ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน’ เพียงอย่างเดียวอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะวัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อต่ำ ‘ผู้ที่ได้รับวัคซีน’ จึงสามารถติดเชื้อและเป็นพาหะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ อีกทั้งระดับภูมิคุ้มกันยังลดลงตามระยะเวลา แม้กระทั่งวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงอย่างวัคซีนชนิด mRNA จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 หลังจากเข็มสุดท้าย 6 เดือน 

 

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านจึงไม่เห็นด้วยกับวลี ‘A Pandemic of the Unvaccinated’ เพราะจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนถูกเชื่อมโยงว่าเป็นต้นเหตุของการระบาด และไม่สามารถโน้มน้าวให้มารับการฉีดวัคซีนได้จริง ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะขาดการระมัดระวังตัว แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนก็ต้องการกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติและยอมรับความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่อาการจะไม่รุนแรง

 

ทำไมผู้ติดเชื้อในยุโรปถึงเพิ่มขึ้น?

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวต่างประเทศกล่าวถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในยุโรปในขณะนี้ว่าเป็นผลมาจากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ 

  • สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มต่ำในหลายประเทศ 
  • ระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลง เนื่องจากประเทศในยุโรปเริ่มฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ต้นปี 
  • การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรค

 

ประการแรก สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มต่ำในหลายประเทศ ในภาพรวมของทวีปยุโรปมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 64.9% แต่เมื่อแยกเป็นรายประเทศจะพบว่าประเทศทางฝั่งตะวันออกมีสัดส่วนการได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ เช่น บัลแกเรีย 23.4% โรมาเนีย 33.9% ทำให้มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในขณะที่โปรตุเกส 81.3% สเปน 74.0% สหราชอาณาจักร 68.5% มีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า

 

ความแตกต่างยังพบในระดับประเทศ เช่น เยอรมนี รัฐฝั่งตะวันออกมีสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนต่ำกว่าฝั่งตะวันตก เช่น รัฐซัคเซิน (Saxony) มีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนต่ำที่สุด 56.9% ปัจจุบันมีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุด 123 รายต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่รัฐฮัมบูร์ก (Hamburg) ซึ่งมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีน 72.2% มีอัตราการติดเชื้อ 27 รายต่อประชากร 100,000 คน 

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนต่ำเป็นผลมาจากแนวคิดต่อต้านวัคซีน (Anti-Vaxxer) ซึ่งรุนแรงจนกระทั่งมีการข่มขู่แพทย์ที่กล่าวสนับสนุนการฉีดวัคซีนในบางรัฐ ประกอบกับผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ซึ่งมีฐานเสียงทางฝั่งตะวันออกยังปฏิเสธการฉีดวัคซีน และรณรงค์ต่อต้านการฉีดวัคซีนและการสวมหน้ากากในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมา

 

ประการถัดมา ระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลง เนื่องจากประเทศในยุโรปเริ่มฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้กลุ่มที่ได้รับวัคซีนในช่วงแรกมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากการศึกษาการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการในสหราชอาณาจักรพบว่า วัคซีน Pfizer มีประสิทธิผลลดลงจาก 90% เป็น 70% และวัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิผลลดลงจาก 60% เป็น 50% ใน 5 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม

 

แต่เมื่อฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 3 พบว่าประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเป็น 90% อีกครั้ง (ไม่ว่าจะได้รับวัคซีน Pfizer หรือ AstraZeneca มาก่อน) หลายประเทศจึงแนะนำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากล่าช้าก็อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้วัคซีนยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ดี การติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขน้อยกว่าในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

ประการสุดท้าย การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 ร้านอาหาร ผับ บาร์กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ บางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ เปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบและยกเลิกการใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (วัคซีนพาสปอร์ต) ก่อนเข้าสถานที่ บรรยากาศที่ผ่อนคลายทำให้ประชาชนละเลยการป้องกันตัว เช่น การสวมหน้ากากอนามัย

 

นอกจากนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังอาจเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ผู้คนพบปะกันในอาคารมากขึ้น ซึ่งทั้งความหนาแน่น และอากาศถ่ายเทไม่สะดวกต่างเป็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่ระบาด และอัตราการติดเชื้อมีแนวโน้มคล้ายกับช่วงปลายปี 2020 ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) และสายพันธุ์ในตระกูลเดียวกัน

 

ประเทศในยุโรปรับมือการระบาดอย่างไร?

หลายประเทศตั้งต้นจาก ‘A Pandemic of the Unvaccinated’ จึงทำให้ออกกฎสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะ 

 

เช่น ออสเตรียประกาศจำกัดการเดินทางผู้มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อทำให้เกิดความยุ่งยากและจูงใจให้เข้ารับการฉีดวัคซีน 

 

เยอรมนีประกาศให้ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนต้องตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางด้วยรถโดยสารและรถไฟ ส่วนฝรั่งเศสประกาศให้ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อต่ออายุวัคซีนพาสปอร์ต

 

ในขณะที่เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่กลับมาประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 16,000 รายติดต่อกัน (90 รายต่อประชากร 100,000 คน) โดยให้ประชาชนทำงานที่บ้าน เลื่อนเวลาปิดร้านอาหารและร้านค้าเร็วขึ้น ร้านกาแฟและสถานบันเทิงต้องปิดเวลา 20.00 น. และยกเลิกการเข้าชมการแข่งขันกีฬา แต่โรงเรียนยังเปิดตามปกติ ถึงแม้สัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนจะสูงถึง 85% แล้วก็ตาม

 

หันกลับมาที่ไทย สถานการณ์การระบาดในภาพรวมและกรุงเทพฯ อยู่ในช่วงขาลง (นักวิชาการบางท่านตั้งสมมติฐานว่าการระบาดในช่วงที่ผ่านมาและการระดมฉีดวัคซีนอาจถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว) แต่กลับพบคลัสเตอร์ในต่างจังหวัด เพราะมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนต่ำ จึงต้องเร่งการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก และเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดซ้ำรอยกับในยุโรป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X