ผลการเลือกประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาทั้ง 21 คณะ สิ้นสุดลงแล้ว เรียกได้ว่าองค์ประกอบต่างๆ ของวุฒิสภาชุดนี้เริ่มเข้ารูปเข้ารอย และที่สำคัญคือ เป็นไปตาม ‘โผ’ ที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านี้แทบจะ 99%
โฉมหน้าของกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา นอกจากจะสะท้อนกลไกการตรวจสอบของสภาสูงชุดปัจจุบันแล้ว ยังเป็นตัวบ่งบอกประสิทธิภาพในการ ‘คุมเสียง’ ของ สว. แต่ละสายอีกด้วย ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ‘สว. สีน้ำเงิน’ ยังคงเข้มแข็งไม่เปลี่ยนแปลง
THE STANDARD พามองลึกลงไปกว่าชื่อของประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 21 คน และชวนวิเคราะห์ถึงการทำงานของ สว. ชุดนี้ ว่าจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะยัง ‘ผิดฝาผิดตัว’ อย่างที่โดนปรามาสไว้?
บรรดา สว. ทยอยเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการนัดแรกในวันที่ 24 กันยายน 2567
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ฐานที่มั่นหนึ่งเดียวของ ‘สว. พันธุ์ใหม่’
แม้ในภาพรวมจะดูเหมือนว่า สว. สีน้ำเงิน ที่เป็นเสียงข้างมากจะสามารถยึดกุมกรรมาธิการตลอดจนเก้าอี้ประธานคณะได้แทบทั้งหมด แต่ยังเหลือกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สายสีน้ำเงินยังไม่สามารถ ‘ล็อกตัว’ ประธานคณะได้
ตามรายงานก่อนหน้าของ THE STANDARD ที่เปิดเบื้องหลังการแย่งชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ระหว่าง สว. สีน้ำเงิน และ สว. พันธุ์ใหม่ แม้จะต้องสังเวย นันทนา นันทวโรภาส สว. ที่หลุดออกไปในรอบเลือกกันเอง แต่ก็เป็นผลให้ สว. ทั้งสองสายในกรรมาธิการนี้เหลือ 9 เสียงเท่ากัน
ช่วงเช้าวันนี้ (24 กันยายน) กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ตบเท้าเข้าห้องประชุมเพื่อวัดกำลังครั้งสุดท้ายในการเลือกประธานคณะ ระหว่าง อังคณา นีละไพจิตร จากกลุ่ม สว. เสียงข้างน้อย กับ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ที่ สว. เสียงข้างมากเสนอชื่อขึ้นมาในนาทีสุดท้าย แทนที่จะเป็น นิฟาริด ระเด่นอาหมัด ตามที่ปรากฏชื่อก่อนหน้านี้
นันทนา นันทวโรภาส สว. นั่งรอฟังผลการเลือกประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ที่หน้าห้องประชุม
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ที่ประชุมได้ลงมติกันถึง 2 รอบ และได้คะแนน 9 ต่อ 9 เท่ากัน ตามข้อบังคับจึงต้องใช้วิธีการจับสลาก และเมื่อวีระศักดิ์จับได้สลากเสีย เป็นผลให้อังคณาได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการโดยทันที
ทั้งสองแคนดิเดตเดินเคียงข้างกันออกมาจากห้องประชุม ก่อนให้สัมภาษณ์ต่อกับสื่อมวลชน โดยขอบคุณซึ่งกันและกันพร้อมยืนยันว่า ได้พูดคุยกันก่อนหน้านี้แล้วว่า “ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานคณะก็จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน” และวีระศักดิ์เองก็ได้เผยว่า ตั้งใจจะ ‘ลบรอยร้าวเล็กๆ’ รวมทั้งสร้างความสมานฉันท์
กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ จึงน่าจับตามองว่าต่อจากนี้จะมีบทบาทอย่างไร นอกจากเป็น ‘ฐานที่มั่นสุดท้าย’ ซึ่งมี สว. พันธุ์ใหม่ เป็นประธานคณะแล้ว ก็อาจเป็นก้าวแรกของการเชื่อม ‘รอยร้าว’ ระหว่าง สว. แต่ละฝ่าย ให้สามารถร่วมงานและแลกเปลี่ยนกันได้ในบางวาระหรือไม่
อังคณา นีละไพจิตร (ขวา) ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ให้สัมภาษณ์ร่วมกับ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี สว.
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
‘สีน้ำเงิน’ ยังแน่นแฟ้นหรือเริ่มแปรปรวน
สำหรับ สว. สีน้ำเงิน เองก็ยังแสดงพลังความเป็นเอกภาพเช่นเดิม ด้วยคะแนนเสียงกว่า 150 เสียง ทำให้สามารถส่ง สว. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดกระทรวงต่างๆ เข้ายึดกุมเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการได้ทุกคณะ แม้จะเสียเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ก็ไม่ได้มีผลมากนัก
เนื่องจากแม้จะเสียเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ แต่ สว. สีน้ำเงิน ยังสามารถส่ง สว. เข้าไปเป็นตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่างเช่น แดง กองมา สว. ที่มีอาชีพค้าขายเนื้อหมู ได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ คนที่ 3 ขณะที่วีระศักดิ์ได้เป็นประธานคณะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
อย่างไรก็ตามเมื่อมองดูก็พบว่า ร่องรอยความแปรปรวนบางประการ ทั้งการปรับเปลี่ยนบางรายชื่อ เช่น การสลับวีระศักดิ์มาชิงเก้าอี้ประธานแทนนิฟาริด หรือแม้กระทั่งกรรมาธิการแรงงานที่ผลออกมาไม่เป็นไปตาม ‘โผ’ ที่ปรากฏก่อนหน้า
จากที่คาดการณ์ว่า ชินโชติ แสงสังข์ อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย จะได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการแรงงานนั้น ผลปรากฏว่า วิรัตน์ รักษ์พันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กลับได้เป็นแทน ถึงอย่างไรก็ถือเป็น สว. สีน้ำเงิน เหมือนกัน
ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ชินโชติได้ขอถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานเอง โดยแหล่งข่าวในกรรมาธิการแรงงานคาดว่าอาจมีปัญหาเรื่องการต่อรองในกลุ่ม สว. สีน้ำเงิน
ขณะเดียวกันกรรมาธิการแรงงานถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีโอกาสเชื่อมประสานโดยตรงกับกระทรวงแรงงานที่มีรัฐมนตรีจากสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย และสังเกตได้จาก สว. ในคณะกรรมาธิการนี้จำนวน 18 คน มี สว. สายสีน้ำเงิน มากถึง 16 คน ยกเว้น แล ดิลกวิทยรัตน์ และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย
แดง กองมา สว. ที่ทำอาชีพค้าขายเนื้อหมู ได้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ คนที่ 3
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
เปิดตัวตนประธานคณะกรรมาธิการ 21 คณะ ใครเป็นใคร
- อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ
- พล.ต.ท. บุญจันทร์ นวลสาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายและการยุติธรรม
- ธวัช สุระบาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
- วุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม
- นิรัตน์ อยู่ภักดี เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ
- พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา อดีตฝ่ายอำนวยการประธานคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ
พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ และหนึ่งในผู้คุมเสียง สว. สีน้ำเงิน คนสำคัญ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- พิศูจน์ รัตนวงศ์ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและเรือรับนักท่องเที่ยว เป็นประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬา
- นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม
- พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 เป็นประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน
- อภิชาติ งามกมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น
- พรเพิ่ม ทองศรี อดีตหัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และพี่ชายของ ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันจากพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน
- วราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม
อลงกต วรกี ประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม
- วิรัตน์ รักษ์พันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน
- เอมอร ศรีกงพาน ประธานคณะสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม
- กมล รอดคล้าย อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- กัมพล สุภาแพ่ง เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง
- ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข
- พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- อลงกต วรกี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ
- ชีวะภาพ ชีวะธรรม อดีตหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ เป็นประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม