ชาวมาเลเซียมากกว่า 5 แสนคนเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน เป็นเหตุให้รัฐบาลเตรียมเก็บ ‘ภาษีน้ำตาล’ เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง หวังจัดการปัญหาเร่งด่วน ด้านฝั่งผู้ผลิตสินค้าเร่งปรับสูตรน้ำตาลน้อยเลี่ยงภาษี
Nikkei Asia รายงานว่า มาเลเซียได้บังคับใช้กฎหมายเริ่มเก็บภาษีน้ำตาลในปี 2019 ในอัตรา 0.4 MYR ต่อลิตร โดยในกลุ่มเครื่องดื่มพร้อมดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 5 กรัมจะอยู่ที่ 100 มิลลิลิตร และเครื่องดื่มที่ทำจากผลไม้หรือผักที่มีน้ำตาลเกิน 12 กรัมจะอยู่ที่ 100 มิลลิลิตร แต่เครื่องดื่มที่ทำสดใหม่ตามร้านอาหารจะได้รับการยกเว้นจากภาษีดังกล่าว
กระทั่งในปี 2024 รัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีเป็น 0.5 MYR ต่อลิตร ทำให้ช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลงได้ถึง 9.25% ทั่วประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แต่เมื่อไม่นานมานี้ Dzulkefly Ahmad รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอเก็บภาษีน้ำตาลอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยจะนำเสนอในร่างงบประมาณปี 2025 และจะยื่นต่อรัฐสภาในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ในแง่รายละเอียดยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเคยเสนอไว้ว่าจะเพิ่มการเก็บภาษีอีก 20%
สำหรับมาตรการดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน ซึ่งสอดรับกับข้อมูลการสำรวจสุขภาพและการเจ็บป่วยแห่งชาติประจำปี 2023 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีชาวมาเลเซียประมาณ 3.6 ล้านคน หรือ 15.6% ของประชากรผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ ยังมีชาวมาเลเซียมากกว่า 5 แสนคนต้องเผชิญกับโรคไม่ติดต่อที่รุนแรง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน แสดงให้เห็นว่ามีชาวมาเลเซียที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 44.5% ในปี 2011 เป็น 54.4% ในปี 2023
แน่นอนว่าการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าเร่งปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณน้ำตาลเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และผู้บริโภคก็ซื้อเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง
Christopher Lee อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดคือต้องพยายามทำให้ผู้บริโภคไม่สนใจบริโภคน้ำตาล และต้องไม่รู้สึกกระทบต่อการใช้จ่ายด้วย และนอกจากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นแล้ว ต้องสร้างการรับรู้ให้คนเห็นผลกระทบในวงกว้าง
ทั้งนี้ Mageswari Sangaralingam เจ้าหน้าที่ของสมาคมผู้บริโภคปีนัง มองว่า รัฐบาลควรขยายขอบเขตของกลุ่มสินค้าที่ต้องเสียภาษีน้ำตาลให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะการจำกัดภาษีเฉพาะเครื่องดื่มอัดลมอาจทำให้ผู้บริโภคหันไปหาน้ำตาลจากแหล่งอื่น ซึ่งตรงข้ามกับเป้าหมายของการเรียกเก็บภาษี
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลควรพิจารณาเก็บภาษีน้ำตาลที่ผ่านการแปรรูป รวมถึงน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง และน้ำตาลผง ตลอดจนสารให้ความหวานอย่างไซรัปฟรุกโตสสูง ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้มักใช้ในอาหารแปรรูป และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริโภคน้ำตาลสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้เป้าหมายของภาษีน้ำตาลคือการลดการบริโภค แต่ Helmy Haja Mydin ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษานโยบายอาวุโสของสถาบันวิจัยท้องถิ่นด้านเศรษฐกิจและสังคม (SERI) ระบุว่า แทนที่รัฐบาลจะลดการใช้น้ำตาลเพียงอย่างเดียว ควรมีมาตรการช่วยไม่ให้อุตสาหกรรมแบกรับภาระภาษีด้วยเช่นกัน
อ้างอิง: