วันนี้ (8 ตุลาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาการเสนอหลักเกณฑ์เยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นการช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียวครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้วงเงินเดิมตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 จำนวน 3,045 ล้านบาท
ขณะที่วันนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยรายงานเรื่องของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช. ส่วนหน้า) ที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ตอนนี้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่วางกรอบไทม์ไลน์ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยได้รับรายงานว่าทุกอย่างที่ลงไปในพื้นที่รับผิดชอบจะสำเร็จไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงพื้นที่แม่สายด้วย
4-5 วัน คาดสถานการณ์น้ำเหนือเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนอำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ปางช้างที่มีช้างตาย กำลังพลทหารเคลื่อนย้ายช้างที่ตายจำนวน 2 เชือก ออกจากพื้นที่ รวมถึงเคลื่อนย้ายสัตว์อื่นๆ ไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยเตรียมอาหารและเครื่องนุ่งห่มอย่างเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเริ่มลดลงแล้ว คาดว่าใน 4-5 วันข้างหน้า สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่จังหวัดลำปางและลำพูนคาดว่าจะได้รับมวลน้ำต่อจากเชียงใหม่ไม่เยอะ ซึ่งมวลน้ำจะเคลื่อนตัวไปที่เขื่อนภูมิพล อีกส่วนจะไหลไปลงที่แม่น้ำโขง คาดว่าจะมีน้ำท่วมแต่ไม่มาก ซึ่งได้ส่งกำลังพลเข้าไปเตรียมพร้อมดูแลไว้แล้ว ขอให้ชาวลำปางและลำพูนสบายใจ
ส่วนสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานคร รวมถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนที่เคยแจ้งไปแล้วว่า น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 2554 ตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับน้ำได้ ยังไม่ต้องกังวล เพราะเราวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการพูดคุยกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตลอด เพราะฉะนั้นการปล่อยน้ำก็จะไม่กระทบกับพื้นที่ของประชาชน เรามอนิเตอร์เรื่องนี้ตลอด และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในเรื่องอาหารและยานพาหนะต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชน
ประชุมวางแผนน้ำทั้งระบบ 15 ตุลาคมนี้
นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า หลังจากนี้จะนัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อติดตามความคืบหน้าและวางแผนป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบ และพูดคุยเรื่องการวางแผนทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวในวันอังคารที่ 15 ตุลาคม ซึ่งจะให้คณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ
ส่วนเรื่องดินโคลนจะเยียวยาพิเศษเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีกรอบที่เคยขยายไปแล้ว ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลอีกครั้ง ต้องให้ในส่วนของพื้นที่ช่วยกันประเมินอีกที ซึ่งการเยียวยาเริ่มทยอยจ่ายไปแล้ว 5,000 บาท และจะทยอยจ่ายอย่างต่อเนื่องให้ครบ 9,000 บาทต่อไป
ไม่รวมบ้านพังทั้งหลัง-พืชผลเสียหาย
ด้าน จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. เพิ่มเติมว่า หลักการที่ผ่านมาจะกำหนดเป็นกรอบ เช่น 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท แต่ที่ประชุมเห็นว่าพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมีทุกรูปแบบ ทั้งหมด 57 จังหวัดทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเชียงราย ซึ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมมีสิทธิที่จะได้รับเงินในเกณฑ์เดียวคือ 9,000 บาท
ขอให้ประชาชนติดตามตรวจสอบจากจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอรับเงินเยียวยาครอบครัวละ 9,000 บาท โดยกรณีนี้จะไม่นับรวมบ้านที่เสียหายทั้งหลัง ซึ่งจะได้รับเงินเยียวยา 230,000 บาท ไม่รวมการบาดเจ็บล้มตายหรือพืชผลทางการเกษตรเสียหาย