การเยือนทำเนียบขาวของนายกรัฐมนตรีอินเดีย ‘นเรนทรา โมดี’ บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ กำลังถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในรอบปี การหารือนี้เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางกลาโหมและการค้าด้านเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นต่อต้านอิทธิพลการค้าระดับโลกของจีน ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับโมดีว่า การหารือด้านความร่วมมือในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และมีพัฒนาการมากกว่าครั้งไหนๆ ขณะที่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูเช่นเดียวกัน โดยมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
การตัดสินใจของไบเดนในการอนุญาตให้โมดีเข้าเยือน นับเป็นสิ่งที่หาได้ยากครั้งหนึ่งในวาระของเขา แต่ก็แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่เพิ่มขึ้นในการดึงอินเดียเข้าสู่วงโคจรตะวันตก ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคของ ฮิลลารี คลินตัน และได้รับการสืบต่อโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช, บารัก โอบามา และ โดนัลด์ ทรัมป์
ไบเดนระบุว่า หนึ่งในเหตุผลพื้นฐานที่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย นั่นเพราะการเคารพซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง และทั้งสองประเทศต่างเป็นประชาธิปไตย
ในขณะเดียวกัน โมดีก็กล่าวคำพูดในแบบที่ชาวอเมริกันต้องการได้ยิน โดยบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียว่ามีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา และกล่าวว่าทั้งสองประเทศสามารถร่วมกันเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของโลกไปอีกระดับ
สหรัฐฯ ต้องการให้อินเดียเป็นตัวถ่วงดุลทางยุทธศาสตร์ต่อจีน และมองว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญ แม้ว่านักวิเคราะห์บางคนจะตั้งคำถามถึงความตั้งใจของอินเดียที่ยืนหยัดกับจุดยืนของจีนในประเด็นต่างๆ เช่น การรวมประเทศกับไต้หวัน นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังกังวลถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างอินเดียกับรัสเซียท่ามกลางสงครามการรุกรานที่ยูเครน
การพูดคุยกับโมดีทำให้ไบเดนถูกวิจารณ์ว่ากำลังเหยียบย่ำการเรียกร้องหลายข้อของสหรัฐฯ ทั้งการรักษาประชาธิปไตยทั่วโลก สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพสื่อ เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยในอินเดียค่อนข้างเสื่อมถอยลง
การรักษาระบบเสรีนิยมระหว่างประเทศ ระหว่างที่โลกต้องเผชิญกับการรุกรานของรัสเซียในยูเครน อาจเป็นเหตุผลในการป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ที่ปะทุขึ้น อย่างไรก็ตาม ไบเดนยังต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าอาจให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สกปรกมากกว่าค่านิยมหลักของสหรัฐฯ
จับตาข้อตกลงด้านการทหารและเทคโนโลยี เช่น ชิป และ AI
ในการหารือระหว่างผู้นำสองประเทศ การพูดคุยมุ่งเน้นไปยังการกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและการทหาร ไปจนถึงการพัฒนาความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและการกระจายความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ
ด้านกลาโหม สหรัฐฯ และอินเดีย ได้ประกาศข้อหารือ 3 ฉบับ ได้แก่ การประกาศข้อตกลงเพื่อร่วมกันผลิตเครื่องยนต์ไอพ่น F414 ในอินเดีย โดยเกี่ยวข้องกับบริษัทอย่าง General Electric และ Hindustan Aeronautics
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะประกาศข้อตกลงการซ่อมแซมเรือรบหลักซึ่งนำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาสำหรับกองทัพสหรัฐฯ และทำให้เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ สามารถเข้ารับบริการและซ่อมแซมในอู่ต่อเรือของอินเดียได้
ประการที่สาม การประกาศ Defense Acceleration Ecosystem ซึ่งเป็นความร่วมมือที่มุ่งรวมอุตสาหกรรมกลาโหมภาคเอกชนที่กำลังเติบโตของอินเดียเข้ากับภาคกลาโหมของสหรัฐฯ นอกจากนี้ได้ประกาศการทำงานร่วมกับ NASA ในภารกิจร่วมกันที่สถานีอวกาศนานาชาติในปี 2024
ในด้านเทคโนโลยี บริษัทของสหรัฐฯ และอินเดียจะร่วมมือกันสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ
ทั้งสองประเทศเล็งประกาศข้อตกลงด้านการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่สำคัญ การพัฒนาความสามารถด้านโทรคมนาคมและการพัฒนา AI
บริษัทอย่าง Micron Technology อยู่ระหว่างการลงทุนกว่า 800 ล้านดอลลาร์ จากแผนลงทุนทั้งหมด 2.75 พันล้านดอลลาร์ สำหรับโรงงานประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย ขณะที่ Applied Materials จะประกาศเปิดตัวศูนย์พัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดียเช่นกัน เช่นเดียวกับ Lam Research บริษัทผลิตชิปได้ประกาศแผนฝึกอบรมพนักงานในอินเดียสำหรับวิศวกรมากถึง 6 หมื่นคน
นอกจากนี้นักศึกษาอินเดียกลายเป็นชุมชนนักศึกษาต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้น 20% ในปีที่แล้วปีเดียว ทำให้ทางการสหรัฐฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญและพร้อมต้อนรับนักศึกษาชาวอินเดียมากขึ้น
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำอินเดียระบุว่า ในเดือนนี้ สหรัฐฯ ออกวีซ่านักเรียนจำนวน 125,000 วีซ่า ให้กับชาวอินเดียเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของวีซ่านักเรียนทั้งหมด และมากกว่าวีซ่านักเรียนที่ออกให้กับสัญชาติอื่นๆ
การเยือนสหรัฐฯ ของโมดีในครั้งนี้นอกจากจะเข้าพบกับ โจ ไบเดน แล้ว ยังได้พบปะกับผู้มีชื่อเสียงและผู้บริหารระดับสูงของหลายบริษัทอีกมากมาย เช่น ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Alphabet และ สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของ Microsoft
อินเดียจะกลายเป็นเพื่อนแท้หรือแค่พ่อค้าคนหนึ่ง?
ไม่มีใครในสหรัฐฯ คาดหวังว่าอินเดียจะกลายเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เพราะอินเดียมีท่าทีต่อต้านการถูกดึงดูดเข้าสู่กลุ่มพันธมิตรที่จัดตั้งขึ้นโดยสหรัฐฯ มาตลอด และปัจจุบันก็กำลังวางตำแหน่งในฐานะผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นนโยบายบางอย่างอาจขัดแย้งกับนโยบายของสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น การซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย แม้รัสเซียจะถูกคว่ำบาตรโดยนานาชาติรวมถึงสหรัฐฯ ไปแล้วก็ตาม และเป็นเรื่องที่แน่นอนว่าอินเดียจะไม่เข้าร่วมเคียงข้างสหรัฐฯ ในการเผชิญหน้าทางทหารกับจีนในไต้หวันหรือทะเลจีนใต้
แอชลีย์ เทลลิส สมาชิกอาวุโสของ Carnegie Endowment for International Peace ที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ การป้องกันประเทศ และประเด็นทางยุทธศาสตร์ของเอเชีย เตือนว่าเป็นเรื่องไม่ดีที่สหรัฐฯ กำลังเดิมพันกับโมดี
“อินเดียให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในผลประโยชน์ที่จับต้องได้ แต่ไม่เชื่อว่าจะต้องสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรมในทุกวิกฤต เช่น วิกฤตความขัดแย้งกับจีน” เทลลิสระบุ
มุมมองดังกล่าวตอกย้ำแนวคิดที่ว่าอินเดียและสหรัฐฯ อาจมีความทะเยอทะยานและวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันสำหรับจุดหมายของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นครั้งใหม่นี้ และมีความเป็นไปได้ที่ไบเดนอาจลงเอยกับการผิดหวังในการกลับมาให้ความสนใจกับอินเดียอีกครั้ง
แต่ในเวลาที่ทุกคำถามในประเด็นนโยบายต่างประเทศต้องจบลงด้วยการกล่าวถึงความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับจีน ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการเยือนครั้งนี้อย่างน้อยก็อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ไม่มากก็น้อย
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2023/06/23/politics/china-us-india-state-visit/index.html
- https://www.cnbc.com/2023/06/22/us-and-india-set-to-announce-flurry-of-deals-on-defense-chips-ai.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-22/biden-and-modi-deals-span-drones-jet-engines-space-and-chips?sref=CVqPBMVg