×

ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา OCA อีกครั้ง! บนความหวังปลดล็อกขุมทรัพย์ ‘น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ’ 10 ล้านล้านบาท ในรอบ 50 ปี

10.10.2024
  • LOADING...

สื่อนอกระบุ รัฐบาลใหม่ของไทยเตรียมฟื้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) หวังปลดล็อกขุมทรัพย์ใต้ท้องทะเล ‘น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ’ 3 แสนล้านดอลลาร์ (10 ล้านล้านบาท) หลังเกิดปมข้อพิพาทแบ่งเขตแดนนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลใหม่ของไทยจะเริ่มการเจรจากับกัมพูชาอีกครั้งเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่มีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุขณะที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายนว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้เป็น 1 ใน 10 เป้าหมายเร่งด่วนของรัฐบาล เนื่องจากประเทศต้องการเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซที่กำลังลดลง และเพื่อควบคุมราคาค่าไฟฟ้า ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


  

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ไทยและกัมพูชาเห็นพ้องในการเจรจาเมื่อต้นปี 2024 โดยได้เจรจาเพื่อให้นำทรัพยากรจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตรขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งคาดว่าพื้นที่นี้จะมี ‘ก๊าซธรรมชาติ’ มากถึงประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และ ‘น้ำมันดิบ’ มากถึง 300 ล้านบาร์เรล 

 

ทว่าการเจรจานี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างก็มีประเด็นความขัดแย้งทางการทูต และความอ่อนไหวประเด็นอำนาจอธิปไตย ส่งผลให้การเจรจาหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2001 

 

ขณะที่นักวิชาการบางฝ่ายมองว่า ความเร่งด่วนของการผลิตทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงในไทย รวมถึงโลกพลังงานในอนาคตที่จะลดใช้พลังงานฟอสซิลลง จะช่วยให้การเจรจามีความก้าวหน้ามากขึ้น และจะ ‘เปิดทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเริ่มการสำรวจร่วมกันได้ก่อน หลังจากนั้นจึงจะแก้ไขข้อพิพาททับซ้อนทางทะเลกันในภายหลัง’

 

ด้าน พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้วว่า “เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเขตแดน เพียงแค่ต้องพูดคุยกันแบบเพื่อนบ้าน และพยายามใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน และยังช่วยลดค่าสาธารณูปโภคในไทยลงด้วย”

 

ทั้งนี้ Pen Bona โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์ต่อรายงานข่าวนี้ว่า “หากรัฐบาลใหม่ของไทยพร้อม เราก็ยินดีที่จะดำเนินการเจรจาต่อไป” 

 

ไทยกับความท้าทายพลังงาน ที่นับวันก๊าซธรรมชาติจะหมดลง

 

รายงานระบุว่า ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานที่รองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศไทยมากถึง 60% โดยอุปทานภายในประเทศคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่ง และด้วยอัตราการบริโภคในปัจจุบัน แต่อนาคตอันใกล้ก๊าซธรรมชาติอาจหมดลงภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความสามารถของไทยที่ต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งฐานผลิตยานยนต์ และหวังเป็นฮับท่องเที่ยวภูมิภาค อีกทั้งขณะนี้ไทยเองก็พยายามดึงดูดการลงทุน Data Center ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล

 

โดย คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย มองว่า “ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราจะต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อตอบสนองความต้องการในการผลิตไฟฟ้า และคาดว่าแหล่งพลังงานสำรองที่ยังไม่ได้สำรวจแห่งนี้จะช่วยขยายอุปทานก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของประเทศไทยไปได้อย่างน้อย 20 ปี”

 

ขุมทรัพย์ใต้ทะเล 10 ล้านล้านบาท กับการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน

 

ขณะที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์) ระบุว่า ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีรูปแบบที่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน OCA ของทรัพยากรมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านล้านบาท 

 

“หากการเจรจาประสบความสำเร็จคาดว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทพลังงาน เช่น Chevron, Shell และ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ของไทย ซึ่งได้รับสัมปทาน โดยยังไม่มีรายใดสามารถดำเนินการเข้าไปสำรวจในพื้นที่พิพาทได้”

 

ในขณะที่บริษัทกัมพูชาที่ได้สิทธิสัมปทานคือ ConocoPhillips จากสหรัฐฯ และ TotalEnergies จากฝรั่งเศส

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า แม้ว่ากัมพูชาจะพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด  แต่ก็ไม่ต้องเร่งรีบเข้าสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งตรงกันข้ามกับไทยที่อาจต้องเร่งหาแหล่งพลังงาน ซึ่งปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้า

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยมีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในรูปแบบนี้มาแล้วในเขตแดน ‘มาเลเซีย’ บนพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างในปี 1979 โดยได้กำหนดพื้นที่ขนาดค่อนข้างเล็กเพียง 7,250 ตารางกิโลเมตร

 

ทว่ากรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น แม้การเจรจาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงไม่มีกรอบเวลาที่แน่ชัด

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายมองว่า “ประเทศไทยควรพยายามแก้ไขประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนให้ชัดเจนก่อน เฉกเช่นกับมาเลเซีย ก่อนที่จะหารือถึงผลประโยชน์ร่วมกันของการสำรวจเชิงพาณิชย์”

 

สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เพราะหากดำเนินการต่อไป การเจรจาจะไม่จบลง แต่เป็นรัฐบาลต่างหากที่จะจบสิ้น การประนีประนอมใดๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของไทยจะยิ่งจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลจากสาธารณชน 

 

“วิธีเดียวที่จะทำได้ คือเราต้องเจรจาเรื่องการกำหนดเขตกันก่อน”

 

ย้อนปม 50 ปี พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

 

THE STANDARD WEALTH สรุปที่มาและความสำคัญของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา OCA โดยสรุปให้เข้าใจโดยง่ายคือ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแห่งนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนในหลายมิติ แต่โดยรวมแล้วเกิดจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชามากว่า 50 ปี 

 

โดยเกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยเมื่อปี 1972 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 1973 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิขีดเส้นล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจึงส่งผลต่อสิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยกับกัมพูชาได้ให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงทำให้ยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้

 

กระทั่งมีการหารือมาในหลายรัฐบาล จนล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2023 ณ กรุงพนมเปญ แม้ว่าการเดินทางเยือนกัมพูชาครั้งนั้นยังไม่มีวาระการเจรจา OCA แต่อย่างใด แต่หลังจากนั้นก็ระบุว่าจะนำเรื่องนี้มาหารือให้สำเร็จช่วงต้นปี 

 

จึงนำมาสู่การฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งประเด็นนี้ยังคงเป็นหนึ่งในนโยบายด้านพลังงานสำคัญของพรรคเพื่อไทย โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดว่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่จะสานต่อให้สำเร็จ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising