×

เลือกตั้งอินโดนีเซีย: ผู้สมัครท้องถิ่นประกาศขายไต หวังนำเงินทำแคมเปญหาเสียง

13.02.2024
  • LOADING...

ขณะนี้อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง #เลือกตั้งอินโดนีเซีย2024 ก่อนที่คูหาเลือกตั้งจะเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ 

 

เออร์ฟิน เดวี ซูดานโต วัย 47 ปี เป็นหนึ่งในผู้สมัครหลายพันคนที่ลงชิงชัยสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติระดับภูมิภาค สังกัดพรรค National Mandate Party ในเมืองบาญูวางี จังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย 

 

เออร์ฟินเล่าว่า “ผมจริงจังมาก ผมไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย หนทางเดียวที่จะทำให้ผมได้เงินทุนมาทำแคมเปญหาเสียงคือ ผมจะต้องหาทางขายไตของผม” จึงทำให้ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เออร์ฟินพยายามที่จะขายไตของตัวเองให้ได้ โดยเขาหวังว่าจะสามารถหาเงินทุนได้ราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7 แสนบาท) มาขับเคลื่อนแคมเปญทางการเมืองในการเลือกตั้งหนนี้

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาที่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละคนสามารถหาเสียงได้นานถึง 2 เดือน จึงอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในการเลือกตั้งอินโดนีเซียครั้งนี้อาจสูงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา 

 

แม้พรรคการเมืองต่างๆ จะช่วยสนับสนุนผู้สมัครของตนเองในมิติด้านการเดินทางและโลจิสติกส์ รวมถึงการส่งผู้สังเกตการณ์ไปเฝ้าติดตามการนับคะแนนตามแต่ละคูหา แต่ผู้สมัครก็ยังจำเป็นที่จะต้องหาเงินทุนมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เหลืออื่นๆ ด้วยตัวเอง เช่น ค่าจัดงานปราศรัยแถลงวิสัยทัศน์ เสื้อยืดหาเสียง รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ 

 

ยอมทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ

 

เออร์ฟินประเมินว่า เขาอาจจะต้องการเงินทุนมากถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 ล้านบาท) ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้กับสิ่งที่เออร์ฟินเรียกว่า ‘Tips’ หรือ ‘เงินตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ’ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้กับตัวเขา ซึ่งก็คือ ‘การซื้อเสียง’ นั่นเอง

 

โดยการซื้อเสียงถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย อาจต้องโทษปรับสูงถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 แสนบาท) และต้องโทษจำคุกนานถึง 3 ปี แต่กระนั้นการซื้อเสียงก็ยังคงแพร่หลายอย่างมากในประเทศนี้

 

เออร์ฟินชี้แจงว่า “โดยส่วนตัวเขาไม่ต้องการที่จะซื้อสิทธิขายเสียงเลย แต่ปัญหานี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอินโดนีเซีย อย่างน้อยผู้สมัครอาจจะต้องเตรียมเงิน 50,000-100,000 รูเปียห์ (ราว 115-230 บาท) ต่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหนึ่งคน” 

 

เขายังเผยอีกว่า การซื้อเสียงยังคงเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย เนื่องจากขาดการตรวจสอบที่เข้มงวดจากภาครัฐ และตัวเขาเองก็ไม่มีทางเลือก หากต้องการที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ 

 

ด้าน เบอร์ฮานุดดิน มูห์ตาดี นักวิจัยและผู้อำนวยการบริหาร Indikator Politik Indonesia เผยถึงงานวิจัยของเขาว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินโดนีเซียอย่างน้อยหนึ่งในสามเคยได้รับ ‘สิ่งจูงใจในการลงคะแนนเสียง’ เช่น เงิน และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ 

 

เบอร์ฮานุดดินยังเผยอีกว่า อินโดนีเซียได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 3 ประเทศที่ผู้สมัครจำนวนไม่น้อยยอมทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ ก่อนที่จะหาช่องทางในการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อให้ตัวเองและพวกพ้องได้รับผลประโยชน์และมีกำไรคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่จ่ายไป โดยเป็นรองเพียงแค่ยูกันดาและเบนิน

 

แม้เออร์ฟินจะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเขาชนะการเลือกตั้งให้ได้ จนถึงกับยอมขายอวัยวะภายในของตัวเอง โดนช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง เออร์ฟินก็ยังไม่สามารถหาลูกค้ามารับซื้อไตของเขาได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขายอวัยวะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย และอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี 

 

เออร์ฟินเผยว่า โดยทั่วไปการซื้อเสียงจะเริ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่วันเลือกตั้งจะมาถึง ผู้สมัครจะแจกจ่ายเงินไปยังหัวคะแนนต่างๆ ก่อนที่จะกระจายให้กับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อ ‘เพิ่มโอกาส’ ที่จะชนะการเลือกตั้งให้กับผู้สมัครคนนั้นๆ ซึ่งขณะนี้เออร์ฟินกังวลว่าเขาจะเสียเปรียบอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากมีเงินทุนไม่มากพอที่จะรวบรวมฐานเสียงของตัวเอง

 

ภาพ: Adriana Adie / NurPhoto via Getty Images, Chuk Shatu Widharsa / detikJatim

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising