×

อย่าปล่อยให้ Gen Z หมดไฟ! 7 เคล็ดลับ HR ดึงคนรุ่นใหม่กลับมาทุ่มเทให้งาน และอยากอยู่กับองค์กรไปนานๆ

22.09.2024
  • LOADING...

พนักงานคือ ‘ตัวแปรสำคัญ’ ในการเติบโตขององค์กรสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ที่เข้ามามีบทบาทในองค์กรมากขึ้น HR จึงต้องมีวิธีในการรักษาพนักงานให้มีความมุ่งมั่นและมีทัศนคติที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจและพร้อมร่วมงานไปนานๆ

 

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ BTS Thailand ภายใต้กลุ่มบริษัท BTS Group AB กล่าวว่า “ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน ทำให้เราได้ยินเรื่อง ‘ภาวะหมดไฟ’ กันบ่อยขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพนักงานหลายคนกำลังเผชิญกับความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งกับ Gen Z ที่มักต้องเผชิญกับการปรับตัวในช่วงเริ่มต้นอาชีพ การขาดแรงจูงใจอาจนำองค์กรไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น ผลงานที่ย่ำแย่ รายได้ที่ลดลง คุณภาพการบริการลูกค้าต่ำลง และชื่อเสียงของแบรนด์ที่อาจได้รับผลกระทบ”

 

จากการสำรวจของ Gallup พบว่า องค์กรที่พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมสูงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 20% และลดอัตราการลาออกได้ถึง 40% ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่าองค์กรจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องทำความเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของ Gen Z ต่อไปนี้คือ 7 แนวทางที่สามารถช่วยเพิ่มแรงจูงใจและประสิทธิภาพของทีม สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้น และทำให้ Gen Z รู้สึกมีส่วนร่วมและมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น ลองมาพิจารณาดูว่าแนวทางไหนบ้างที่จำเป็นสำหรับองค์กรของคุณ

 

1. ให้ฟีดแบ็กที่ตรงจุดอย่างสม่ำเสมอ

 

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความมีส่วนร่วมของทีมคือ การให้ฟีดแบ็กกับคนในทีมอย่างตรงไปตรงมาและสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่การประเมินประจำปี แต่การหาโอกาสในการพูดคุยสนทนาแบบตัวต่อตัวจะนำไปสู่การพัฒนาและความเข้าใจกันได้มากขึ้น 

 

การให้ฟีดแบ็กเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการทำงาน ความท้าทาย และเป้าหมายส่วนบุคคล แสดงให้เห็นถึงการใส่ใจต่อการเติบโตของพนักงานและความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ เมื่อพนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและได้รับการรับฟังจะเกิดความกระตือรือร้น และทุ่มเทอย่างเต็มที่ เต็มใจ ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น

 

2. มอบอำนาจและให้อิสระในการทำงาน

 

Gen Z ชอบการทำงานที่มีอิสระและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เมื่อพนักงานรุ่นใหม่ๆ มีอิสระในการตัดสินใจ รู้สึกได้รับความไว้วางใจ พนักงานมักจะกล้าคิดสร้างสรรค์ กล้าเสนอไอเดีย มีความมุ่งมั่นในการทำงานและพัฒนาผลงานหรือโปรเจกต์ที่รับผิดชอบให้ดีมากขึ้น 

 

สิ่งสำคัญคือ ผู้นำองค์กรหรือหัวหน้าจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย และได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่ทำ

 

3. ยอมรับและฉลองความสำเร็จ

 

หัวหน้างานสามารถเฉลิมฉลองผลงานที่โดดเด่น พฤติกรรมที่อยากสนับสนุน และชัยชนะเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะผ่านรางวัล ใบประกาศเกียรติคุณ หรือแม้แต่แสดงความชื่นชมในที่ประชุม ก็สามารถยกระดับจิตใจของทีมงานได้ 

 

เป็นการขอบคุณที่แต่ละคนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคมากมายมาได้ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป ทำให้ทีมงานรู้สึกมีคุณค่าและสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ทุกคนมุ่งมั่นทำผลงานที่ดีที่สุดของตนเอง

 

4. สร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน

 

ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่ Gen Z ให้ความสำคัญ การทำงานระยะไกล เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการให้พนักงานจัดการเวลาของตัวเอง ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว เมื่อพนักงานมีอิสระในการจัดการเวลาของตัวเองจะทำให้รู้สึกมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การทำงานในทีมดีขึ้นตามไปด้วย

 

5. หมั่นพัฒนาพนักงานด้วยการจัดอบรมหรือเวิร์กช็อป

 

เมื่อผู้นำองค์กรหรือหัวหน้างานสนับสนุนความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้คน Gen Z รู้สึกมีส่วนร่วม เพราะเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง องค์กรสามารถสนับสนุนการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นได้ เช่น การกำหนดเป้าหมายอาชีพ ระบุโอกาสในการฝึกอบรม หาเครื่องมือที่ช่วยนำสิ่งที่เรียนไปปรับใช้จริงให้ได้ และติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง 

 

ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหัวหน้างานและคนในทีม ที่ช่วยให้แต่ละคนเห็นชัดถึงเส้นทางที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับองค์กร มีแนวโน้มที่จะอยู่และเติบโตไปกับองค์กรมากขึ้น

 

6. ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being)

 

การให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีเป็นหนทางสร้างสุขให้กับพนักงานที่แต่ละองค์กรควรมีเอาไว้ เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีคือพื้นที่ที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี เช่น การจัดโปรแกรมสุขภาวะ การดูแลด้านสุขภาพจิต หรือแม้แต่การวางแผนกิจกรรมสนุกๆ สามารถเพิ่มความพึงพอใจและความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ลดความเครียดและการลางาน เพิ่มความพร้อมในการทำงาน และส่งเสริมผลการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

7. สื่อสารอย่างเปิดกว้างและโปร่งใส

 

สุดท้ายนี้ Gen Z ต้องการการสื่อสารที่ชัดเจนและเปิดกว้าง การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอัปเดตของบริษัท เป้าหมาย และความท้าทายต่างๆ จะสร้างความรู้สึกไว้วางใจ การพูดคุยกันอย่างเปิดกว้าง ตรงไปตรงมา จะช่วยให้ทุกคนรู้สึกเห็นเป้าหมายเดียวกัน เชื่อมโยงกับเป้าหมายขององค์กรมากขึ้นและทำงานเพื่อความสำเร็จขององค์กรไปด้วยกัน

 

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การสร้างแรงจูงใจให้กับ Gen Z ไม่ได้ยากอย่างที่คิด การให้ความใส่ใจคนในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะพูดคุยสื่อสารกับพนักงานให้ชัดเจน รวมไปถึงการจัดอบรมพัฒนาทักษะอย่างสม่ำเสมอ 

 

ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงาน กระตุ้นให้แต่ละคนมีใจรักในการทำงาน และให้ความร่วมมือในการผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนในที่สุดด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising