×

คนดัง-ดารา หน้าสว่างฉากหลังมืด ธุรกิจสีเทาที่ ‘เทวดา-อสูร’ สูบเลือด

โดย THE STANDARD TEAM
18.10.2024
  • LOADING...

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมให้ความสนใจกับกรณีดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) บริษัทที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงาม ซึ่งมีรูปแบบธุรกิจที่เน้นการตลาดแบบเครือข่ายและเป็นธุรกิจขายตรง มูลค่ากว่า ‘หมื่นล้านบาท’ โดยล่าสุดได้จับกุมผู้บริหารทั้งสิ้น 18 คน ในคดีข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และถูกนำตัวสู่เรือนจำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 


 

ภาพป้ายโฆษณา ดิไอคอนกรุ๊ป

ภาพป้ายโฆษณาดิไอคอนกรุ๊ป

ภาพ: The iCon Group / Facebook

 


 

มากไปกว่านั้น คดีนี้ถูกเชื่อมโยงว่ามีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

สืบเนื่องจากโลกออนไลน์ได้เผยแพร่คลิปเสียงเรียกรับผลประโยชน์ ‘จ่ายส่วย’ เดือนละ 1 แสนบาท เพื่อแลกกับการเคลียร์เรื่องราวร้องเรียน และโยงใยไปถึงบิ๊กข้าราชการในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งว่ามีการวิ่งเต้นเคลียร์สารพัดเรื่องร้องเรียนกระจายไปยัง 4 หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกิจขายตรงด้วย

 

ในช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยอยู่คู่กับ ‘ธุรกิจสีเทา’ มาโดยตลอด และหลายคดีใหญ่มีทั้งบิ๊กข้าราชการและนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง เช่น ‘คดีตู้ห่าว’ ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวจีนคนหนึ่งเข้ามาทำธุรกิจสีเทา ทั้งฟอกเงินผ่านเครือข่ายยาเสพติดและทำอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในประเทศไทย วงเงินหมุนเวียนหลายพันล้านบาท และมีบิ๊กข้าราชการ รวมถึงนักการเมืองเข้าไปพัวพันด้วย

 

หรืออีกคดีคือ ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจสีเทาเช่นกัน โดยทัวร์ศูนย์เหรียญคือทัวร์ที่ขายในราคาต่ำกว่าต้นทุน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมนำเที่ยว แล้วถอนทุนหรือเอากำไรด้วยการบังคับนักท่องเที่ยวไปช้อปปิ้งในร้านค้าที่อยู่ในเครือข่าย โดยที่ประเทศไทยไม่ได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าว ‘แม้แต่บาทเดียว’

 

หรือแม้แต่กรณี ‘คดี Forex-3D’ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ มีเงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาท ดารา-นักแสดงจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้องและถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย สร้างมูลค่าความเสียหายเกือบ 2.5 พันล้านบาท

 

นอกจากบิ๊กข้าราชการและนักการเมือง อีกสิ่งที่สำคัญของคดีดิไอคอนกรุ๊ปนอกจากจะทำให้เกิดผู้เสียหายจำนวนมากแล้ว ยังมีดาราชื่อดังตกเป็นผู้ต้องหาจำนวน 3 ราย คือ กันต์ กันตถาวร, มิน-พีชญา วัฒนามนตรี และ แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี

 


 

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ‘กันต์ กันตถาวร’

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ‘กันต์ กันตถาวร’ ดาราชื่อดัง 1 ใน 18 ผู้ถูกออกหมายจับในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนจากคดีธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 


 

THE STANDARD ชวนผู้อ่านผู้ติดตามในฐานะ ‘สุจริตชน’ ร่วมขุดคุ้ยธุรกิจสีเทา และอิทธิพลของดาราผู้มีชื่อเสียงที่ทำให้ผู้คนหลงตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ผ่านการสนทนาร่วมกับนักวิชาการทั้ง 3 ท่าน

 

  • รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
  • ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
  • รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ธุรกิจสีเทามีอยู่จริง

 

รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับ THE STANDARD ว่า จากข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมาและข้อมูลจากผู้เสียหายในคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยอมรับว่าธุรกิจสีเทามีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ‘จริง’

 

ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เคยมีการตั้งคณะกรรมการสอบนายตำรวจระดับสูง เนื่องจากพบว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับธุรกิจสีเทาจริง และความขัดแย้งภายในขององค์กรตำรวจที่ผ่านมาก็สะท้อนว่ามีความเกี่ยวโยงกับเรื่องธุรกิจสีเทา

 

ทั้งเว็บพนันออนไลน์ หรือแม้แต่การเปิดบัญชีม้าเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการปลดนายตำรวจระดับอดีตรอง ผบ.ตร. ออกจากราชการ ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐว่ามีอยู่จริง

 


 

รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

 


 

ส่วน ‘เทวดา’ ในธุรกิจสีเทาคดีดิไอคอนกรุ๊ปนั้นแม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใครบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจในการสั่งการ และสามารถควบคุมกลไกต่างๆ ได้ โดยตนเองมองว่าไม่ควรใช้คำว่า ‘เทวดา’ แต่น่าจะใช้คำว่า ‘อสูร’ มากกว่า เพราะนี่คือบุคคลที่กระทำความผิด โดยเฉพาะความผิดในธุรกิจสีเทา ซึ่งเป็นสิ่งที่โหดร้ายมาก

 

รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญ ตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบ หากกรณีแบบนี้ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง สุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือประชาชน

 

ธุรกิจสีเทาด้วยการอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรงจะอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานแค่ไหนนั้น รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังมีกิเลส มีความโลภ ก็ยังต้องเจอปัญหาเหล่านี้อยู่ รัฐจึงต้องเร่งหารูปแบบ รวมถึงระบบ มีกลไกที่จะแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว และจริงจัง โดยไม่ไว้หน้าและไม่เกรงใจกัน เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

 

รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ ยกตัวอย่างว่า ควรมีหน่วยงานที่มาบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะ เช่น การใช้กฎหมายของ ICT ในวันวันหนึ่งไม่ต้องทำอะไรมาก มีหน้าที่จับอย่างเดียว เพราะจากการศึกษาข้อมูลวิจัยก็พบตรงกัน ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้ต้องเป็นนโยบายของรัฐ

 

หากไม่จริงจัง ทำงานแบบ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ ทำงานตามกระแสไป กรณีดิไอคอนกรุ๊ปแม้ขณะนี้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว ก็ต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไร สืบสวนสอบสวนถึงแค่ไหน ผลจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ เพราะสุดท้ายก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเอง

 

เจาะลึกธุรกิจสีเทา

 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD ถึงธุรกิจสีเทาว่า เมื่อประเทศไทยได้เปิดรับระบบทุนนิยม แต่ยังพบว่ามีจุดอ่อนอยู่ สุดท้ายจุดอ่อนนี้ได้กลายเป็นช่องว่างจากโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีข้อบกพร่อง จึงก่อให้เกิดปัญหา ทำให้มีความไม่เป็นธรรมและมีการเอาเปรียบเกิดขึ้น

 

อย่างกรณีดิไอคอนกรุ๊ปนั้นมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย เริ่มต้นที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพาณิชย์, กรรมาธิการในรัฐสภา ลามไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งนับว่ามีหน่วยงานจำนวนมาก แต่มีหน้าที่แตกต่างกัน

 


 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

แฟ้มภาพ: มานะ นิมิตรมงคล / Facebook

 


 

หากเราไปดูประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ประเทศที่อยู่ใกล้บ้านเราอย่างอินโดนีเซีย จะพบว่าทุกประเทศเหล่านี้มีหน่วยงานที่เรียกว่า ‘Fair Trade Commission’ เป็นหน่วยงานอิสระที่จะคอยปกป้องประชาชนจากการโกหกหลอกลวง โดยจะใช้อำนาจในการตรวจสอบเพื่อหยุดการกระทำแล้วก็ลงโทษ ที่สำคัญคือหน่วยงานพวกนี้จะมีต้องมีตัวแทนภาคประชาชนมาร่วมทำงานด้วย

 

ดร.มานะ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยเริ่มต้นเกิดจากโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่กำกับดูแลนั้นมีปัญหา จึงก่อให้เกิดความล้มเหลวที่จะไปควบคุมธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน อย่างเช่นกรณีที่กำลังตกเป็นข่าวอยู่ในวันนี้

 

หากถามถึง ‘การเรียกรับผลประโยชน์’ ในหน่วยงานราชการนั้น เราจะเห็นตามหน้าข่าวตลอด 30 ปีที่ผ่านมาว่า หลายหน่วยงานไม่ได้สนใจผลประโยชน์ของประชาชน มีทั้งเรียกรับสินบนควบคู่ไปกับวิ่งเต้นเส้นสาย เมื่อเกิดกรณีใหญ่ มีผู้เสียหายจำนวนมาก เอกชนก็จะวิ่งเต้นกับหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ซึ่งสามารถทำได้โดยนายหน้าหรือข้าราชการเก๋าๆ ที่มีเส้นสาย รวมถึงมีนักการเมืองเข้ามาแผ่อิทธิพลไปยังหน่วยงานนั้น

 

แต่กระนั้นเราก็ไม่สามารถพูดได้ว่า ‘ผู้มีอำนาจตัวจริงเสียงจริง’ ที่อยู่เบื้องหลังฉากหลังธุรกิจสีเทานั้นเป็นนักการเมืองเสมอไป ในกรณีที่เป็นขบวนการใหญ่ที่สร้างความเสียหายร้ายแรง รวมถึงกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่รอดได้จะต้องมี ‘นักการเมือง’ เข้าไปเป็นผู้ประสานงานหรือผู้บงการ

 

โดยที่นักการเมืองคนนั้นไม่จำเป็นที่จะต้อง ‘หน้าเก่า’ อยู่มานาน หรือเป็น ‘หน้าใหม่’ ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักของสังคม เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงของเครือข่ายธุรกิจลักษณะนี้ผู้คนมักเกาะกลุ่มทำงานแบบลับๆ อยู่ในเครือข่ายมานานแล้ว ตนจึงเชื่อว่ากรณีดิไอคอนกรุ๊ปมีนักการเมืองระดับใหญ่เกี่ยวข้องด้วยแน่นอน แต่ขณะนี้ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้

 

“คนที่อยู่เบื้องหลังมีความเชื่อมโยง 3-4 องค์กรที่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมา ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองที่กำกับดูแลหน่วยงานนั้นโดยตรง พูดง่ายๆ ก็คือว่าโครงการนี้ฉันขอนะ โครงการนั้นฉันให้คุณ เป็นการแลกเปลี่ยนสลับสับเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงอำนาจกันเฉพาะเรื่อง เฉพาะโครงการ”

 

เพราะคนจ้องจะโกงนั้นมีมาก ลูปธุรกิจสีเทา ‘ตายได้ก็เกิดใหม่ได้’

 

ดร.มานะ ยอมรับถึงวงจรของธุรกิจสีเทาที่เมื่อถูกดำเนินคดีไปสุดท้ายธุรกิจลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นอีก เพราะ ‘คนจ้องจะโกงนั้นมีจำนวนมาก’ ขณะเดียวกันธุรกิจสีเทาไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ได้ถูกกำราบอย่างจริงจัง ทุกครั้งที่มีการดำเนินคดีก็มักจะจับแค่คนตัวเล็ก ตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ ก็ไม่สามารถเล่นงานตัวใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังได้

 

อย่างภาคเอกชนควรต้องจับตัวใหญ่ให้ได้ทั้งเครือข่าย ถ้าเป็นภาครัฐก็จะต้องดำเนินการข้าราชการระดับหัวหน้าหน่วยงานให้ได้ ส่วนนักการเมืองที่ผ่านมารอดเสมอ ก็ต้องพยายามเปิดโปงให้ประชาชนรับทราบ

 

นักการเมืองกับดารา

 

เมื่อถามว่า ‘ดาราผู้มีชื่อเสียงลงมาเล่นด้วยตัวเอง มีอิทธิพลของนักการเมืองด้วยหรือไม่’ ดร.มานะ กล่าวว่า “ดาราก็เป็นคน อยากได้ อยากมีเหมือนกัน” แต่ในกลไกการค้า คำว่า ‘มีรายได้จากเปอร์เซ็นต์’ เป็นคำที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความดาราเหล่านั้นจะไปคดโกง เขาให้มาเป็นพรีเซนเตอร์

 

จึงเป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่ต้องเข้าตรวจสอบเส้นทางการเงิน และบทบาทของดาราคนนั้นๆ ว่าทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะพรีเซนเตอร์หรือไปมีส่วนร่วมในการใช้คำพูดที่หลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดในสาระของธุรกิจด้วยใช่หรือไม่

 

ทางออกปัญหาธุรกิจสีเทา

 

ดร.มานะ กล่าวถึงทางออกของปัญหาธุรกิจสีเทาว่า ต้องให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐต้องไม่ปล่อยปละละเลย และต้องรวมศูนย์ทุกหน่วยงานมาบูรณาการกันได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แยกกันทำ แยกกันอยู่ แยกกันตีความ ขณะเดียวกันเวลานี้เราก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะแสดงท่าทีหรือเจตจำนงถึงการ ‘เอาจริงเอาจัง’ ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศเลย

 

หากวันนี้รัฐบาลยังแก้ปัญหาคอร์รัปชันในคดีเฉพาะหน้า Case by Case โดยไม่พูดถึงต้นตอว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีก เพราะยังไม่ได้ถูกแก้ไขที่ต้นทาง ทั้งยังต้องเร่งฟื้นฟูหลักนิติธรรม Rule of Law เพื่อหยุดพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจ ใช้ดุลพินิจไม่โปร่งใส และต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศนี้

 

ขาลงวงการโทรทัศน์ ดาราจึงต้องหาอาชีพใหม่

 

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ถึงการใช้ดารา-นักแสดงเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจสีเทาว่า เนื่องจากแลนด์สเคปในวงการบันเทิงนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป

 

ในอดีตดาราต้องพึ่งต้นสังกัดในการสื่อสารกับแฟนคลับ รวมถึงมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด แต่ในเวลานี้ดาราเหล่านั้นมีช่องทางการสื่อสารเป็นของตัวเอง เป็น KOL ใช้แพลตฟอร์มพื้นที่ตัวเองในการสื่อสารถึงแฟนคลับ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้เพิ่ม ซึ่งนำไปสู่การทำธุรกิจที่ไม่ต้องผ่านต้นสังกัด แต่จะต้องกำกับตัวเอง และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ ว่าจะเคร่งครัดหรือหละหลวมอย่างไร และรู้เท่าทันหรือไม่

 

ขณะเดียวกันเวลานี้ก็ถือเป็นขาลงของวงการโทรทัศน์และละครไทย “พวกดาราเองถึงแม้จะดูรวย แต่ก็เป็นอาชีพที่ไม่ยั่งยืน พวกเขาก็จำเป็นต้องหารายได้ หาอาชีพหลักที่จะเป็นอาชีพถัดไปที่จะทำให้เขาร่ำรวยได้”

 


 

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 

เหตุใดดาราจึงตอบรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจสีเทาโดยยอมแลกชื่อเสียงที่มีเพื่อทำให้คนหลงเชื่อ ทำชีวิตผู้อื่นพัง และท้ายที่สุดชีวิตของตัวเองก็พังตามเช่นกัน รศ.พิจิตรา กล่าวว่า หากตัดเรื่อง ‘เงิน’ และ ‘ความโลภ’ ออกไป ธุรกิจดังกล่าวนี้เป็นธุรกิจเครือข่าย มีลักษณะเป็นพีระมิดขั้นบันได ซึ่งควบคุมธุรกิจได้ยาก

 

ดาราคือบุคคลที่อยู่ด้านบนตรงหัวของพีระมิด อาจไม่รู้รายละเอียดของธุรกิจ อาจเป็นแค่พรีเซนเตอร์ตามที่บรีฟ ส่วนกระบวนการก็เป็นหน้าที่ของแม่ข่าย ซึ่งใต้พีระมิดบรรดาดาราก็ไม่ทราบว่าใช้กระบวนการและวิธีการอย่างไรในการดึงคนเข้ามา

 

“ถ้าไม่นับรวมกิเลสตัณหาที่อยากรวย คงจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุม Process หรือกระบวนการข้างล่างได้ เพราะมันก็ควบคุมยาก และฝั่งดาราอาจไม่รู้จริงๆ ว่าจะทำผิดกฎหมายหรือผิดจรรยาบรรณ”

 

รศ.พิจิตรา ยังอธิบายเสริมถึงรูปแบบความร่ำรวยของกลุ่มดาราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดิไอคอนกรุ๊ปด้วยว่า ธุรกิจลักษณะนี้ต้องการสร้างภาพ สร้างความปรารถนา ขายฝัน ยั่วกิเลสผู้คน เมื่อเข้าไปอบรมเขาก็จะบอกเลยว่า “ความร่ำรวยแปลว่าประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้”

 

รศ.พิจิตรา กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ภาพรวมของประเทศไทยที่มีการอวดร่ำอวดรวยผ่านโซเชียลมีเดีย สะท้อนว่าความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ยิ่งทำให้กิเลสสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การจ้างงานของคนไทยในพื้นที่ต่างจังหวัดก็มีค่าตอบแทนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ ยังรวยกระจุก จนกระจาย

 

“นายกรัฐมนตรีใส่แบรนด์เนมตลอดเวลา บรรดาชนชั้นนำอีลิทโคตรรวย ส่วนคนจนก็คือโคตรจน ไม่สามารถยกระดับทำให้มีฐานะขึ้นได้ เมื่อกิเลสหนาขึ้นก็ต้องหาช่องทางอะไรก็ได้ที่จะพาไปให้ถึงจุดนั้นเพื่ออวดว่าประสบความสำเร็จ สุดท้ายก็จะวนลูปอยู่เช่นนี้”

 

คดีดิไอคอนกรุ๊ปจะกลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนครั้งใหญ่ที่หลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ดารา คนที่มีชื่อเสียง รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมกันถอดบทเรียน เพราะต้นตอและสาเหตุนั้นเกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานของไทย เป็นความเหลื่อมล้ำ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ และกิเลสความอยากได้อยากมี จนนำมาซึ่ง ‘ช่องโหว่’ ให้คนเข้ามาหาผลประโยชน์ หลอกให้รวยทางลัด เข้าสู่โลกสีเทา สูญเสียเงินทุนมหาศาลโดยไม่รู้ตัว และท้ายที่สุดทำให้สังคมไทยยังวนลูปเช่นนี้ไม่ไปไหน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X