×

ศปช. ถอดบทเรียนน้ำท่วมเชียงใหม่-เชียงราย ยกเป็นโมเดลป้องกันน้ำท่วม ยืนยันไม่ใช่การบริหารผิดพลาด แต่เป็นเหตุไม่เคยเกิดขึ้นหนักขนาดนี้มาก่อน

โดย THE STANDARD TEAM
08.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (8 ตุลาคม) ที่ห้องประชุม 108 อรรถไกวัลวที ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 3/2567 โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

 

ภูมิธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีการประมวลผลและวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน เพื่อแก้ไขให้เกิดความคืบหน้ามากที่สุด โดยประชุมทางออนไลน์ร่วมกับ ศปช. ส่วนหน้า เชียงรายและเชียงใหม่ด้วย ซึ่งได้แจ้งประเด็นต่างๆ 5 ข้อสำคัญ ได้แก่

 

  1. น้ำท่วมอำเภอเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้เกิดขึ้นจากฝนตกหนักในวันที่ 3 และ 4 ตุลาคม ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว และอำเภอแม่ริม ซึ่งฝนตกมากที่สุด ตามสถิติถือว่าหลายร้อยปีจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงเหตุอุทกภัยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก็ไม่เคยเกิดดินโคลนถล่ม ครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก

 

ดังนั้นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช่ความผิดพลาดของหน่วยราชการหรือการบริหารจัดการใดๆ ทั้งสิ้น ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในวิถีที่ควรจะเกิด แต่เกิดจากภาวะโลกร้อนและหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงต้องรับไว้เป็นบทเรียน โดยเราต้องสร้าง 2 โมเดล คือ โมเดลที่เชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งอยากให้สื่อเข้าใจจุดนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินร่วมกันไปกับเรา

 

  1. จากเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งเมื่อน้ำมาถึงอำเภอเมืองเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างระบบป้องกันเมืองด้วยเขื่อนขนาดเล็ก โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยและจังหวัดเชียงใหม่ไปดูเรื่องนี้

 

  1. น้ำจากอำเภอเชียงดาวมาถึงอำเภอจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลา 30 ชั่วโมง, อำเภอแม่แตง 6 ชั่วโมง และอำเภอแม่ริม 6 ชั่วโมง ซึ่งการเดินทางของน้ำค่อนข้างยาว และเมื่อประมาณระดับน้ำที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าลำน้ำปิงตื้นเขินคดเคี้ยวมาก เกิดจากธรรมชาติ และการบุกรุก จึงสั่งให้กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมเจ้าท่า และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ศึกษาหาทางแก้ไขเรื่องเส้นทางน้ำ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการระบายมากขึ้น

 

  1. ฝนที่ตกถึง 5 วันในลุ่มน้ำปิง, พื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวม 14 แห่ง ในฐานะที่เป็นลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี แต่ไม่สามารถซับน้ำได้ดีเหมือนในอดีต และปรากฏว่ามีการทำกินในพื้นที่ ซึ่งไม่ถูกต้องถึง 5% จึงอยากให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกระทรวงมหาดไทย ฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง

 

  1. เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นกึ่งเชิงวิชาการหลายแขนง เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจภูมิประเทศ ตลอดจนโครงสร้างสังคมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงขอให้ ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษา ศปช. พิจารณาศึกษาดูว่าจะมีคณะกรรมการอะไรบ้าง ซึ่งจะดูทั้งแผนระยะยาวและเฉพาะหน้า โดยให้เตรียมการให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นก็แก้ไขได้อย่างเหมาะสม ทำให้ความเสียหายไม่มาก

 

ภูมิธรรมกล่าวต่อว่า จากทั้งหมดที่ประชุมมาพบว่าพื้นที่ต่างๆ ฟื้นฟูได้ดีขึ้นตามลำดับ ส่วนที่เหลืออยู่ก็จะเร่งให้ความมั่นใจว่าภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้จะกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด

 

ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำในขณะนี้ยืนยันได้ว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เหตุการณ์แบบปี 2554 จะไม่เกิดขึ้น ตรงนี้เราต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น เพราะจากการประเมิน ฝนค่อยๆ หยุดตกแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนภูมิพลก็สามารถรองรับน้ำได้ ขณะที่เราจัดความสมดุลในการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำขังพื้นที่ส่วนบนของเขื่อนมากเกินไป

 

ขณะเดียวกันก็ปล่อยน้ำให้พอดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหรือจังหวัดที่อยู่ใต้เขื่อนมากเกินไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่แล้ว ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษเหมือนปี 2554 จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าภาพน้ำท่วมปี 2554 จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และอยากให้โซเชียลมีเดียทั้งหลายกระจายข่าวแบบมีข้อมูลที่เป็นจริง ไม่สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชน

 

ภูมิธรรมกล่าวถึงเรื่องสัตว์ป่า และช้างที่เลี้ยงในปางที่อำเภอแม่แตงว่า เราได้จัดการอย่างดีที่สุดเป็นที่เรียบร้อย มีอาหารพระราชทานเพียงพอในการดูแลช้าง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเร่งด่วน มีช้าง 9 เชือกที่มีความเครียดและดุร้าย เขาจึงล่ามโซ่ไว้ และสูญเสียไปบ้าง เข้าใจว่า 2 เชือก แต่ที่เหลือร้อยกว่าเชือกทั้งหมดอยู่ในที่ปลอดภัย

 

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเสนอให้มีการฟื้นฟูอาชีพต่างๆ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีอำนาจโดยตรง แต่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงประสานไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะเสนอให้แก้ปัญหาต่างๆ ในลักษณะของการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร ซึ่งกรมบัญชีกลาง, สำนักงบประมาณ, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ช่วยกันพิจารณาความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นต้นเรื่องในการพิจารณา โดยขอให้มองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแผนตลอดทั้งปีและแผนเฉพาะหน้า

 

ภูมิธรรมยังกล่าวถึงกรณี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมหนักเพราะรัฐบาลไม่มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมกับยกตัวอย่างว่าสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี มีปริมาณน้ำมากกว่านี้ยังสามารถบริหารจัดการได้ ว่า ตนไม่ทราบ ต้องถาม พล.อ. ประวิตร

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ. ประวิตร ระบุว่า สามารถไปขอคำแนะนำได้ในฐานะที่เคยดูเรื่องน้ำมาก่อน ภูมิธรรมกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ติดขัดอะไร หากมีปัญหาก็อาจไปปรึกษาทุกคนที่มีความรู้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ พล.อ. ประวิตร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X