×

ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นถึงระดับใด หลัง Fed ลดอัตราดอกเบี้ยลงแรง 0.50% 


03.10.2024
  • LOADING...

เมื่อเช้ามืดวันที่ 19 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เผยมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ซึ่งนับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หรือตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 โดยแม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย แต่การเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงด้วยอัตรา 0.50% นับว่าเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ประเมินการเริ่มปรับลดที่อัตรา 0.25% 

 

ขณะเดียวกัน แม้การปรับลดด้วยอัตรา 0.50% จะเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่หากพิจารณาที่ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group ก่อนช่วงการเปิดเผยผลการประชุม FOMC เพียงไม่กี่ชั่วโมง พบว่านักลงทุนให้น้ำหนักราว 66.0% ต่อการคาดการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วยขนาดดังกล่าว หรือเท่ากับว่านักลงทุนเผื่อโอกาสราว 34.0% ที่ Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% เช่นกัน ซึ่งนับเป็นการแบ่งน้ำหนักที่ไม่หนีห่างกันมากสุดในรอบกว่า 15 ปี บ่งชี้ถึงความไม่แน่นอนของประเด็นขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงก่อนการเปิดเผยมติอัตราดอกเบี้ยของ FOMC 

 

จากความไม่แน่นอนของกระแสการคาดการณ์ในประเด็นดังกล่าว เมื่อ Fed เผยมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วย 0.50% นักลงทุนจึงตอบสนองเชิงบวกเป็นอย่างมาก ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลที่ระดับ 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ซึ่งหลังจากนั้นราคาทองคำยังคงปรับตัวขึ้นสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง  

 

อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ถูกชี้นำจากกระแสการคาดการณ์ต่อขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ที่ 1.25% ซึ่งมากกว่าการส่งสัญญาณของ Fed เนื่องจากรายงานภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฉบับเดือนกันยายนที่เปิดเผยออกมาพร้อมกับผลการประชุม FOMC ระบุการคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายของ Fed ในปี 2024 ที่ 1.00% หรือเท่ากับ Fed ประเมินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% ทุกการประชุมที่เหลืออยู่ในปีนี้ ขณะที่ตลาดเก็งว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยด้วยอัตรา 0.50% ในการประชุม 1 จาก 2 ครั้งที่เหลืออยู่ ซึ่งสะท้อนว่าแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะยังคงบทบาทชี้นำความเคลื่อนไหวที่สำคัญของราคาทองคำ  

 

จับตาทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปัจจัยกำหนดขนาดและความเร่งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed

 

ตามที่กล่าวในข้างต้นว่า ก่อนที่ทุกคนจะได้รับทราบมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ของ FOMC ประเด็นขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนับว่ามีความไม่แน่นอนและเป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมาก กระนั้นทั้งผู้คาดการณ์การปรับลด 0.25% และ 0.50% ต่างมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ต่างกันมากนัก นั่นคือส่วนใหญ่ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงในรูปแบบ Soft Landing ได้สำเร็จ แต่ประเด็นที่นับเป็นเส้นแบ่งสำคัญของทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นคือ เงื่อนไขการเกิดภาวะ Soft Landing 

 

เริ่มจากฝั่งที่คาดการณ์การปรับลด 0.50% มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงในรูปแบบ Soft Landing  ได้ Fed มีความจำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องด้วยในปัจจุบัน ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่อแววอ่อนแอลง ขณะที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Fed มีช่องว่างในการปรับนโยบายการเงินที่มากกว่าปกติ 

 

ส่วนฝั่งที่คาดการณ์การปรับลด 0.25% มีมุมมองว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวลงในรูปแบบ Soft Landing ดังนั้น Fed ไม่มีความจำเป็นต้องเริ่มปรับลดดอกเบี้ยด้วยอัตรา 0.50% ซึ่งนับเป็นขนาดการปรับลดที่ใหญ่เกินปกติ (Oversized Cut) เสี่ยงชี้นำให้เกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทั้งยังอาจเร่งให้เงินเฟ้อกลับตัวขึ้นหรือค้างตัวในระดับสูง เสี่ยงพลาดการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อของ Fed  

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังทุกคนได้รับทราบมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก พร้อมกับรายงานภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด ที่ระบุการคาดการณ์ขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2024-2027 แล้ว กลับพบว่า ประเด็นขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป โดยปัจจุบันกระแสการคาดการณ์ของตลาดชี้ว่า Fed อาจเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว จาก 4.75-5.00% สู่ระดับ 2.75-3.00% ภายในเดือนกันยายน 2025 

 

ขณะที่การคาดการณ์ของ Fed ที่ชี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 2.75-3.00% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed อาจเกิดในปี 2027 หรือเท่ากับต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งความต่างของระยะเวลาดังกล่าว สะท้อนว่าตลาดเก็งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของ Fed ด้วยขนาดและความเร่งที่มาก เพื่อนำอัตราดอกเบี้ยกลับสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีนับจากนี้ 

 

ความเร่งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับเป็นสิ่งที่นำไปสู่ข้อถกเถียงที่คล้ายกับช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องด้วยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในทิศทางที่ดี มีแนวโน้มชะลอตัวลงในรูปแบบ Soft Landing ได้สำเร็จ Fed ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเท่ากับกระแสการคาดการณ์ของตลาดในปัจจุบัน เว้นแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้อยู่ในทิศทางที่ดีมากนัก สอดคล้องกับ Citibank ที่ชี้ว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะ Hard Landing นั้นเพิ่มสูงขึ้น หลังภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ อ่อนแอลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มชี้นำให้ Fed จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง  

 

ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นถึงระดับใด หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถชะลอตัวลงแบบ Soft Landing  

 

กระแสการคาดการณ์ต่อแนวโน้มที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง มีส่วนสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ภายหลังการรับทราบข้อมูลจากการประชุม FOMC รอบเดือนกันยายน ประกอบกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยกระดับความรุนแรงขึ้น ราคาทองคำจึงสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลได้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดระดับสูงสุดตลอดกาลของทองคำอยู่ที่ 2,685.47 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

อย่างไรก็ดี ขนาดและความเร่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยังนับว่าเป็นประเด็นที่อาจสร้างความเสี่ยงให้กับราคาทองคำได้ในระยะข้างหน้า เนื่องด้วยราคาทองคำซึมซับมุมมองเชิงบวกของประเด็นดังกล่าวไปในระดับสูง หากมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ หรือ Fed ไม่ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเท่ากับที่ตลาดตั้งความหวังไว้ ราคาทองคำเสี่ยงปรับฐานลง หากไม่มีปัจจัยบวกอื่นเข้ามาหนุนไว้ 

 

ทั้งนี้ แม้ FOMC มีมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกด้วยขนาด 0.50% ซึ่งนับว่าเหนือความคาดหมายของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ กระนั้นนับว่าการปรับลดดังกล่าวไม่สร้างความกังวลต่อประเด็นภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากนัก เนื่องด้วยการแถลงของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ชี้ถึงเหตุผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% เพื่อปรับการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเป็นกลางมากขึ้น ปฏิเสธการปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยระดับดังกล่าวจากเหตุผลจากสถานการณ์เชิงลบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

 

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายประเมินว่า การเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อประกันการชะลอตัวลงในรูปแบบ Soft Landing ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ขนาดและความเร่งของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed นับจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่ยังมีความไม่แน่นอน ถึงกระนั้น ด้วยแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ Fed ส่งสัญญาณ วายแอลจีประเมินว่า ราคาทองคำมีโอกาสสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลเหนือ 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ก่อนปี 2025 และตามการคาดการณ์ของ Citigroup และ Goldman Sachs ชี้ว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในกลางปี 2025 โดยสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 3.25-3.00% ในปีหน้า ซึ่งเท่ากับการส่งสัญญาณของ Fed 

 

อนึ่ง สภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ประเมินว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถชะลอตัวลงในรูปแบบ Soft Landing สำเร็จ อาจสร้างแรงหนุนต่อราคาทองคำเพียงระดับจำกัด ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า การปรับตัวขึ้นต่อจากระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น แนะนำพิจารณาภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2025 เพื่อประเมินทิศทางราคาทองคำต่อไป 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising