GenAI กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตและการทำงานมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวและพรินเตอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ในการทำงาน
นักวิเคราะห์เรียกปรากฏการณ์ GenAI กับ PC นี้ว่า ‘ยุคทอง Renaissance ของ PC’ เปรียบเทียบได้กับการเปิดตัวของ PC เมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งสร้างระดับการผลิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในโลกนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สัมภาษณ์ซีอีโอ HP Global อนาคตคอมพิวเตอร์ AI
- ผลวิจัยจาก HP เผย ผู้ที่ใช้ AI มีความสุขกับความสัมพันธ์ในการทำงานมากกว่าผู้ที่ไม่ใช้ AI
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลกกำลังพยายามกระโดดเข้าสู่เทรนด์นี้เพื่อคว้าชัยชนะ หนึ่งในนั้นคือ HP ยักษ์ใหญ่กว่า 80 ปีที่ครองตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนตัวและพรินเตอร์
วันที่ 24 กันยายน 2567 ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH เดินทางมาเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมงาน HP Imagine 2024
Enrique Lores ซีอีโอของ HP กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการเชื่อมช่องว่างระหว่างองค์กรกับพนักงานของพวกเขา
“เรารู้ว่าความคาดหวังของทั้งพนักงานและนายจ้างกำลังเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น” เขากล่าว “บริษัทต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนการเติบโต ขณะที่พนักงานต้องการความพึงพอใจทั้งในด้านส่วนตัวและวิชาชีพ”
Lores กล่าวว่า AI เป็นคำตอบของความต้องการนั้น
HP เปิดตัวอุปกรณ์ใหม่และโซลูชันซอฟต์แวร์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่รวมเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ หนึ่งในผลิตภัณฑ์โดดเด่นคือ HP OmniBook Ultra Flip แล็ปท็อป AI 2-in-1 รุ่นแรกที่ออกแบบมาสำหรับนักสร้างสรรค์ AI และ HP EliteBook X สำหรับการใช้งานในธุรกิจ นอกจากนี้ HP ยังเปิดตัว Z by HP Gen AI Lab และ Z by HP Boost ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงทรัพยากร GPU ได้ตามความต้องการ ช่วยลดความจำเป็นในการใช้แพลตฟอร์มคลาวด์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง
คำถามคือ แล้ว AI PC ต่างจากการใช้ AI ทั่วไปอย่างไร เช่น ChatGPT หรือ Gemeni
Alex Cho, President of Personal Systems Business ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า “หัวใจคือเรื่องความปลอดภัย คุณไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลของคุณจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เพราะข้อมูลนั้นจะอยู่ในคอมพิวเตอร์ของคุณเท่านั้น”
ปัญหาหลักของการใช้งาน AI ในปัจจุบันคือผู้ใช้จำเป็นต้องส่งข้อมูลส่วนตัวไปประมวลผลบนคลาวด์ของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกแฮ็กหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ Alex Cho ยืนยันกับเราว่า สำหรับ AI PC ของ HP ข้อมูลทุกอย่างจะถูกประมวลผลในเครื่องโดยตรง ไม่ต้องส่งออกไปยังเซิร์ฟเวอร์ภายนอก ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ในความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ AI PC ของ HP ยังมีศักยภาพในการรันโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ได้ภายในอุปกรณ์เอง ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้สามารถทำงานกับข้อมูลจำนวนมากได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการประมวลผลบนคลาวด์ ข้อนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับมืออาชีพในสายงานสร้างสรรค์และครีเอเตอร์ที่ต้องการทั้งความเร็วและความปลอดภัยในการทำงาน
ความร่วมมือกับผู้ขายซอฟต์แวร์อิสระ (ISVs)
HP ไม่เพียงเน้นไปที่ฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่การสร้างโซลูชันซอฟต์แวร์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดองค์กร โดยในงาน HP Imagine 2024 HP เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือกับผู้ขายซอฟต์แวร์อิสระ (ISVs) ยกตัวอย่างเช่น Zoom ที่ร่วมมือในการพัฒนาโซลูชันที่ใช้พลังการประมวลผลของ AI PC เหล่านี้ เพื่อสร้างการประชุมทางไกลที่ตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต
HP เชื่อว่าการทำงานร่วมกันช่วยให้ HP ก้าวข้ามบทบาทของการเป็นผู้ขาย PC แบบเดิมๆ สามารถนำเสนอความสามารถด้านซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือ แต่ยังเป็นโซลูชันที่ปรับแต่งมาเพื่อผู้ใช้เฉพาะกลุ่มได้อีกด้วย
การปรับตัวของเครื่องพิมพ์ในโลกของ AI
HP ยังชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยี AI ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในผลิตภัณฑ์ PC เท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงเครื่องพิมพ์ ซึ่งเป็นตลาดที่ HP ถือครองส่วนแบ่งใหญ่ บริษัทได้แสดงนวัตกรรมใหม่ที่ผสมผสาน AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องพิมพ์ เช่น ฟีเจอร์ ‘Perfect Output’ ซึ่งสามารถจัดระเบียบและจัดการเนื้อหาให้พอดีกับขนาดกระดาษโดยอัตโนมัติ รวมถึงความสามารถในการตรวจจับและลบเนื้อหาที่ไม่จำเป็นอย่างโฆษณาหรือข้อความบนเว็บ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์เนื้อหาที่ต้องการได้โดยไม่เปลืองทรัพยากร
นอกจากนี้ยังนำเสนอผู้ช่วยดิจิทัลที่คล้ายกับ ChatGPT ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานร่วมกับเครื่องพิมพ์โดยเฉพาะ ช่วยให้กระบวนการพิมพ์มีความเรียบง่ายและรวดเร็วขึ้น
ใครจะเป็นผู้ชนะในเกม AI PC
แน่นอนว่า AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนได้ใช้งาน AI ในชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่รูปแบบของ AI ที่ถูกฝังใน PC หรือพรินเตอร์ กำลังกลายเป็นหัวข้อสนทนาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
HP คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า 40-60% ของ PC ทั้งหมดจะเป็น AI PC ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ในการเติบโตของธุรกิจ PC
อย่างไรก็ตาม HP ไม่ใช่แบรนด์เดียวที่มุ่งมั่นพัฒนาในด้านนี้ แบรนด์อย่าง Dell และ Lenovo ก็พัฒนาเทคโนโลยี AI ในผลิตภัณฑ์เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในงานต่างๆ เช่น การจัดการแบตเตอรี่ ความปลอดภัย และการทำงานร่วมกันจากระยะไกล
รวมถึงแบรนด์ใหญ่อย่าง Microsoft และ Apple ที่นำ AI มาใช้งานในระบบปฏิบัติการ ความปลอดภัย และประสบการณ์การใช้งาน ตัวอย่างเช่น Microsoft มี Windows Copilot AI ที่รวมอยู่ใน Windows 11 เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
คำถามว่าแบรนด์ใดจะทำได้ดีกว่ากัน ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะในสมรภูมิใหม่ คำตอบคงอยู่ที่ ‘ผู้ใช้งาน’ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ PC กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง
อ้างอิง:
- Zacks Equity Research, Yahoo Finance