หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปิดรับการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธุรกิจ Virtual Bank เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกในช่วงกลางปี 2568 และจะเริ่มดำเนินการจริงได้ในช่วงกลางปี 2569
ปรากฏว่ามีผู้ยื่นขอใบอนุญาตเพื่อจัดตั้ง Virtual Bank ทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่ม SCBX จับมือกับ KakaoBank และ WeBank
- กลุ่ม GULF ร่วมกับ AIS, ธนาคารกรุงไทย และ OR
- กลุ่ม BTS ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ, Sea Group, เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย
- กลุ่ม Ascend Money (TrueMoney) และ Ant Group
- กลุ่ม Lightnet Group ร่วมกับ WeLab
ก่อนที่เราจะทราบผลว่าใครบ้างที่จะได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ระหว่างนี้เชื่อว่าเราจะเห็นผู้เล่นแต่ละรายทยอยเปิดเผยข้อมูลและแนวทางในการจัดตั้ง Virtual Bank ของตัวเอง พร้อมกับกลยุทธ์ที่จะชิงฐานลูกค้าในไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สำหรับ Lightnet Group บริษัทฟินเทคของไทยที่มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลก ร่วมทุนกับ WeLab ที่มีประสบการณ์การทำ Virtual Bank ทั้งในฮ่องกงและอินโดนีเซีย ประกาศว่าหากได้รับใบอนุญาตก็พร้อมจะจัดตั้ง Virtual Bank ในไทยให้สำเร็จภายใน 12 เดือน
เปิดกลยุทธ์ Lightnet-WeLab สู้ศึก Virtual Bank ไทย
หากเทียบกับอีก 4 กลุ่มทุนที่ร่วมยื่นชิงใบอนุญาต Virtual Bank ในครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า Lightnet Group และ WeLab อาจเป็นกลุ่มที่คนไทยโดยส่วนใหญ่คุ้นชินน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม หิรัญกฤษฎิ์ อรุณานนท์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lightnet Group และ ไซมอน หลุง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WeLab ต่างเชื่อว่าประสบการณ์ เทคโนโลยี รวมทั้งฐานข้อมูลที่บริษัทมีนั้น ไม่ได้เป็นรองกลุ่มทุนอื่นๆ
หิรัญกฤษฎิ์กล่าวว่า เรามีใบอนุญาตด้านการเงินกว่า 20 ใบทั่วโลก และสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าคนไทยกว่า 46 ล้านรายจาก Ecosystem ที่ครอบคลุมในหลายธุรกิจ จากการที่ Lightnet เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำธุรกรรมของหลายอุตสาหกรรม เช่น การเกษตร, ขนส่งมวลชน, การเงิน
รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าผ่านจุดให้บริการกว่า 1.5 แสนแห่งทั่วประเทศ
“สิ่งสำคัญคือการนำ Best Practice จากการทำ Virtual Bank ในฮ่องกงและอินโดนีเซียมาปรับใช้กับไทย Virtual Bank ไม่ใช่แค่แอปพลิเคชันของธนาคาร แต่เป็นแบงก์ที่เชื่อมต่อกับชีวิตประจำวันของทุกคน เราจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การเงินที่เข้ากับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ”
สิ่งที่ Lightnet และ WeLab มุ่งทำ 3 ด้าน คือ
- สร้างการเข้าถึงและเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
- เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แต่ละคนสามารถต่อยอดรายได้ของตัวเอง
- ช่วยให้ทุกคนไปถึงอิสรภาพทางการเงินด้วยผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งรูปแบบใหม่
Virtual Bank ต่างจากแบงก์ดั้งเดิมอย่างไร
ไซมอนกล่าวว่า Virtual Bank จะนำเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งเทคโนโลยี AI เข้ามาผสมผสาน เพื่อให้เรากลายเป็นผู้ช่วยแนะนำด้านการเงินส่วนบุคคลของทุกๆ คน
“สำหรับแบงก์ดั้งเดิมเราจะต้องรู้ว่าจะทำธุรกรรมอะไรก่อนจะเข้าไปใช้งาน แต่ Virtual Bank จะให้คำแนะนำที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกู้, การออม, การบริหารความมั่งคั่ง”
อย่างเรื่องการปล่อยกู้ Virtual Bank สามารถพิจารณาข้อมูลจากหลายส่วน เช่น โซเชียล, การทำธุรกรรม, พฤติกรรม หรือการวิเคราะห์เครดิตในหลายมิติ และประมวลผลข้อมูลเหล่านี้ประกอบกัน เพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อภายในเวลา 2 นาที
ต่างจากธนาคารดั้งเดิมที่จะวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อจากข้อมูลเครดิต, มูลค่าทรัพย์สิน และธุรกรรมภายใน เป็นหลัก และอาจใช้เวลาพิจารณาถึง 3 วัน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือในอดีตที่ผ่านมาคนที่เข้าถึงสินเชื่อได้จะเป็นกลุ่มที่มีสลิปเงินเดือนเป็นหลัก ทำให้ยังมีประชากรในไทย 63% ที่เข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างไม่เต็มที่
ไซมอนยกตัวอย่างการใช้ข้อมูลอื่นๆ มาประกอบการตัดสินใจ เช่น ในฮ่องกงใช้ข้อมูลช่วงเวลาในการกดขอสินเชื่อของแต่ละคนมาประกอบ ซึ่งพบว่าคนที่กดคำขอสินเชื่อช่วง 01.00-06.00 น. มักจะมีสินเชื่อไม่ดีมากกว่าช่วงเวลาอื่น
Virtual Bank ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและ NPL ในระบบ
ไซมอนกล่าวต่อว่า จากข้อมูลของ Virtual Bank ในฮ่องกง ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา WeLab มีหนี้เสียลดลงจาก 0.59% มาเป็น 0.50% ต่ำกว่าหนี้เสียของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 1.92% มาเป็น 2.89%
การบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีและใช้ข้อมูลหลากหลายด้านมาประกอบการวิเคราะห์ ช่วยจำกัดความเสี่ยงของ Virtual Bank ได้ดี ซึ่งในอินโดนีเซียก็เป็นลักษณะเดียวกัน โดยเราเชื่อมั่นว่าธุรกิจในไทยจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของธุรกิจการเงินในปัจจุบันคือปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ในส่วนนี้หิรัญกฤษฎิ์มองว่า Virtual Bank จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้
“เรารู้อาการของเศรษฐกิจไทยและครัวเรือน แต่อาจต้องมีวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมมากขึ้น หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการที่รายได้เพิ่มไม่ทันหนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามช่วยสร้างรายได้ให้ครัวเรือนให้โตเร็วกว่าหนี้”
Virtual Bank จะช่วยให้เราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ช่วยเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะที่ผ่านมาคนบางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เพราะถูกประเมินจากทรัพย์สินแทนที่จะเป็นแนวโน้มรายได้ในอนาคต
และที่สำคัญคือการเพิ่มความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับคนไทยมากขึ้น เพราะจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า 57% ของประชากรไทยมีความรู้การเงินต่ำกว่ามาตรฐาน