วันนี้ (28 กันยายน) แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) ให้สัมภาษณ์กรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่า วันนี้มีที่เลือกไปแล้ว 3 จังหวัด ซึ่งเกิดจากการลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ และคาดว่าน่าจะมีการทยอยลาออกก่อนหมดวาระในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เพิ่มอีก ซึ่งเท่ากับว่าบางจังหวัดจะทำให้มีการเลือก 2 ครั้ง คือมีการเลือกนายก อบจ. และเลือกสมาชิก อบจ. อีกครั้งหนึ่ง แต่หากนายก อบจ. อยู่ครบวาระ ก็จะได้จัดเลือกพร้อมกันได้
“วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีนายก อบจ. ลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระอีกกี่จังหวัด เพราะการลาออกนั้นอยู่เหนือการควบคุม แต่เราก็พอมีข่าวอยู่บ้างว่าน่าจะมีการลาออกอีกหลายจังหวัด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเลือกพร้อมกันหรือเลือกแยกเราก็พร้อมอยู่แล้ว แต่อาจจะกระทบกับงบประมาณ”
ส่วนแผนการป้องกันปัญหาการจัดกิจกรรมของผู้สมัคร ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องจัดเลือกตั้งใหม่เหมือนที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปทุมธานี แสวงกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง กกต. มีมาตรการป้องกันเหตุที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แต่ผู้สมัครเองอาจหวังผลชนะจึงทำเลยไปจากกฎหมาย ซึ่งเรื่องแบบนี้นับวันจะน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ แต่ก็ไม่ได้วางใจและมีมาตรการดูแลอยู่ โดยดูเป็นรายจังหวัด
เชื่อแยกแยะการใช้งบได้
เมื่อถามว่าขณะนี้เข้าเกณฑ์ระยะเวลาที่ อบจ. จะไม่สามารถใช้งบประมาณในกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการหาเสียงหรือไม่ แสวงกล่าวว่า เงื่อนเวลา 180 วัน ก่อนครบวาระ หากทำตามโครงการงบประมาณประจำปีก็ยังสามารถทำได้ เพราะถือว่ายังเป็นนายก อบจ. ต้องดูแลประชาชน แต่ถ้าเป็นการทำเกินจากนั้นก็ต้องดูว่าคืออะไร จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปออกเสียงหรือไม่ ผิดปกติหรือไม่ อาจจะต้องระวัง
บางครั้งเขาอาจจะทำถูก แต่ด้วยความไม่แน่ใจเลยลาออกเพื่อให้ไม่อยู่ใน 180 วันก็มี แต่การลาออกไม่ได้มีแค่เหตุผลเดียว เป็นเหตุผลทางการเมืองในพื้นที่ก็มี อันนั้นทำให้เราไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะมีนายก อบจ. ที่ไหนลาออกอีก
ส่วนที่อาจมีการใช้เรื่องการช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติเพื่อเอื้อประโยชน์ แสวงกล่าวว่า จริงๆ เรื่องน้ำท่วมใครก็ช่วยได้ แต่ต้องดูว่าหากอยู่ในช่วงที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งต้องอยู่ในข้อกฎหมายเรื่องการหาเสียง แต่สำหรับคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว ก็ต้องมาดูว่าการช่วยเหลือนั้นอยู่ในแผนงานงบประมาณหรือไม่
“เรื่องการช่วยเหลือน้ำท่วมคงไม่ได้อยู่ในแผนงานการใช้งบประมาณของ อบจ. แต่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน ก็จะดูว่าการช่วยเหลือนั้นสมควรแก่เหตุหรือไม่ เพราะเขาเองก็มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ ดังนั้นข้อเท็จจริงแบบนี้เราสามารถแยกดูได้ ถ้าถามว่าเสี่ยงจะมีการร้องหรือไม่ ผมคิดว่ามีการร้องเรียนแน่นอน แต่เราให้ความเป็นธรรมได้” แสวงกล่าว
แสวงยังกล่าวถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กกต. มีหน้าที่ทำประชามติตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย กกต. จะมีปฏิทินการทำงาน หากมีการเสนอการทำประชามติพร้อมการเลือก อบจ. สามารถทำได้ตามทฤษฎีและการบริหาร
ใช้งบ 2 เท่า หากรวมทำประชามติ
แสวงระบุด้วยว่า ในบางจังหวัดมีการเลือกนายก อบจ. ไปแล้ว คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเป็น 2 เท่า และขณะนี้กฎหมายประชามติยังไม่แน่ชัด จึงเห็นว่าการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เช่น จัดการเลือก อบจ. อย่างเดียว คนละวันกับการทำประชามติ
ทั้งนี้ มีรายงานว่ากรณีการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ. กรณีครบวาระในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน คาดว่าวันเลือกตั้งอาจกำหนดเป็นวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 หรือวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568