วานนี้ (9 ตุลาคม) ที่ สปป.ลาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าหารือทวิภาคีกับผู้นำบรูไน กัมพูชา และเวียดนาม ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และครั้งที่ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (44th and 45th ASEAN Summits) โดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักของนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ในการหารือทวิภาคีกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Thailand’s Government Pension Fund (GPF) and Brunei Investment Agency (BIA) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนร่วมกันของทั้งสองประเทศโดยเร็ว รวมถึงการผลักดันความร่วมมือ The Elimination of Double Taxation and the Prevention of Tax Evasion and Avoidance (DTA) เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และจะอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตร และด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่ยั่งยืนและการจัดการน้ำ
ทั้งนี้ บูรไนพร้อมผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือทางด้านฮาลาล เช่น ความมั่นคงทางอาหาร และการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในอนาคต
หารือกัมพูชา แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์-ยาเสพติด
นายกรัฐมนตรียังหารือทวิภาคีกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและกัมพูชาในปีหน้า โดยกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะประสานงานจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชน
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ดังนี้
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ควรดำเนินงานต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน
- ไทยเสนอโครงการ ‘หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง’ (Six Countries, One Destination) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
- ไทยส่งเสริมบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างสองประเทศ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน โดยพร้อมที่จะปรับปรุงการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนาม ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-กัมพูชา
ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น ไทยพร้อมจัดการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ การหลอกลวงทางออนไลน์ การค้ามนุษย์ การลักลอบค้ายาเสพติด ไทยและกัมพูชาจะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเพิ่มขึ้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนหารือเพิ่มความร่วมมือต่อต้านยาเสพติดตามแนวชายแดน
ตั้งเป้าการค้าไทย-เวียดนาม กว่า 8.5 แสนล้านบาท
จากนั้นนายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับ ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมแสดงความเสียใจต่อเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นยางิ โดยไทยมอบเงินจำนวน 2 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะเร่งอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.5 แสนล้านบาท โดยขอให้เวียดนามสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี พลังงาน และธนาคารพาณิชย์
รวมทั้งไทยและเวียดนามจะส่งเสริมความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ Three Connects เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดอุดรธานีของไทยกับเมืองต่างๆ ในเวียดนาม
ขณะเดียวกันเวียดนามพร้อมสนับสนุนแนวคิด ‘หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง’ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค