×

เช็กสุขภาพธุรกิจเครื่องดื่มและสุขภาพของคนไทย หลังสรรพสามิตปรับขึ้นภาษีความหวาน

โดย SCB WEALTH
08.10.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ

 

  • ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีของหุ้นเครื่องดื่มอย่างแท้จริง เพราะทุกตัวปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งๆ ที่ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว ดังนั้นการเก็บภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องดื่มผสมน้ำตาลถือว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับบริษัทเหล่านี้ 
  • ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็ต้องระวังและมีสติในการบริโภค เนื่องจากเครื่องดื่มหลายๆ ตัวในตลาดมีแคลอรีที่ 0 จากการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ผู้บริโภคก็จะดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อย่างไม่ต้องกังวลอะไรมาก แต่นี่คือความน่ากลัว เพราะจะทำให้ผู้บริโภคติดหวานและทำให้เรากินอาหารอื่นๆ ที่มีรสหวานมากขึ้นได้ 
  • การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตความหวานจากน้ำตาลเป็นมาตรการอ้อมๆ ที่จะช่วยให้คนไทยบริโภคน้ำตาลได้น้อยลงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะยังมีอาหารอีกมากที่มีน้ำตาลสูงและไม่โดนควบคุม และที่สำคัญก็อยู่ที่ตัวผู้บริโภคเองว่าจะมีความใส่ใจต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน

 

ผ่านไปแล้วสำหรับวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการปรับภาษีสรรพสามิตความหวานสำหรับเครื่องดื่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเกิน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร (เดิมเสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562)

2. เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 3 บาทต่อลิตร (เดิมเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562)

3. เครื่องดื่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อมิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร (เดิมเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562)

โดยเกณฑ์ภาษีเหล่านี้จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

หุ้นที่อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มส่วนใหญ่ก็ปรับตัวลดลงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา 

OISHI (โออิชิ) -2.11% 

CBG (คาราบาวแดง) -3.03% 

OSP (โอสถสภา) -5.84% 

SAPPE (เซปเป้) -8.12% 

ICHI (อิชิตัน) -20.0% 

มีเพียง SSC (เสริมสุข) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น +5.97% 

SET Index -3.82%


ถ้าดูแบบนี้แล้วก็ถือว่าหุ้นเครื่องดื่มต่างๆ ไม่ได้ปรับตัวลดลงมาก แค่ปรับตัวลดลงตามตลาดเสียมากกว่า เพราะหุ้นเครื่องดื่มหลายๆ ตัวก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าดูผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจะพบว่า

OISHI (โออิชิ) +57.82% 

CBG (คาราบาวแดง) +156% 

OSP (โอสถสภา) +51.04% 

SAPPE (เซปเป้) +65.71% 

ICHI (อิชิตัน) +108.05% 

SSC (เสริมสุข) +3.65% 

SET Index +2.56%


ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีของหุ้นเครื่องดื่มอย่างแท้จริง เพราะทุกตัวปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งๆ ที่ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว ดังนั้นเรื่องการเก็บภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องดื่มผสมน้ำตาลก็คงจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับบริษัทเหล่านี้ เพราะได้มีการเตรียมตัวมาก่อนแล้ว มีทั้งปรับสูตรเครื่องดื่มให้ผสมน้ำตาลน้อยลง และผสมสารให้ความหวานที่ปราศจากแคลอรีอย่างแอสปาร์แตมและซูคราโลสเข้ามาแทน

นอกจากนี้ก็ยังมีการปรับราคาขึ้นมาแล้วด้วย จากการสำรวจตลาดในเบื้องต้น ราคามีการปรับขึ้นมาตั้งแต่ 1-3 บาทต่อกระป๋องหรือขวด ดูแล้วอาจจะไม่มาก แต่ถ้ามองเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ค่อนข้างมาก เพราะเครื่องดื่มน้ำอัดลมกระป๋องบางยี่ห้อปรับราคาเพิ่มขึ้นจาก 10 บาทเป็น 11 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10% เลยทีเดียว

แต่ที่แปลกกว่าคือน้ำอัดลมแบบ 0 แคลอรีที่ไม่ได้ใช้น้ำตาลมาตั้งแต่ต้นก็ปรับราคาขึ้นมาด้วย โดยภาพรวมแล้วคาดว่าบริษัทต่างๆ คงจะไม่ได้รับผลกระทบด้านรายได้มากนัก เพราะมีการปรับแผนธุรกิจกันเป็นอย่างดี

นอกจากนี้บางบริษัทอย่างเซปเป้ก็ไม่ได้พึ่งพิงแต่ตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะยอดขายของบริษัทราวครึ่งหนึ่งคือรายได้ที่มาจากตลาดต่างประเทศ บริษัทอื่นๆ ก็เช่นกัน โดยคาราบาวแดงมีรายได้จากตลาดต่างประเทศ 47% ทางด้านโอสถสภาก็มีรายได้จากสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มในต่างประเทศราว 20% จากยอดขายรวมในกลุ่มเครื่องดื่ม ทางด้านอิชิตันที่เน้นใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบเน้นแจกมาโดยตลอดก็ได้ลดละเลิกวิธีการทำตลาดแบบนั้นไปแล้ว หันมาเน้นที่การพัฒนาตัวสินค้าแทน ช่วยให้ยอดขายไม่ผันผวนสูงเหมือนในช่วงก่อน และต้นทุนของบริษัทก็ลดลงไปเยอะ จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในปี 2562

โดยสรุปแล้ว สุขภาพทางการเงินของบริษัทเครื่องดื่มคงจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ถ้าอย่างนั้นมาดูสุขภาพของผู้บริโภคกันบ้างดีกว่า

ที่ผ่านมาต้องบอกว่าเป็นยุคของการปรับตัวในแวดวงเครื่องดื่ม ทั้งการปรับตัวของผู้ผลิตเครื่องดื่มเองและการใส่ใจต่อสุขภาพที่มากขึ้นของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องออกสินค้าที่มีแคลอรีต่ำหรือ 0% เข้ามาในตลาดมากขึ้น

ทางผู้บริโภคเองก็เช่นกัน แม้จะต้องการความอร่อยเหมือนเดิม แต่ก็ไม่อยากได้แคลอรีเพิ่ม จึงมักจะเลือกเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งสารแทนความหวานของน้ำตาลที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มมักจะใช้กันก็คือแอสปาร์แตมที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 เท่าในปริมาณที่เท่ากัน และซูคราโลสที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 600 เท่าในปริมาณที่เท่ากัน ซึ่งทั้งสองตัวนี้ได้มาจากการสังเคราะห์ด้วยกระบวนการทางเคมี มีราคาปานกลาง

จากการวิจัยพบว่าแอสปาร์แตมมีผลข้างเคียงบ้าง และความเป็นสารเคมีที่เมื่อบริโภคไปนานๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ส่วนซูคราโลสเป็นสารให้ความหวานที่ปลอดภัย ถึงแม้จะเป็นสารเคมี แต่ก็เป็นสารเคมีที่ไม่มีสารสะสมในร่างกายเนื่องจากกระบวนการผลิต องค์การอนามัยโลกยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่ามีความปลอดภัยเทียบเท่าน้ำตาลจากธรรมชาติ

สารให้ความหวานอีกตัวที่ผู้บริโภคควรรู้จักไว้ก็คือ สตีเวีย หรือหญ้าหวาน โดยสตีเวียมีความหวานกว่าน้ำตาล 300 เท่าในปริมาณที่เท่ากัน สกัดมาจากธรรมชาติ หรือก็คือหญ้าหวานนั่นเอง สามารถใช้ปรุงอาหารที่มีความร้อนสูงได้ ไม่มีรายงานว่าเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และที่สำคัญคือมีราคาที่สูง ดังนั้นยังไม่เห็นเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนผสมของสตีเวียในตลาดมากเท่าไรนัก

ข้อควรระวังสำหรับผู้บริโภคก็คือคุณธรรมของผู้ผลิต เนื่องจากซูคราโลสมีราคาที่สูงกว่าแอสปาร์แตม ผู้ผลิตที่ไร้คุณธรรมอาจจะใช้แอสปาร์แตม แต่บอกว่าใช้ซูคราโลสได้

ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็ต้องระวังและมีสติในการบริโภคเช่นกัน เนื่องจากเครื่องดื่มหลายๆ ตัวในตลาดจะมีแคลอรีที่ 0 จากการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ผู้บริโภคก็จะดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อย่างไม่ต้องกังวลมาก เพราะไม่ต้องกลัวอ้วน เรียกว่าดื่มกันได้เต็มที่ แต่นี่แหละคือความน่ากลัว เพราะจะทำให้ผู้บริโภคติดหวานและทำให้เรากินอาหารอื่นๆ ที่มีรสหวานมากขึ้นได้ ซึ่งนอกจากเครื่องดื่มแบบบรรจุขวดที่ขายตามร้านสะดวกซื้อแล้ว เครื่องดื่มและอาหารในตลาดส่วนใหญ่จะใช้น้ำตาลทรายขาวปกติ ไม่ได้ใช้สารแทนความหวาน ไม่ว่าจะเป็นชานมไข่มุก กาแฟโบราณตามร้าน ไอศกรีม ของหวานทั้งไทยและเทศ หรือแม้แต่ข้าวแกง ถ้าสังเกตดีๆ จะรู้สึกได้ว่ารสชาติกับข้าวมักจะติดหวานมาพอสมควร ซึ่งหวานนั้นร้ายกว่าเค็ม

โดยสรุปแล้ว ในด้านผู้ประกอบการก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเขาสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี ทั้งปรับสัดส่วนน้ำตาล รวมไปถึงการขึ้นราคา และการมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ

ที่จะต้องปรับตัวมากกว่าก็คือผู้บริโภค ถึงแม้จะหันมาดื่มเครื่องดื่มแบบ 0 แคลอรี แต่สารให้ความหวานก็ทำมาจากสารเคมี ดื่มมากๆ ก็คงจะไม่ดีต่อร่างกาย ไม่ใช่แค่ความหวานจากน้ำตาลหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเท่านั้น ไม่ว่าจะเค็ม เปรี้ยว เผ็ด ถ้ามากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น และนอกจากการบริโภคแล้วก็ควรจะหาเวลาในการออกกำลังกายด้วยเช่นกันเพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง

การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตความหวานจากน้ำตาลเป็นมาตรการอ้อมๆ ที่จะช่วยให้คนไทยบริโภคน้ำตาลได้น้อยลงเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีอาหารอีกมากที่มีน้ำตาลสูงและไม่โดนควบคุม และที่สำคัญก็อยู่ที่ตัวผู้บริโภคเองว่าจะมีความใส่ใจต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด สมัยนี้ความสะดวกสบายมีสูง จ้าง Grab ไปซื้อของที่ 7-11 ให้ยังได้เลย

ลงทุนในหุ้นแล้ว ก็อย่าลืมลงทุนกับตัวเองด้วยการออกกำลังกายด้วยครับ

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising