“น้ำท่วมภาคเหนือรุนแรงขึ้นทุกปี กรมชลประทานต้องเผชิญกับความท้าทายในการรับมือ”
สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหา วันนี้ THE STANDARD พาไปพูดคุยกับ นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เจาะลึกสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม มาตรการรับมือก่อนน้ำมา และแนวทางการแก้ไขวิกฤตน้ำท่วมทั้งระยะสั้นและระยะยาวของกรมชลประทาน
ภาพรวมของปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือในปัจจุบัน
“ปีนี้ฝนตกย้ำที่เดิมในปริมาณที่มากกว่า 2-3 ปีที่แล้ว ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงกว่าเดิม”
รองฯ เดชเล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากพายุยางิที่พัดผ่านประเทศเมียนมา ประกอบกับปริมาณฝนในประเทศไทยที่มากกว่าปกติตั้งแต่ช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ฝนตกหนักติดต่อกัน โดยปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งในลำน้ำนานาชาติ เช่น แม่น้ำสาย แม่น้ำกก และแม่น้ำโขง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือน ถนน สะพาน และอาคาร รวมไปถึงพื้นที่เกษตรกรรม อย่างกว้างขวาง และยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากกว่าปีก่อนๆ
นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งปัจจัย คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนตกหนักในระยะเวลาอันสั้น หรือที่เรียกว่า ‘ระเบิดฝน หรือ Rain Bomb’ ซึ่งถึงแม้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันแล้วหายไปอย่างรวดเร็ว เช่น จังหวัดน่าน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ทางกรมชลประทานจะคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แต่การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนจาก Rain Bomb ยังคงซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูง
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของกรมชลประทานที่ต้องเตรียมความพร้อม และปรับปรุงแผนงานในการรับมือกับน้ำท่วมจากฝนที่เทกระหน่ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กรมชลประทาน ป้อมปราการรับมือน้ำท่วม
รองฯ เดชเปิดเผยว่า กรมชลประทานเร่งดำเนินมาตรการที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หากพื้นที่ใดมีเครื่องมือก็จะสามารถเข้าไปจัดการผันน้ำได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา แต่ในกรณีน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ซึ่งไม่มีเครื่องมือผันน้ำ จึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเมื่อระดับน้ำลดลง โดยเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้กรมชลประทานยังสร้างคันกั้นน้ำเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของน้ำในพื้นที่ อีกทั้งยังติดตามและปรับปรุงมาตรการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
คาดการณ์-ปรับปรุง-เร่งแจ้งเตือนประชาชน แผนเตรียมพร้อมรับมือก่อนน้ำท่วม
เมื่อถามถึงแผนการเตรียมตัวรับมือในฤดูฝนก่อนเกิดน้ำท่วม รองฯ เดชเล่าให้ฟังเป็นลำดับขั้นว่า
“เริ่มจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง โดยกรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณฝนคาดการณ์ 3-6 เดือนล่วงหน้า และพัฒนาระบบพยากรณ์น้ำท่วมโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์”
หลังจากนั้นจะระบุพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง รวมทั้งวางแผนปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำและอาคารควบคุมบังคับน้ำ นอกจากนี้ยังขุดลอกและกำจัดวัชพืชรวมถึงสิ่งกีดขวางในทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ในส่วนของการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้กับประชาชน รองฯ เดชแจ้งว่า “จะประสานงานไปยังหน่วยงานในพื้นที่และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 3 วัน แต่ในอนาคตควรพิจารณาการแจ้งเตือนผ่าน SMS เพื่อให้ประชาชนพร้อมรับมือกับน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที”
ยิ่งไปกว่านั้นกรมชลประทานยังเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ โดยจัดเตรียมเครื่องจักร อุปกรณ์ อาคารชลศาสตร์ และระบบโทรมาตร พร้อมจัดส่งบุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและเตรียมศูนย์อพยพให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากและฝนทิ้งช่วง
พัฒนาระบบการคาดการณ์-สร้างเส้นทางอ้อมน้ำ แผนรับมือระยะยาวต่ออุทกภัย
เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่คาดไม่ถึงในอนาคต รองฯ เดชเห็นว่า จำเป็นต้องพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำให้มีความแม่นยำขึ้น เพื่อให้สามารถผันน้ำไปตามโครงสร้างที่มีอยู่เดิมอย่างเป็นระบบ
โดยทางกรมชลประทานได้กำหนดมาตรการตรวจสอบและติดตามความมั่นคงของโครงสร้างเดิม เช่น คันกั้นน้ำ ทำนบและพนังกั้นน้ำ อยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วม
อย่างไรก็ตามหากปริมาณน้ำมีแนวโน้มที่ล้นเกินกว่าจะรับไหวจะเร่งพัฒนาและกักเก็บน้ำเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และหาแนวทางการสร้างเส้นทางน้ำอ้อมจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในจุดเดิมซ้ำอีก
‘การบูรณาการ’ กุญแจสำคัญในการป้องกันอุทกภัยอย่างยั่งยืน
รองฯ เดชย้ำว่า การป้องกันภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมี ‘การบูรณาการระดับภูมิภาค’ โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและน้ำในลำน้ำ รวมถึงการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างกันเพื่อให้รับมือกับสถานการณ์น้ำที่กำลังไหลเข้ามาได้อย่างทันเวลา
นอกจากนี้ยังคงต้องมุ่งเน้นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับจังหวัด รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายภาคประชาชน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนทุกภาคส่วน
รองฯ เดชกล่าวสรุปอย่างมีนัยสำคัญว่า “ปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการแก้ไขอย่างรอบคอบ กรมชลประทานพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหานี้ แต่ยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงภาคประชาชน เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากที่สุด”