วันนี้ (15 กันยายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและแนวโน้มสถานการณ์ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมด้วย ศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาร่วมประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์น้ำด้วย
อนุทินระบุว่า จากการลงพื้นที่ ตนยืนยันว่าหน่วยงานทุกหน่วยงานมีความทุ่มเท มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นภาพที่เห็นแล้วเป็นความร่วมมือที่ดี เข้มแข็ง มีทั้งหน่วยงานปกครอง ราชการ ตำรวจ ทหาร ล้วนแล้วแต่อยู่ในพื้นที่ ที่น่าปลื้มใจองค์กรในส่วนต่างๆ มูลนิธิระดมเข้าไป สิ่งที่เห็นที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือเราอาจจะยังทำเรื่องของการป้องกันได้ไม่เต็มที่ แต่ในเรื่องของการบรรเทา ในเรื่องของการดูแลคุณภาพจิตใจ สภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน คิดว่าเราได้ทำอย่างเต็มที่
“อย่างผมไปจังหวัดหนองคาย ลงพื้นที่ไปหลายชุมชน ตอนแรกคิดว่าลงไปแล้วจะช่วยผ่อนคลายสภาพความตึงเครียดของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างไร กลับกลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้นมีสภาพจิตใจและอารมณ์ดีมาก จนผมจุกอกเลยนะครับ ว่าเขาโดนภัยธรรมชาติขนาดนี้ เขายังมีรอยยิ้ม มีกำลังใจในการโต้ตอบสื่อสารกันด้วยความเป็นมิตร อันนี้ผมกราบเรียน ผมลงไปคิดว่าจะระมัดระวังตัวว่าจะทำอย่างไร จะไปรับคำตำหนิคำวิพากษ์วิจารณ์จากชาวบ้านโดยตรง แต่ปรากฏว่าเขาให้กำลังใจพวกเรา” อนุทินกล่าว
ส่วนเรื่องการเยียวยา ตอนนี้ได้รับข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีมาว่า ให้กระทรวงมหาดไทยช่วยกันเรื่องการสำรวจความเสียหายของครัวเรือนต่างๆ ซึ่งน่าจะมีแนวทางในการชดเชยเยียวยาค่าเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนเป็นรายครัวเรือน เรื่องนี้ต้องเร่ง อย่าชักช้าเด็ดขาด ท่านนายกรัฐมนตรีเตรียมงบประมาณส่วนนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว ในส่วนการเยียวยาเพิ่มเติมจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็ได้รับข้อสั่งการและนำเสนอท่านนายกรัฐมนตรีผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการเห็นชอบในหลักการ แต่ในเรื่องการดำเนินการก็น่าจะอยู่ภายใต้อำนาจการจัดการของกระทรวงมหาดไทย
อนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีการเตรียมการ มอบหมายความรับผิดชอบ รวมถึงผู้ที่จะต้องช่วยให้การป้องกันทั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และ กรมชลประทาน ส่วนบรรเทาสาธารณภัยคือกระทรวงมหาดไทย จังหวัด ทหาร ตำรวจ ส่วนการเยียวยาพี่น้องประชาชน นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งจัดทำบัญชีรวบรวมศึกษาข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนรายหลังคาเรือน เพื่อให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้การสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนาม คาดว่าวันอังคารที่ 17 กันยายนนี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนบางจังหวัดที่คลี่คลายลงก็ต้องเข้าไปฟื้นฟูชะล้างเคหสถาน รัฐบาลจะจัดเจ้าหน้าที่ เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ เข้าช่วยเหลือประชาชนเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน คืนสภาพให้เข้าสู่ปกติโดยเร็วที่สุด โดยย้ำว่าเครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากร เครื่องจักร ตลอดจนแผนดำเนินการถูกจัดตั้งขึ้นมาให้ทุกจังหวัดรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ความมั่นใจว่าพวกเราไม่ทอดทิ้งพี่น้องประชาชน และมีความพร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยา
ส่วนสถานการณ์น้ำจังหวัดหนองคายขณะนี้ อนุทินกล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ไปเมื่อวานนี้ (14 กันยายน) มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ซึ่งทราบว่าเช้านี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร ทางพื้นที่เร่งทำคันดินและพนังกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเอาไว้ ส่วนพื้นที่ริมตลิ่งถือเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่สามารถปรับตัวได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็เร่งเกลี่ยทางเพื่อให้น้ำระบายออกจากพื้นที่ได้สะดวก ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไร คาดว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอีสานจะไม่หนักเท่าพื้นที่ภาคเหนือ แต่จังหวัดหนองคาย นครพนม และบึงกาฬ มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์แล้ว
ส่วนงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย อนุทินกล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดขออนุมัติงบประมาณไปแล้ว 100 ล้านบาท โดยจังหวัดใดก็ตามที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย มีเงินทดลองเบื้องต้น 20 ล้านบาท แต่หากไม่เพียงพอ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถขอขยายวงเงิน โดยกรมบัญชีกลางจะเร่งดำเนินการให้ในช่วงนี้