×

ประมวลสถานการณ์น้ำเชียงราย-อีสาน ระดับน้ำโขงสูงสุด 15 ก.ย. นี้ ขอชาวหนองคายเร่งยกของขึ้นที่สูง

โดย THE STANDARD TEAM
14.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (14 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมสถานการณ์น้ำ เมื่อเวลา 08.00 น. กรมชลประทานสรุปสถานการณ์จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เลย สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง หนองคาย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา นครพนม และสุพรรณบุรี



สภาพภูมิอากาศและปริมาณฝนในวันนี้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

 

สถานการณ์ที่จังหวัดเชียงราย



น้ำท่วมแม่สายมีแนวโน้มดีขึ้น แต่หลายจุดยังคงท่วมสูงและเฝ้าระวังฝนที่จะตกลงมาเติม ซึ่งจากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฝนที่ตกหนักเพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 กันยายนนี้ ยังไม่มีผลกระทบเพิ่มเติมต่อจังหวัดเชียงราย

 

บริเวณหน้าด่านข้ามพรมแดนแม่สายเริ่มเคลียร์พื้นที่เพื่อทำความสะอาดแล้ว และเปิดให้บริการ แต่รถยนต์ยังไม่สามารถข้ามไปได้ 

 

ชาวเมียนมาในท่าขี้เหล็กเริ่มเดินข้ามฝั่งมาในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภค ขณะที่บริเวณหน้าด่านข้ามพรมแดน สภาพถนน รถยนต์ บ้านเรือน ยังเต็มไปด้วยดินโคลน คาดว่าในเวลา 09.00 น. จะเริ่มทำความสะอาดเมือง ขอความร่วมมือไม่จอดรถตลอดถนนพหลโยธิน-สน.แม่สาย-ถนนเทศบาล 6

 

โดยตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จะมีรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายในพื้นที่เส้นทางบ้านผาแตก-บ้านห้วยน้ำริน-บ้านเวียงพาน-ถนนเส้นหลักพหลโยธินฝั่งทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ตั้งแต่หน้าอำเภอแม่สาย ไปจนถึงหน้าด่าน อ้อมข้ามมาอีกฝั่งถึงแยกไฟแดงโรงแรมเบิร์ด-บ้านป่ายาง-บ้านป่ายางใหม่ 

 

ส่วนการอพยพประชาชนที่ยังติดค้างอยู่และการแจกจ่ายอาหาร ความช่วยเหลือยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่การประปาแม่สายเร่งเคลียร์พื้นที่สถานีผลิตน้ำหัวฝายสายลมจอย เนื่องจากมีตะกอนทรายและเศษขยะทับอยู่จำนวนมาก

 

ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เปิดให้บริการตามปกติ



ขณะที่การสัญจรเส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำกกเริ่มกลับมาใช้การได้แล้ว ยกเว้นสะพานเฉลิมพระเกียรติ 2 แม่น้ำกก (เชื่อมระหว่างตำบลแม่ข้าวต้ม-อำเภอเวียงเชียงรุ้ง) และสะพานแม่น้ำกก เส้นทางบ้านท่าก่องบง-ท่าข้าวเปลือก 

 

สถานการณ์น้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนประกาศว่า ช่วงวันที่ 14-17 กันยายน ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนอนบน มีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังค่อนข้างแรง


จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

 


วันที่ 14 กันยายน 2567 บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์


วันที่ 15 กันยายน 2567 บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม


วันที่ 16-17 กันยายน 2567 บริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น และมหาสารคาม

 

ส่วนสกายวอล์กเชียงคาน จังหวัดเลย ปิดชั่วคราว เนื่องจากน้ำโขงหนุนจนล้นตลิ่งเข้าท่วม



ขณะที่ระดับน้ำโขงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเช้ามีบางส่วนล้นตลิ่ง และฝนตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้ตัวเมืองหนองคายน้ำท่วมฉับพลัน

 

ด้านมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติโพสต์เตือนว่า ช่วยกันแชร์ให้พี่น้องชาวหนองคายยกของขึ้นที่สูง ระดับน้ำโขงสูงสุดมาเร็วขึ้นและสูงขึ้น วันที่ 15 กันยายน ​​ระดับน้ำจะสูงกว่าวันนี้อีกประมาณ 0.60 เมตร ดังนั้นพื้นที่น้ำท่วมจะขยายวงกว้างมากขึ้น และจะเริ่มลดลงตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนเป็นต้นไป วันละประมาณ 20-25 เซนติเมตร

 

พื้นที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เฝ้าระวังน้ำท่วม

 

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย เมื่อเวลา 08.00 น. ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

 

รวมถึงเตรียมถุงฉุกเฉิน อุปกรณ์ส่องสว่าง และกระสอบทราย พร้อมตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ตลอดจนงดกิจกรรมและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีน้ำท่วมสูง

 

เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง


 

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอสบเมยและปางมะผ้า) และจังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย แม่ฟ้าหลวง แม่จัน เชียงแสน และเชียงของ)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา)

 

 

เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย (อำเภอเชียงคานและปากชม) และจังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย และรัตนวาปี)

 

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในระยะสั้น

 

ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่สาย แม่ฟ้าหลวง เวียงแก่น และเทิง) จังหวัดลำปาง (อำเภอวังเหนือ) จังหวัดพะเยา (อำเภอภูซางและเชียงคำ) และจังหวัดน่าน (อำเภอสองแคว ท่าวังผา แม่จริม และเวียงสา)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลยและเชียงคาน) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคายและโพนพิสัย) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอน้ำโสมและนายูง) จังหวัดขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น บ้านแฮด และมัญจาคีรี) และจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอประทาย)

 

ภาคกลาง: จังหวัดนครนายก (อำเภอปากพลี) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอนาดีและกบินทร์บุรี) และจังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด)

 

ภาคใต้: จังหวัดระนอง (อำเภอละอุ่น) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า และกะปง) จังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่) จังหวัดตรัง (อำเภอสิเกา) และจังหวัดสตูล (อำเภอละงู)

 

พื้นที่เฝ้าระวังระดับแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น

 

ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย (อำเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า และบึงโขงหลง) และจังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม บ้านแพง ท่าอุเทน และธาตุพนม)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising