×

กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ จ่อเชิญฝ่ายความมั่นคงหารือสถานการณ์หลังคดีตากใบหมดอายุความ หวังรัฐบาลแสดงเจตจำนงนำตัวจำเลยกลับมา

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2024
  • LOADING...
พรรณิการ์ วานิช

วันนี้ (17 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร แถลงมติที่ประชุมกรณีคดี ตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ 

 

พรรณิการ์ระบุว่า เมื่อวานนี้ (16 ตุลาคม) กรรมาธิการได้หารือกันด้วยความกังวล และมีความเห็นตรงกันว่า หากคดีหมดอายุความลงในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่สามารถทำให้คดีดำเนินต่อไปได้ 

 

“สส. ในพื้นที่เองก็ได้สะท้อนมาว่า ไปละหมาด ไปเจอประชาชนในพื้นที่แต่ละครั้ง จะโดนถามทุกครั้งว่าจับตัวจำเลยได้บ้างหรือยัง หรือจับได้สักคนหรือยัง เนื่องจากคนถูกออกหมายจับมีถึง 10 กว่าคน ซึ่งตัว สส. เองก็รู้ว่าประชาชนติดตามข่าวทุกวัน หรือทางฝ่ายที่ติดตามเรื่องความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพเองก็แสดงความกังวล” พรรณิการ์กล่าว 

 

ด้วยเหตุนี้ กรรมาธิการจึงมีมติว่า สมควรจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกัน ในวันที่ 24 ตุลาคม หรือ 1 วันก่อนคดีจะหมดอายุความลง โดยจะเชิญ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นการมองไปที่อนาคตหลังคดีหมดอายุความลง จะมีการหาวิธีรับมือสถานการณ์ที่ดีที่สุดอย่างไร ทั้งในแง่ของการประคับประคองบรรยากาศในการเจรจาสันติภาพที่เริ่มมาในรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย

 

8 วันสุดท้าย รัฐบาลนำตัวจำเลยกลับสู่กระบวนการ

 

สำหรับกรณีการลาออกของ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยในคดี ตากใบ พรรณิการ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า สถานะความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยของ พล.อ. พิศาล ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการดำเนินคดีทั้งสิ้น เพราะคดีนี้ฟ้องตรงต่อศาลแล้ว สส. อยู่ในฐานะจำเลย ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มกันอยู่แล้ว 

 

“แม้ว่า พล.อ. พิศาล จะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่กรณีที่หมายจับในคดียังคงอยู่ ดิฉันไม่อยากให้โฟกัสแค่ตัวจำเลยคนหนึ่ง แต่นี่เป็นเรื่องของข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนระดับสูง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไหนก็มีหน้าที่เดียวกัน คือแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่มากพอในการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกออกหมายจับมาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้” พรรณิการ์กล่าว

 

พรรณิการ์กล่าวอีกว่า เรื่องนี้จะกระทบอย่างมากในระดับการเจรจาสันติภาพ เพราะจะถูกมองว่ารัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ หรือมีนโยบายชัดเจนที่จะเจรจาทางการเมืองมากพอหรือไม่ ส่วนในระดับพื้นที่เองคงไม่ต้องพูดถึงกัน เพราะประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าคงจะไม่มีความหวัง ทั้งๆ ที่คดีนี้เป็นคดีที่ดำเนินมาไกล ถึงขั้นมีการออกหมายจับแล้ว และญาติของผู้สูญเสียทั้งหมดคาดหวังว่าจะได้เห็นความพยายามอย่างถึงที่สุดของรัฐบาลในการทำให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ 

 

“นี่จึงเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วของรัฐบาล ว่าใน 8 วันนี้รัฐบาลจะสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างแรงกล้าเพียงพอหรือไม่ ในการตามตัวจำเลย ซึ่งมี 2 คนที่อยู่ในต่างประเทศ และกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีความพยายามในการเจรจาระดับผู้นำประเทศหรือไม่ ส่วนจำเลยที่เหลือในประเทศไทยมีกระบวนการอื่นๆ นอกเหนือจากกระบวนการของข้าราชการปกติที่ดำเนินไปอยู่แล้ว เพื่อที่จะให้นำตัวจำเลยมาได้หรือไม่” พรรณิการ์กล่าว 

 

พรรณิการ์ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่เกี่ยวกับกระบวนการศาล แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตำรวจและอัยการจะต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาล ซึ่งทั้งตำรวจและอัยการนั้นอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารอย่างแน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรีรวมถึงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงด้วย

 

รับเงินเยียวยาไม่ทำให้คดีอาญาจบ

 

สำหรับกรณีที่รัฐบาลระบุว่า ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาแล้วนั้น พรรณิการ์ถามกลับว่า ถ้ามีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้วจะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อได้ แล้วการที่มีการรับเงินเยียวยาของพี่น้องเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 และมีการเรียกร้องให้ต้องฟื้นคดีอาญาขึ้นมา พร้อมนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการให้ได้ นั่นเป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ เพราะเป็นกรณีเดียวกัน

 

พรรณิการ์มองว่า การเยียวยาสมัยรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ดี เป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการสลายการชุมนุมเสื้อแดงหรือกรณี ตากใบ แต่การรับเงินเยียวยานั้นไม่ได้เกี่ยวกับการทำให้กระบวนการทางอาญาสิ้นสุดลง

 

“การจ่ายเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงได้ และไม่ได้หมายความว่ารับเงินแล้วจบ ถ้ารับเงินแล้วจบ ดิฉันมองว่าต้องตั้งคำถามกับคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดง ว่ารับเงินไปแล้วก็ต้องจบเหมือนกันหรือไม่” พรรณิการ์กล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากคดีหมดอายุความโดยไม่สามารถนำตัวจำเลยมาดำเนินคดีได้จะส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ พรรณิการ์ระบุว่า เรื่องสุดท้ายที่เราควรคำนึงถึงในการเยียวยาและให้ความเป็นธรรมต่อคดี ตากใบ คือเรื่องคะแนนเสียง การที่พรรคการเมืองหลายพรรคกระตือรือร้น หรือหลายพรรคที่อาจถูกมองว่าไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควรนั้น ส่วนตัวยังไม่อยากให้มองว่าทำหรือไม่ทำเพราะคำนึงถึงคะแนนเสียง แต่เมื่อพวกเราเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็มีหน้าที่ทำงานรับใช้ประชาชน 

 

“ดิฉันคิดว่าหน้าที่สำคัญของนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจในการบริหารอยู่ คือการทำให้ประชาชนกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจรัฐอีกครั้ง ว่ารัฐจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ ซึ่งเรื่องนี้คือรากฐานที่สุด ในการนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้” พรรณิการ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising