×

‘วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ หลักสูตรนานาชาติใหม่ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2024
  • LOADING...

‘เซมิคอนดักเตอร์: กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย’

 

ในโลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการแข่งขันสูงและท้าทาย ภาคส่วนต่างๆ ล้วนต้องปรับตัวให้ทันต่อโอกาสที่กำลังเข้ามา เพราะหากไม่เตรียมพร้อมอาจทำให้ตกขบวนได้ 

 

หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ทั่วโลกต่างมีความต้องการสูงคือ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในประเทศไทย

 

ชิปขนาดเล็กแต่ทรงพลังเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนสรรพสิ่ง ตั้งแต่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์การแพทย์และระบบควบคุมขั้นสูงในยานยนต์ไฟฟ้า การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี รวมถึงการตอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IoT) และเครือข่าย 5G ผลักดันให้เกิดความต้องการโซลูชันเซมิคอนดักเตอร์ที่ซับซ้อนและเฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

 

การเติบโตของเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย

 

McKinsey & Company คาดการณ์ไว้ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะเติบโตขึ้นจากมูลค่าประมาณ 6 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 ไปสู่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 แสดงถึงความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ของโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ประเทศไทยจึงปรับบทบาทจากผู้เล่นกลางน้ำและปลายน้ำ มุ่งเข้าไปเป็นผู้เล่นต้นน้ำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ด้วยการจะเป็นฐานในการผลิตชิปที่มีความซับซ้อน และเป็นผู้ออกแบบชิป เช่น BOI ที่สนับสนุนบริษัทร่วมทุน ‘ฮานา-ปตท.’ สร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์แห่งแรกของไทย และสนับสนุนให้บริษัทชั้นนำระดับโลกเข้ามาลงทุนโครงการ Data Center เช่น Amazon Web Services จากสหรัฐอเมริกา ลงทุนสร้าง Data Center 3 แห่งในไทยมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทภายในปี 2580

 

‘วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ หลักสูตรนานาชาติใหม่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

นอกจากการลงทุนโดยภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องมุ่งไปข้างหน้า สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการลงทุนเพื่อสร้างบุคลากรเฉพาะทางที่มีขีดความสามารถสูงและมีทักษะสำคัญต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำดังกล่าว ด้วยการออกแบบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยร่วมกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสของประเทศไทยในการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ตระหนักถึงโอกาสดังกล่าว จึงเปิดหลักสูตร ‘วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ หลักสูตรนานาชาติ (SEMI) ในปีการศึกษา 2568 ที่กำลังจะมาถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตรุ่นใหม่เข้าสู่การทำงานในหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษนี้ โดยเซมิคอนดักเตอร์ทำหน้าที่เป็นแกนหลักทางวัสดุในทุกการประมวลผลข้อมูลและบริการคลาวด์บนโลกใบนี้

 

SEMI ถือเป็นหลักสูตรใหม่ที่มุ่งผลิตวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ที่มีทักษะเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ มุ่งเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ชิปสำหรับการประมวลผล AI ชิปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Chips) รวมถึงอุปกรณ์โฟโตนิกส์ (Photonic Devices) และวัสดุในระดับนาโน (Nanomaterials) โดยจะเปิดรับสมัครทั้งนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ และมีแผนจะพัฒนาเป็นหลักสูตรสองปริญญา (Double Degree) ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พร้อมทั้งมีรายวิชาการฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอีกด้วย

 

นอกจากนี้ นักศึกษาที่สมัครเรียนในหลักสูตรนี้ยังมีโอกาสขอรับทุนการศึกษา โดยจะให้ทุนใน 2 รูปแบบ คือ 

 

  1. ทุน ISE 100 ครอบคลุมค่าธรรมเนียมพิเศษทั้งหมดเป็นเวลา 1 ปี จำนวน 3 ทุนต่อปี

 

  1. ทุน ISE 50 ครอบคลุมค่าธรรมเนียมพิเศษครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี จำนวน 7 ทุนต่อปี

 

ทั้งนี้ นิสิตของหลักสูตรสามารถสมัครขอรับทุนได้ในช่วงก่อนเปิดเทอมต้นของแต่ละปีการศึกษา โดยหลักสูตรจะพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับทุนจากผลการเรียนของนิสิต

 

ผู้ที่สนใจและต้องการมีบทบาทสำคัญหรือเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมเปิดรับสมัครในรอบ Admission ยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 26 มีนาคม 2568 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ee.eng.chula.ac.th/bachelor-of-engineering-in-semiconductor-engineering/

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X