Nikkei Asia รายงานว่า ในช่วงยุคทองของแพลตฟอร์ม e-Commerce ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหลายๆ แพลตฟอร์มพยายามกำหนดค่าธรรมเนียมที่ต่ำเพื่อดึงร้านค้าเข้ามา แต่วันนี้สภาพตลาดเปลี่ยนไปและมีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้ามา ทำให้การแข่งขันยิ่งทวีคูณมากขึ้น
กระทั่งล่าสุด Shopee และ Tokopedia ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมร้านค้าในอินโดนีเซียสูงสุดถึง 10% ของราคาขาย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าหรือประเภทผู้ขาย จากเดิมที่เคยเก็บสูงสุดเพียง 6.5% แต่ในเดือนเดียวกัน Shopee เพิ่มค่าคอมมิชชันให้แก่ผู้ขายบางรายในอินโดนีเซียเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Shopee 9.9 ทุบสถิติ! คนไทยช้อปทะลุ ‘พันล้าน’ ใน 18 นาที
- Affiliate Marketing มาแรงจน YouTube จับมือ Shopee เปิดตัว YouTube Shopping ในไทย เร็วๆ นี้
- Gen Z ช้อปออนไลน์ก่อนใคร! 68% เริ่มต้นที่อีคอมเมิร์ซ ค้นหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการปรับกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจทำรายได้และกำไรได้มากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งในการปรับตัวรับมือกับแรงกดดันหลังจากโควิดคลี่คลายและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ จากเดิมที่เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ก็กลับไปซื้อสินค้าจากหน้าร้านเพิ่มขึ้น ทำให้การเติบโตของยอดขายชะลอตัวลง
โดย Shopee และ Tokopedia ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตัดสินใจปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่ Kai Wang นักวิเคราะห์หุ้นอาวุโสจาก Morningstar กล่าวว่า หลังจากกำไรสุทธิของทั้ง 2 แพลตฟอร์มลดลง การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมจึงเป็นทางเลือกที่ต้องทำเพื่อเพิ่มผลกำไร แม้ร้านค้าจะไม่พอใจก็ตาม
ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แพลตฟอร์มคู่แข่งหลายค่ายทั้ง Lazada และ TikTok ปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมกันไปแล้ว แต่สิ่งที่หลายค่ายยังทำอยู่คือการขึ้น ค่าคอมมิชชัน โดยในเดือนกรกฎาคมปีนี้ Shopee ก็ปรับขึ้นค่าคอมมิชชันในมาเลเซียไปแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ Shopee ร่วมกับ YouTube เปิดตัวบริการช้อปปิ้งออนไลน์ในอินโดนีเซีย ซึ่งผู้ใช้สามารถซื้อสินค้าที่เห็นในเว็บไซต์สตรีมมิงผ่านลิงก์ของ Shopee โดยทั้งสองบริษัทยังมีแผนที่จะขยายความร่วมมือนี้ไปยังตลาดในประเทศอื่นๆ เช่น ไทยและเวียดนาม
ฝั่งบรรดานักวิเคราะห์คาดว่า แม้ว่าจะมีผู้ค้าบางรายไม่พอใจ แต่ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างมีนัยสำคัญ
ฟังเสียงสะท้อนจากร้านค้าบนแพลตฟอร์มในสิงคโปร์ เป็นชายวัย 35 ปีที่ขายเสื้อผ้าบน TikTok Shop แสดงความเห็นว่า ตนจะยังคงขายบนแพลตฟอร์มต่อไป เนื่องจากการสร้างช่องทางขายของตนเองอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและเสียเวลามากกว่าในการทำการตลาดและการจัดส่งสินค้า ดังนั้นต้องยอมจ่ายเพิ่มหากต้องการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ขณะที่ร้านค้าบางรายหันไปเปิดช่องทางขายเป็นของตัวเอง เจ้าของร้านค้าบนแพลตฟอร์มชาวมาเลเซียระบุว่า เขาขายสินค้าบน Shopee และ Lazada มานาน 2 ปี และขายบน TikTok Shop 1 ปี เมื่อ 3 เดือนก่อนเขาตัดสินใจปิดร้านค้าออนไลน์ทั้งหมด เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นและกรอบเวลาการจัดส่งที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ต้นสูงขึ้นและกำไรลดลงจนไม่สามารถแบกรับได้ไหว
Jianggan Li ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษา Momentum Works ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ในระยะสั้นไม่ได้มองว่าการขึ้นค่าคอมมิชชันจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมหรือจำนวนผู้ค้าที่มีอยู่บนแพลตฟอร์ม
ตั้งแต่ช่วงปี 2010 แพลตฟอร์มอย่าง Tokopedia, Lazada และ Shopee แข่งขันกันด้วยการเสนอส่วนลด โปรโมชัน และค่าคอมมิชชันที่ต่ำ เพื่อดึงดูดความสนใจจนทำให้มีร้านค้าเข้ามาจำนวนมาก
แต่หลังจากโควิดคลี่คลายบวกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้บังคับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องลดการใช้จ่ายและลดจำนวนพนักงานอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับปรุงผลกำไร เนื่องจากนักลงทุนเริ่มหลีกเลี่ยงบริษัทเทคโนโลยีที่ยังขาดทุน
แต่การแข่งขันกลับทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2021 เมื่อ TikTok ได้เปิดตัวบริการ e-Commerce ของตัวเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ฟังก์ชันการไลฟ์ที่ได้รับความนิยมและเพิ่มฐานลูกค้าขนาดใหญ่ พร้อมเสนอค่าคอมมิชชันที่ต่ำกว่า ทำให้ TikTok เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในสินค้าหมวดความงามและแฟชั่น
สิ่งนี้ทำให้ Shopee ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคต้องเปิดเกมรุกด้วยการลงทุนเพิ่มฟังก์ชันการไลฟ์ที่คล้ายกันเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด รวมไปถึง Tokopedia ที่ต้องเผชิญความยากลำบากในการตามให้ทันเทรนด์การแข่งขันจนในที่สุดก็ประกาศขายหุ้น 75% ให้กับ TikTok เมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 โดยการซื้อกิจการจะแล้วเสร็จในปีนี้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล Momentum Works ในปี 2023 Shopee ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาด 48% เมื่อพิจารณาจากปริมาณการค้า สินค้ารวมในภูมิภาค ตามมาด้วย Lazada ที่มีส่วนแบ่ง 16.4% ขณะที่ TikTok และ Tokopedia มีส่วนแบ่งเท่ากันที่ 14.2%
อ้างอิง: