×

รำลึก 51 ปี 14 ตุลา ญาติวีรชน-นักการเมืองร่วมวางพวงมาลา ผู้นำฝ่ายค้านพร้อมยอมรับคมหอก​ สานต่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน​

โดย THE STANDARD TEAM
14.10.2024
  • LOADING...
ญาติวีรชน

วันนี้ (14 ตุลาคม) กิจกรรมรำลึกครบรอบ 51 ปี เหตุการณ์​ 14 ตุลา 2516 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ญาติวีรชนและประชาชนร่วมกันทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ และประกอบพิธีกรรม 3 ศาสนา

 

จากนั้น​หน่วยงานและองค์กรต่างๆ รวมถึงพรรคการเมือง ร่วมพิธีวางมาลา​ พร้อมกล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดย สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

สมคิดกล่าวสุนทรพจน์ในนามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นถึงพลังและความมุ่งมั่นของผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต้องการให้ประเทศมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาแห่งนี้ เป็นสถานที่แห่งความทรงจำและรำลึกถึงวีรชนผู้กล้าทั้งหลาย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สำหรับคนไทยทุกคน รวมทั้งเยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

 

รัฐบาลยืนยันให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคี ความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และใช้แนวทางสันติวิธีในการหาทางออกร่วมกัน โดยรับฟังเสียงข้างน้อยและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออก​ทางความคิดอย่างสร้างสรรค์​ ในนามของรัฐบาลขอแสดงความรำลึกถึงเหล่าวีรชนผู้กล้าทุกท่าน

 

ด้าน ​ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวรำลึก​ว่า​ เหตุการณ์ในวันนี้​ เราไม่ได้มาเพียงแต่รำลึกความเสียสละในการต่อสู้ของวีรชนอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือการรำลึกถึงวัตถุประสงค์ความเป็นมาถึงข้อต่อสู้ และข้อเรียกร้องของประชาชนในอดีตว่าเขาต้องลงท้องถนนมาต่อสู้ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพราะอะไร ตนในวัย 37 ปี ถ้าจะให้มากล่าวคำรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ตนเกิดไม่ทัน บอกได้ว่าตนเดียงสาทางการเมือง คงไม่สามารถที่จะรำลึกถึงความคับแค้นใจของพี่น้องได้

 

แต่ในยุคนี้ สิ่งที่ตนมีร่วมกับทุกคนคือเจตจำนงทางการเมือง ต้องการพัฒนาการเมืองประเทศในการผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้า เช่น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วันนี้พวกเราก็ต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ ยังมีบางอย่างที่ประสบปัญหาและอุปสรรคการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คนที่ออกมาต่อสู้และถูกเล่นงานกลั่นแกล้งคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือกรณีหลายคนที่เป็นจำเลยในคดีจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังหลบหนีอยู่ ยังไม่ถูกนำตัวมาดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตกำลังสอนพวกเราอยู่ว่า กระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจจะยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน แต่ตนเชื่อว่ารัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างควบคู่กันได้

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลายฝ่ายเห็นด้วยตรงกันว่าประชามติเพียงแค่ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว แต่ติดปัญหาและอุปสรรคในการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา เชื่อว่าทันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า พร้อมยืนยันว่าตนจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาล และคิดว่าทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่เฉพาะ 14 ตุลาก็มีการต่อสู้ ดังนั้นเมื่อตนก้าวเท้าเข้ามาสู่การเมืองแล้วก็พร้อมที่จะรับคมหอกคมดาบ

 

ขณะที่​ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า แม้ว่าการต่อสู้ในวันนั้นต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจและปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพ เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาจึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงภัยร้ายแรงของการปกครองแบบเผด็จการ

 

ขณะเดียวกันก็ประจักษ์ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถือว่าคนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา นั่นคือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้อง

 

ญาติวีรชน ญาติวีรชน ญาติวีรชน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X