เวลาที่เริ่มปวดใจกับความรักและความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความน้อยใจ, สงสัย, กังวล, กลัว, หวาดระแวง หรืออีกหลากหลายอารมณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่เราต่างต้องการคือใครสักคนที่พร้อมรับฟังโดยไม่ตัดสิน การมีเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจอยู่เคียงข้างถือเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรึกษาคนใกล้ตัวกลับทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิมด้วยการถูกติเตียน ดุ หรือว่า บ้างก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง บ้างก็ถูกตัดจบไปดื้อๆ ด้วยประโยคที่ว่า “เรื่องแค่นี้เอง” หรือ “เธอคิดมากไปแล้ว”
เมื่อไรที่เริ่มรู้สึกว่าต้องการใครสักคนที่รับฟังปัญหาความรักโดยไม่ตัดสิน พร้อมแนะทางออกให้กับสิ่งที่คาใจได้ เราอยากลองชวนให้ไปปรึกษานักสุขภาพจิตกันดู แล้วจะรู้ว่าเซฟโซนนั้นมีอยู่จริง
ล่าสุดเรามีโอกาสได้ลองแวะเข้าคลินิกสุขภาพจิตครั้งแรกที่ Mental Well Clinic พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกช่วงวัยและครอบคลุมทุกปัญหา ตั้งแต่ปัญหาทั่วไปอย่างความเครียด, ซึมเศร้า, การเข้าสังคม, การพัฒนาตนเอง, ปัญหาในวัยเรียน ตลอดจนความสัมพันธ์ในคู่รักและครอบครัว โดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพใจ, แพทย์, นักจิตบำบัด, นักศิลปะบำบัด, นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาพัฒนาการ ให้บริการอย่างใกล้ชิด
งานนี้เราเลยถือโอกาสล้วงลึกพูดคุยถึงปัญหาความรักส่วนใหญ่ที่เกิดในสังคมยุคปัจจุบันกับ 2 นักสุขภาพจิต แนท-ธัญรดี กองมณี (CEO of Mental Well Clinic) ร่วมกับ อายส์-ชนนี ปีตะนีละผลิน (Co-founder of Mental Well Clinic) สองผู้ก่อตั้งที่มีความหวังใจว่า พื้นที่แห่งนี้จะช่วยให้สังคมมีสุขภาพจิตที่ดีและใช้ชีวิตปกติสุขได้อย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับเราที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นแนวทางที่ดีต่อการรับมือกับความรู้สึกของตัวเองและความสัมพันธ์มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ว่านาทีนี้คุณจะรู้สึกอย่างไร ขอให้รู้ว่าสิ่งที่คุณรู้สึกนั้นไม่มีผิด ไม่มีถูกจริงๆ
ภาวะที่เรารู้สึกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีคู่อยู่ตลอด (Codependency) เกิดจากอะไร
Mental Well Clinic: Codependency แปลว่าเราต้องมีคู่อยู่ตลอด ถ้าตามทฤษฎีมันจะมีคำว่า Emptiness ซึ่งต้องรื้อไปจนถึงตั้งแต่เกิดว่า Attachment ที่มีเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจากสเต็ปแรก ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ ตอนนั้นมันถูกพัฒนาได้ดีไหม ถ้าคำว่าแม่ที่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกมันมีอยู่จริงๆ ในอนาคตเขาก็จะพึ่งพาตัวเองได้ (Independent) เชื่อมั่นในตัวเอง มีพลังใจ สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าในช่วงเริ่มต้นมันเหมือนติดกระดุมผิดเม็ด อนาคตเขาก็ต้องหาคนมาอยู่เคียงข้างไปเรื่อยๆ
เหมือนว่าสายสัมพันธ์ของแม่ลูกจะสามารถส่งผลต่อความสัมพันธ์ในเชิงคนรักได้
Mental Well Clinic: ใช่ เปรียบเทียบง่ายๆ หัวใจมี 4 ห้อง ความรัก 4 ห้องมีอะไรบ้าง อันแรกคือครอบครัว อันที่สองคือเพื่อน สามคือคู่รัก และสี่ สุดท้ายคือตัวเอง ฉะนั้นสุขภาพจิตจะเน้นถึงเรื่องความรู้สึก ความคิดที่สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรม
ตั้งแต่แรกเกิดคนเราจะมีพัฒนาการทางสังคม ตรงนี้มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กคนหนึ่งพัฒนาความรู้สึกหรือพัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่น มีใครทำให้เขารู้สึกเชื่อใจไหม เขารู้สึกปลอดภัยไหม เขามีคนคอยอยู่ข้างๆ หรือเปล่า การที่คนคนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นแบบไหนมันก็อยู่ที่สิ่งแวดล้อมตอนเด็ก บางคนตอนเด็กๆ ไม่มีใครทำให้เขารู้สึกเชื่อมั่นได้เลย ถูกปล่อยปละละเลย นอนอยู่คนเดียวตลอด ร้องไห้ คนในครอบครัวไม่มีใครสนใจ ก็ไม่แปลกที่ว่าพอโตมาแล้วทำไมเขาถึงรู้สึกกลัวการอยู่คนเดียว
อยากมีคนอยู่ข้างเขาตลอดเวลา แล้วมันกลายเป็นว่าคนที่อยู่ข้างๆ อาจจะเป็นคนที่ให้ความรัก ให้ความอบอุ่น เขาก็รู้สึกว่าคนนี้มี Attachment รู้สึกปลอดภัย เลยกลายเป็นว่าเขาก็ไม่อยากกลับไปอยู่คนเดียว
จริงๆ มันก็จะมีหลายประเภทด้วยเนอะ บางทีรู้สึกปลอดภัยกับคนคนนี้ แต่คนคนนี้อาจไม่ได้ทำตัวน่ารักใส่เขา แต่ก็ยังดีกว่าการอยู่คนเดียว
เรียกว่าอดีตส่งผลต่อชีวิตในปัจจุบันได้หมด
Mental Well Clinic: ใช่ ต้องไปดูตั้งแต่รากเขาเลยว่ามันเกิดจากอะไร แล้วตอนที่กำลังหาใครสักคนอยู่ ตอบโจทย์ไหม บางคนหาคนมาทดแทนโดยที่ขอแค่มีก่อน ‘อะไรคือความสุขของการมีความสัมพันธ์’ สิ่งนี้เป็นกระบวนการที่เราต้องมาช่วยทางผู้รับบริการหาคำตอบเหมือนกัน อาจจะด้วยวิธีการทำกราฟชีวิตก็ได้
แล้วการตกหลุมรักคนง่ายเกิดจากอะไร
Mental Well Clinic: เป็นประสบการณ์ของแต่ละคนด้วยเหมือนกัน ถ้าสมมติว่าเราขาดอะไรบางอย่างแต่ไปเจอคนคนหนึ่งแล้วมันไปส่งเสริมความรู้สึกด้านบวก เหมือนได้รีวอร์ด รู้สึกประทับใจ คนคนนั้นเติมเต็มบางอย่างที่เราไม่มี หรือมันทำให้เรารู้สึกว่ามีตัวตน เราจะเสพติดสิ่งนั้น อารมณ์มาก่อน เหตุผลมาทีหลัง
ต้องย้อนไปดูความคิดที่เด้งขึ้นมาด้วยว่ามันมาจากความเชื่ออะไรบางอย่างที่สะสมมาหรือเปล่า เช่น บางคนอาจชอบดูซีรีส์หรือภาพยนตร์ แล้วชอบคนหน้าตาสไตล์หนึ่งมากๆ พอเราไปเจอคนที่หน้าตาคล้ายกับสิ่งที่เราชอบก็รู้สึกประทับใจ รู้สึกตกหลุมรักได้ง่าย
หรืออาจเป็นไปได้ว่าตอนเด็กๆ มี Core Belief ว่าต้องมีใครสักคนอยู่ข้างๆ เขาก็อาจจะเชื่อแล้วว่าต้องมีแฟน ต้องมีคนข้างกาย หรืออาจมีความเชื่อว่าคนที่มีนิสัยแบบนี้ คนที่หน้าตาแบบนี้ คือคนในอุดมคติของเขา
พูดถึงคนในอุดมคติ กรณีที่เรามีความรู้สึกกับคนคนหนึ่งและเริ่มจินตนาการวาดฝันว่ามีความสัมพันธ์กับเขาไปไกล จนตกหลุมรักกับคนที่เราวาดฝันขึ้นมา (Romantic Projection) ถือเป็นโรคชนิดหนึ่งไหม
Mental Well Clinic: ตอนที่เราเรียนปริญญาโทมีน้องคนหนึ่งคิดว่าตัวเองมีแฟน แฟนเป็นหมอ เราก็ถามว่าแล้วเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้ น้องตอบว่า เขาก็มาถามเราทุกวันเลยว่าเราเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดคือน้องเขาหลงผิด เกิดจาก ‘ความผิดปกติของสารสื่อประสาท’ ซึ่งก็เป็นเรื่องของร่างกาย (Physical) ถ้าสารในสมองทำงานผิดปกติจากการนอนไม่พอหรือจากการรับประทานอาหารที่ไม่ครบ คือมันเกิดจากร่างกาย อันนี้ก็เป็นสาเหตุแรกว่าเกิดภาวะนี้ได้อย่างไร
ภาวะที่ 2 คือ จิตใจ อาจเป็นประสบการณ์ในอดีต เช่น Trauma ยกตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งมีคุณพ่อที่ไม่ดี เขาเลยสร้างจินตนาการ สร้างบุคลิกของพ่อที่ดีขึ้นมา
สุดท้ายคือ โซเชียล คนในสังคมอาจทำให้เรารู้สึกว่าต้องมีแบบนี้ ต้องมีคนที่รวยแบบนี้ เลยทำให้เกิดภาพในอุดมคติ
นอกจากนี้อาจต้องดูระดับด้วยว่าการจินตนาการอยู่ในระดับไหน ถ้าเรามีแฟน เราจินตนาการว่าเราอยากที่จะแต่งงานกับเขา อันนี้ก็ดูเป็นปกติ เพราะว่ามันดูสมเหตุสมผล แต่ถ้าคนคนนี้ไม่ได้เป็นแฟนกับเรา แต่เรามีจินตนาการกับคนคนนี้ เช่น เราไปชอบดาราคนหนึ่งแล้วเราก็จินตนาการว่าวันหนึ่งอยากให้เราได้แต่งงานกัน มันก็เป็นความฝันอีกแบบหนึ่ง อันนี้ก็อาจจะได้เหมือนกัน
แต่ถ้าสมมติเขายังไม่ใช่แฟนเรา แต่เราจินตนาการแล้วเริ่มมีผลกระทบกับเขา ไปคุกคามเขา อันนี้จะเริ่มผิดปกติแล้ว บางคนอาจจินตนาการเกินไปจนเหมือนหลงผิดไปในความคิด อันนี้ก็อาจจะต้องไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม
แต่ทั้งนี้คำว่า อุดมคติ คือสิ่งที่คิดได้ว่าอยากให้มันเป็น แต่ถามว่าเป็นได้ไหมอันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง การมีความรักมันไม่ได้ผิด รูปแบบความรักและความสัมพันธ์แบบไหนก็ตามมันไม่ได้ผิด แต่อยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาความสัมพันธ์นั้นหรือว่าดูแลความรู้สึกของเรากับความสัมพันธ์นั้นอย่างไรได้บ้าง
แล้วอาการตกหลุมรักไวมากถือเป็นความผิดปกติไหม
Mental Well Clinic: ถ้าผิดปกติจะต้องไปดูว่ามันเกิดความรุนแรงหรืออันตรายต่อชีวิตไหม ผิดปกติทางบุคลิกภาพไหม หรือผิดปกติทางสุขภาพจิตไหม
แต่ถ้าอย่าง Love Crush เรารู้สึกชอบ ชื่นชม หรือคุยในระดับที่เหมาะสม จัดการได้ อันนี้ปกติ แต่ถ้าจัดการไม่ได้จนเกิดความเสี่ยงอื่นๆ อันนี้ก็ต้องมองว่ามีภาวะผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า
เคยมีเคสคุณผู้หญิงอยู่ต่างประเทศแชตคุย คุยแล้วเจอ เจอแล้วมีเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกผู้ชายทำร้าย สิ่งนั้นมันอาจจะเกิดขึ้นเพราะไม่ทันระวัง แต่ว่าสิ่งที่เกิดความผิดปกติก็คือผู้หญิงยอมกลับไปให้ผู้ชายทำซ้ำ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
หรือในกรณีที่ตกหลุมรักปุ๊บ แต่ว่าอีกฝ่ายไม่ได้รู้ตัว ชอบไปสตอล์ก ไปถ่ายรูป เหมือนไปคุกคาม อันนี้ก็อาจจะผิดปกติ เพราะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทำให้ตัวเองเดือดร้อน กระทบกับชีวิตประจำวัน
แต่ถ้าตกหลุมรักเฉยๆ แล้วเหมือนเป็นการสร้างเอเนอร์จี้ให้กับตัวเอง บางคนพอมีความชอบแล้วอาจรู้สึกว่า เฮ้ย! ฉันต้องผอม เพื่อที่จะได้มาคุยกับคนนี้ เหมือนเป็นพลังให้ตัวเองออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ อันนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้
ในกรณีที่เรามีความรู้สึกกับคนคนหนึ่ง แต่วิตกกังวล กระวนกระวายไปหมดทุกเรื่อง ทั้งที่ความเป็นจริงความสัมพันธ์นี้อาจยังไม่ทันได้พัฒนาไปไหนไกล?
Mental Well Clinic: ความวิตกกังวลเป็นภาวะหนึ่งอยู่แล้ว ประสบการณ์ในอดีตอาจทำให้เขาคิดได้ว่ามันจะหายไป ทั้งที่ความเป็นจริง Here and Now มันยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจจะต้องมาถามเพิ่มด้วยว่าแล้วระหว่างความสัมพันธ์ที่พัฒนามามันอยู่ขั้นไหน มันเลยต้องมีกระบวนการจิตบำบัดเกิดขึ้นว่าความคิดและความกังวลนี้มันเกิดจากอะไรได้บ้าง
หนึ่งคำตอบอาจจะไม่ได้ตอบได้ทุกคน เพราะประสบการณ์หรือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ เราต้องใช้กระบวนการในการตั้งคำถาม ซักถามเขา แล้วลองดูว่าความกังวลที่เกิดขึ้นมันมาจากไหนมากกว่า และ ไม่มีผิด ไม่มีถูก เพราะมันเป็นความรู้สึกของเขา
จริงๆ แล้วเรื่องของ Mental Health มันไม่มีผิด ไม่มีถูก
Mental Well Clinic: ใช่แล้ว พูดคำนี้บ่อยมากว่าเราฟังแล้วเราไม่ตัดสิน มันไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่อยู่แค่ว่าคุณมีความปกติสุขไหม คุณหามันเจอหรือเปล่า ถ้าหาไม่เจอเดี๋ยวเราช่วย หรือมีเครื่องมือบางอย่าง (Emotional First Aid) ให้ไปลองใช้ ถ้าใช้ได้ก็ดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
ถ้าเราสับสน แยกไม่ออกว่าเราชอบเขาจริงๆ หรือเพราะแค่เหงากันแน่?
Mental Well Clinic: ทางเราจะถามเลยว่า ‘ถ้าคิดว่าชอบคนคนนี้จริงๆ เขาทำให้คุณรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณตอบได้มันก็จะหาได้อีกว่าเราชอบเขาจริงๆ หรือเปล่า’ หรือ ‘คุณชอบอะไรในตัวเองเวลาที่ชอบเขา’ แบบนี้จะทำให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปในทางที่ดีได้เช่นกัน แต่ถ้ายังตอบไม่ได้ มีความลังเล สงสัย อาจจะต้องนั่งคุยกันต่อไปเรื่อยๆ อย่างที่บอกว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่มีผิด ไม่มีถูก
บางทีอาจต้องใช้กระบวนการที่ทำให้เราได้คุยกับตัวเอง ถ้าเหงามันอาจจะมี ประสบการณ์อะไรบางอย่างในอดีตที่ทำให้ตอนนี้เขาเหงา แต่ว่าถ้าเป็นความรักมันก็อาจมีความรู้สึกบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับอีกคนหนึ่ง ที่ทำให้เขารู้สึกรักคนคนนี้
เคล็ดลับง่ายๆ ในการเช็กความรู้สึกของตัวเองก็คือ ถามตัวเองว่า How does that relationship make you feel, seen and heard? ถ้าตอบได้ว่าคนคนนี้ทำให้เรารู้สึกในด้านดี มีคนรับฟัง เรามองเห็นคุณค่าในตัวเรา ก็สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้แข็งแรงขึ้นได้
บางคนมีกฎ มีสเปกที่ตัวเองตั้งไว้ครบ แต่กลับชอบคนที่ไม่ตรงกับที่คิดไว้ เป็นไปได้ไหมว่าอาจเป็นเพราะความเหงา
Mental Well Clinic: ต้องแยกอารมณ์กับความคิด การที่เรามีกฎหรือมีเงื่อนไขอะไรบางอย่างของเรามันไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่ว่าในสถานการณ์ตอนนี้ต้องถามว่าเรามีความคิดต่อความสัมพันธ์อย่างไร แล้วค่อยกลับมาที่เงื่อนไขว่าเราสามารถปรับได้ไหม
ถ้าเรามีเช็กลิสต์ คือแบบถูกทุกข้อเลยนะ แต่มันไม่มีความสัมพันธ์ในด้านความรู้สึก แล้วการถูกทุกข้อมันจะมีประโยชน์อะไร ที่เขาบอกว่ายิ่งแก่ยิ่งลดสเปก มันไม่ใช่ลดสเปกนะ แต่หมายถึงว่ามันมีอะไรที่ Compliment บางอย่างจนเรารู้สึกว่าข้อนี้เราปรับได้
การตั้งเงื่อนไขอะไรบางอย่างมันก็อาจเป็นเรื่องในอดีตที่เราตั้งจากประสบการณ์ อยากให้ใจดีกับตัวเองเหมือนกัน ใจดีกับตัวเองด้วยการถามตัวเองนี่แหละว่า คนคนนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร ณ ตอนนี้ แล้วสิ่งที่เราอยากทำคืออะไร ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ทำวันนี้ให้ดีที่สุดมันไม่ใช่แค่เรื่องการทำงาน ทำวันนี้ให้ดีที่สุดกับความรู้สึกของเราด้วย
สำหรับใครที่อกหัก จมปลักอยู่กับความเสียใจและความรักมากๆ ร้องไห้หนักมาก ถือเป็น Self-Harm ไหม
Mental Well Clinic: ต้องดูว่าร้องถึงขนาดไหน ร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน ไม่กินข้าวไม่กินปลา บางคนร้องไห้แบบตัวโยก กรีดร้อง ก็มีเหมือนกัน การร้องไห้อาจจะเป็นการปลดปล่อยทางอารมณ์ก็ได้ แต่ถ้าถึงขั้นที่ไม่กิน ไม่นอน ไม่คุย อยู่คนเดียว ตรงนี้อาจไปตกขั้นซึมเศร้า
ถ้าพูดถึงความรักหรือความรู้สึก เราจะถามว่าวันนี้ความรักของคุณเป็นสีอะไร มันเป็นสเปกตรัมของทุกสีได้ด้วยนะ และคำตอบก็ไม่มีผิด ไม่มีถูก สีที่มีก็ไม่ได้แปลว่าพัฒนาไม่ได้ มันอาจถูกเปลี่ยนให้สว่างขึ้นได้ การมีความรักมันไม่ผิดเลยที่จะมี แต่ถ้าวันหนึ่งเราไม่ได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตหรือมีความเสี่ยง วันนั้นแหละที่เราคิดว่าต้อง Ask for Help
สัญญาณอะไรที่บอกว่าเราควรมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้แล้ว
Mental Well Clinic: ถ้าความสัมพันธ์นั้นหรือความรู้สึกนั้นทำให้เรามีพัฒนาการที่ถดถอย เข้ามาเลย เอาง่ายๆ แค่เรา ‘เอ๊ะ’ กับความรู้สึกเรา เริ่มไม่มั่นใจในความรู้สึกก็เข้ามาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องป่วยแล้วค่อยเข้ามา แต่เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เราเอ๊ะ แล้วเราหาคนที่คุยแล้วสะท้อนความคิดอย่างเหมาะสมด้วยกระบวนการหรือเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ ก็สามารถ Cross-Check ความเอ๊ะของเราได้
ยิ่งแก้ไวก็ยิ่งแก้ง่าย เพราะคนที่อยู่ในปัญหาก็จะมองเห็นแต่ปัญหา วิธีที่ทำก็คือเราจะดึงเขาออกมาจากปัญหา แล้วคอยสะท้อนเขาว่าเขารู้สึกอย่างไรกับปัญหานี้ หรือมีมุมมองอย่างไรในการแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่ว่าเราตอบ คุณตอบตัวเอง แต่เราช่วยคุณหาคำตอบ เราอยากดูแลให้คุณรู้สึกว่ามั่นใจในตัวเองแล้วก็ก้าวเดินต่อไปอย่างถูกต้อง
Mental Well Clinic
Open: (หยุดวันจันทร์) เปิดเวลา 08.00-20.00 น.
Address: 115/4 The Quartier รัชดา 32 ซอยรัชดาภิเษก 32 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
Budget:
- วัยทำงาน
- เริ่มต้นที่ 2,500 บาทต่อครั้ง (โปรโมชัน 1,800 บาท)
- 10,000 บาทต่อ 4 ครั้ง (โปรโมชัน 6,500 บาท)
- คู่รัก / ความสัมพันธ์
- เริ่มต้นที่ 3,500 บาทต่อครั้ง (โปรโมชัน 2,800 บาท)
- 14,000 บาทต่อ 4 ครั้ง (โปรโมชัน 10,500 บาท)
Tel: 09 1599 3905
Instagram: https://www.instagram.com/mentalwell.clinic/
Facebook: https://web.facebook.com/profile.php?id=61555904818649
Website: https://mentalwellclinic.com/
Map:
ภาพ: วริศรา ลิ้มอนันตระกูล, The Courtesy of Mental Well Clinic