×

หุ้นจีนดีดแรง 20-30% ใน 2 สัปดาห์ รับอานิสงส์รัฐออกมาตรการพยุงหุ้น แนะระวัง Fund Flow เข้าเร็ว-ออกเร็ว

10.10.2024
  • LOADING...

รุ่งโรจน์ เสกสรรค์วิริยะ ผู้อำนวยการอาวุโส Investment Product Selection and Partnership ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นจีนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแรงในระดับ 20-30% หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรตลาดหุ้นจีน

 

จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังของตลาดหุ้นจีนมักจะเห็นภาพการปรับตัวเพิ่มขึ้นนำหน้าการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ และสำหรับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนล่าสุดนั้น ตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นในเชิงบวกมากที่สุดในรอบ 2-3 ปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากนักลงทุนเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนรอบนี้มีความแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ มีโอกาสที่จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวได้จริง

 

หุ้นจีนได้แรงหนุนกองทุนพยุงหุ้นช่วยดึง Fund Flow กลับ

 

รุ่งโรจน์กล่าวต่อว่า มาตรการกระตุ้นครั้งนี้รัฐบาลมีการสนับสนุนตลาดทุน คือมาตรการการระดมเงินทุนเพื่อเข้าไปเป็นกองทุนใช้พยุงตลาดหุ้นจีน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ซึ่งคล้ายกับประเทศไทยที่มีการออกและเสนอขายหน่วยกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง

 

ขณะที่มาตรการอื่นๆ นั้นมองว่าตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้ตอบรับในเชิงบวกมากนัก ทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์, การปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม รวมถึงการลด Reserve Requirement Ratio (RRR) จึงถือเป็นมาตรการที่มีผลกระทบรองลงมา

 

ในส่วนของกระแสเงินจากต่างชาติ (Fund Flow) เริ่มเห็นการไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจีนอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ไหลออกไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากผลกระทบของสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

 

ดังนั้นจึงมีมุมมองว่าตลาดหุ้นจีนยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อ แต่ยังแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนด้วย เนื่องจาก Fund Flow ที่ไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจีนเร็ว ในมุมกลับก็มีความเสี่ยงที่จะเห็นการไหลออกจากตลาดหุ้นจีนได้เร็วเช่นกัน

 

รุ่งโรจน์ประเมินต่อว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในรอบหน้าในวันที่ 6-7 พฤศจิกายนนี้ คาดว่ามีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่น้อยกว่าการประชุมครั้งก่อนที่มีการประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.50% เนื่องจากเริ่มเห็นตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง ประกอบกับอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง ถือเป็นข้อมูลเชิงบวกสะท้อนว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

 

ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงน้อยลง โดยคาดว่าหลังจากการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งหน้า Fed จะชะลอดูและติดตามผลลัพธ์ จากนั้นในปี 2568 ประเมินว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง

 

คาด กนง. ประชุม 16 ต.ค. นี้ เริ่มหั่นดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

 

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมดอกเบี้ยนโยบาย โดยตลาดมีความคาดหวังว่า ธปท. จะเริ่มลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในปีนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ออกมา

 

ด้านตลาดหุ้นเวียดนามถือเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับหากมีการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed จริง ก็มีโอกาสที่จะได้เห็น Fund Flow ไหลเข้าสู่ในตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) ทั้งในกลุ่มตลาดหุ้นลาตินอเมริกาและตลาดหุ้นเอเชีย

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนกลุ่ม A-Share ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง และเกิดโมเมนตัมมีแรงซื้อกลับเข้ามา หลังจากตลาดหุ้นจีนปิดการซื้อ-ขายมา 1 สัปดาห์ ส่วนตลาดหุ้นจีนกลุ่ม H-Share ปรับตัวลดลงในระยะสั้น หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง

 

ขณะที่วานนี้ (9 ตุลาคม) มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงประมาณ 10% ซึ่งส่งผลให้ดัชนี H-Share ปรับลดลงไปใกล้เคียงระดับที่ปิดในวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ระดับ 7,500 จุด หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาที่ระดับ 8,000 จุด จึงมองว่าการเก็งกำไรในระยะสั้นได้จบรอบลงแล้ว

 

อย่างไรก็ดี ให้ติดตามแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นจีนในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนว่าประสบความสำเร็จมากน้อยอย่างไร

 

จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยงกระทบการลงทุน

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการลงทุนในระยะสั้นคือ

 

1. ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยผู้สมัครจาก 2 พรรค ทั้งพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต ต่างมีนโยบายเศรษฐกิจที่สวนทางกันแบบสิ้นเชิง โดย โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน มีนโยบายสนับสนุนการลดภาษีในประเทศ และจะมีการปรับขึ้นภาษีในต่างประเทศเพื่อนำมาชดเชยกับภาษีในประเทศ

 

ขณะที่ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต จะเน้นนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของชนชั้น โดยมีนโยบายปรับขึ้นภาษีกลุ่มคนรวยและลดภาษีคนจน แต่ไม่เน้นการดำเนินนโยบายในต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าไม่ว่าผู้สมัครรายใดจะชนะการเลือกตั้ง ก็ยังคงต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเอเชีย จีน รวมถึงประเทศไทย

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ยังถือว่ามีความแข็งแกร่ง โดย GDP ไทยมีโอกาสขยายตัวดีขึ้นจากนโยบายการคลังที่กำลังทยอยเข้ามา ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะประคองตัวรับความผันผวนจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้

 

2. ปัจจัยความเสี่ยงของความรุนแรงในตะวันออกกลางที่จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากนัก เพราะพื้นที่ที่เกิดสงครามน่าจะจำกัดอยู่ในกลุ่มตะวันออกกลาง

 

แนะนำจัดพอร์ตรับมือความเสี่ยงสู้ความผันผวน

 

ดังนั้นประเมินว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบเฉพาะในส่วนของความผันผวนของค่าน้ำมัน ขณะที่ทั้งรัสเซีย สหรัฐฯ และประเทศลาตินอเมริกา ที่มีการส่งออกน้ำมันจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

 

สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในช่วงไตรมาส 4/67 แนะนำให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยให้เพิ่มสัดส่วนในสินทรัพย์การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) เพื่อช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน จากเดิมที่มีการลงทุนในหุ้น 80% และตราสารหนี้อีก 20% ปรับพอร์ตเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น 50% ตราสารหนี้ 20% และลงทุนใน Alternative Investment 30% ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังได้เท่าเดิมแต่ลดความผันผวนลงได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising