เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา THE STANDARD ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในระยะฟื้นฟูเยียวยา และมีโอกาสพูดคุยกับ สุชญา มหาอินทร์ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีบทบาทรับผิดชอบด้านการสื่อสารในช่วงวิกฤตของ ‘ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือและฟื้นฟูเหตุ อุทกภัย เชียงใหม่’
สุชญา มหาอินทร์ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD
สุชญาเปิดเผยที่มาแนวคิดของศูนย์ประสานงานฯ สืบเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบนโยบายว่า ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง จึงตั้งศูนย์ประสานงานฯ ขึ้นมา
“ก่อนหน้านี้ ทางจังหวัดเองก็มีศูนย์ต่างๆ มากมาย แต่ศูนย์แห่งนี้เป็นการยกระดับภัยพิบัติที่วิกฤตเพิ่มขึ้นหลังจากระดับน้ำสูงขึ้นถึง 5.30 เมตร เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”
ศูนย์นี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของภาคท้องถิ่นโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้อำนวยการ และมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเสมือน ‘พี่ใหญ่’ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มี อปท. ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ไม่ประสบอุทกภัยจัดกำลังมาช่วยเสริม ทำให้การช่วยเหลือของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งประสบน้ำท่วมครั้งที่ 2 รวดเร็วและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
การถ่ายทอดสดผ่านสตรีมมิ่งร่วมกันของเครือข่ายกว่า 30 เพจ เพื่อกระจายข่าวสถานการณ์น้ำรายวัน
ศูนย์ประสานงานฯ มีการรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1567 มายังศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งได้บูรณาการเข้ากับศูนย์ประสานงานฯ หลังเกิดวิกฤต นอกเหนือจากทางโทรศัพท์ยังมีอีกหลายช่องทางออนไลน์
หน้าที่หลักอีกประการของศูนย์ประสานงานฯ คือคัดกรองว่าความช่วยเหลืออะไรที่เร่งด่วน ที่ต้องการแพทย์ ต้องการอาหาร ต้องการเรือในการอพยพ เพื่อไม่ให้เกิดความกระจัดกระจาย ทำให้การให้ความช่วยเหลือล่าช้าหรือซ้ำซ้อน
“การรับมือในภาวะวิกฤต การสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เรามีการรวมข้อมูลข่าวสารผ่านศูนย์สื่อสารของเราอย่างไม่เป็นทางการ ภายใต้นโยบายจากกรมประชาสัมพันธ์และจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มอบหมายภารกิจให้เราแจ้งเตือนภัยโดยใช้ทุกเครือข่าย ทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ สำนักงานประชาสัมพันธ์ทุกจังหวัด”
ภาพความเดือดร้อนของประชาชนจากอุทกภัยในตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ: ฐานิส สุดโต
นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันของจิตอาสาทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และภาคการศึกษา เป็นที่มาของ ‘เพจรวมการเฉพาะกิจ’ ซึ่งได้รวมสื่อท้องถิ่น ประกอบด้วย สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่, วิทยุจราจร, ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ และสื่อส่วนกลาง เช่น The Reporters, กรมประชาสัมพันธ์ หรือ NBT ซึ่งต้องขอบคุณภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุน
“ในช่วงแรกจะมีเพียงแค่ไม่ถึง 10 เพจ และยกระดับขึ้น โดยเราเป็นเซ็นเตอร์รับข้อมูลจากกรมชลประทาน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลองนึกว่าถ้าหากเราไม่เป็นเซ็นเตอร์การสื่อสารจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสมมติว่ากรมชลประทานเขาจะต้องให้สัมภาษณ์สื่อ 10 สำนัก ก็เป็นภาระของเขา เราจึงรวมเอาไว้ที่นี่ และการสื่อสารในช่วงวิกฤตต้องสั้นและเร็ว”
หลังจากเกิดวิกฤตน้ำท่วมอีกครั้ง ทางศูนย์ประสานงานฯ ได้ประชาสัมพันธ์ไปว่ามีหน่วยงานใดที่อยากจะเข้ามาร่วม ปรากฏว่ามีเพิ่มขึ้นเกือบ 20 เพจ ทั้งสื่อท้องถิ่นก็มาเพิ่ม รวมทั้ง อบจ. และ อปท. ซึ่งแต่ละเพจต่างมีฐานผู้ติดตามเป็นของตนเอง
“นี่คือข้อดีของการรวมเพจ คือเราสามารถกระจายให้ได้มากที่สุด ยิ่งมากยิ่งดี เราไม่ได้ห่วงเลย หากถามว่ามันจะเป็นการแย่งเอ็นเกจเมนต์หรือคู่แข่งอะไรกันหรือไม่ มองว่าต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่รับข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก เราจะไม่นึกถึงการแข่งขันเลย”
เจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊งเข้าช่วยเหลือประชาชนในตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ: ฐานิส สุดโต