วันนี้ (18 กันยายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเป็นอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ห่วงการลดดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจกระทบเศรษฐกิจไทย พร้อมมองเงินเฟ้อไทยต่ำเกินไป เตรียมนัดถกกรอบเงินเฟ้อเร็วๆ นี้
พิชัยกล่าวถึงมุมมองต่อการดำเนินดอกเบี้ยนโยบายไทยอีกว่า “สมมติว่าผมเป็นนักวิชาการก็คิดว่า เมื่อประเทศมหาอำนาจลดดอกเบี้ย ปกติประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เรื่องเงินทองผูกติดกับสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก ทุกครั้งที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยก็จะมีผลกระทบต่อเงินไหลเข้า-ไหลออกไทยพอสมควร หรือเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินก็จะอ่อน แต่พอ Fed ลดดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็จะแข็ง”
อย่างไรก็ตาม พิชัยยืนยันว่า การกำหนดนโยบายดอกเบี้ยเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้ง 7 ท่านที่จะดูหลายปัจจัยประกอบ เช่น เงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ
ความคิดเห็นของพิชัยมีขึ้นก่อน Fed แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FOMC) ในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25%
จ่อถก ธปท. เรื่องกรอบเงินเฟ้อ มองเงินเฟ้อไทยต่ำเกินไป
นอกจากนี้ พิชัยยังเปิดเผยว่า ได้นัดคุยกับ ธปท. เพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแล้ว โดยยังคงยืนยันจุดยืนเดิมที่มองว่าเงินเฟ้อไทยต่ำเกินไปจนอาจกระทบผู้ผลิตได้
“ส่วนตัวมองว่าปัจจุบันสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น รัฐบาลก็มีนโยบายที่ชัดเจนขึ้น ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา ตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าปัจจุบันเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเร่งเศรษฐกิจเพื่อให้โตขึ้นหน่อย ดังนั้นเงินเฟ้อก็ต้องขึ้นหน่อย เนื่องจากเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างต่ำ แม้หลายคนบอกว่ามองไปข้างหน้าเดี๋ยวก็จะสูง แต่เงินเฟ้อไทยไม่เคยเดี๋ยวสูง และจะต่ำอยู่เรื่อย” พิชัยกล่าว
พร้อมทั้งระบุอีกว่า “เงินเฟ้อไทยต่ำเกินไป แม้คนซื้อของจะมองว่าดี แต่มุมผู้ขายไม่ค่อยชอบ ผู้ผลิตก็จะมีปัญหา ทำให้ต้องหยุดผลิต เมื่อหยุดผลิตก็จะทำให้ของขาดตลาด ราคาสินค้าก็จะกลับมาแพงขึ้นอีก ดังนั้นการมีค่าเงินเฟ้อที่เหมาะจึงเป็นเรื่องดี”
สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ดี ในมุมมองของพิชัยคือต้องพิจารณาร่วมกับสถานการณ์โลก เพื่อนบ้าน และคู่แข่งด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะให้ ธปท. เป็นผู้พิจารณาหลัก
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (Headline CPI) ล่าสุดเดือนสิงหาคม 2567 ชะลอตัวเหลือ 0.35%YoY แทบรั้งท้ายประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2567 อยู่ที่ 0.15% ส่วนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อยู่ที่ 1-3%