วันนี้ (12 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายว่า ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาระดับชาติ และเป็นมรดกที่ตกทอดมาสู่รุ่นของเรา
รอมฎอนระบุว่า เราผ่านมาแล้ว 10 รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นนายกฯ คนที่ 10 ในรอบ 2 ทศวรรษ ที่จะต้องรับมือ รับภาระ ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ และสร้างสันติภาพ ซึ่งหากย้อนกลับไป 12 กันยายน 2557 เป็นการแถลงนโยบายรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้ที่ระบุถึงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ โดยมีที่มาจากรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
“อีกทั้งในรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ในการแถลงนโยบาย ผมรู้สึกโกรธมาก เพราะไม่มีการระบุถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบตรงๆ ในนโยบาย ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันมีการระบุถึงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ มีประโยคหนึ่งที่วางอยู่ในส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยวางอยู่ในประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย การฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง และการปฏิรูประบบราชการและกองทัพ” รอมฎอนกล่าว
รอมฎอนมองว่าทำให้เห็นว่ารัฐบาลมองปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชน ที่ต้องออกแบบในเชิงสถาบันว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร นี่คือจุดที่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ และตนเองเชื่อว่าพรรคประชาชนมองปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาการเมือง ที่ต้องนำไปสู่ทางออกทางการเมือง
แต่ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลเศรษฐาที่สูญเปล่าไป รวมถึงการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องสันติภาพและความมั่นคง กระบวนการสันติภาพก็เดินหน้าอย่างเชื่องช้า ไร้แรงผลักดันทางการเมืองจากทำเนียบรัฐบาล และยังขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 5 ครั้ง รวมถึงยังไม่รับรองร่างกฎหมาย กอ.รมน. กลับมาให้สภาได้พิจารณา ทำให้งานไฟใต้ยังถูกครอบงำโดยหน่วยงานราชการและกองทัพ ไม่มีแรงผลักดันจากรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็น
อีกทั้งปี 2570 เป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งหวัง รวมถึงค่าเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ว่าความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้จะต้องเป็นศูนย์ ซึ่งได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนให้หลักประกันได้เลยว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของนายกฯ ที่ต้องทำเรื่องนี้ และเป็นหัวโต๊ะให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะเป็นกลไกอำนาจรัฐที่จะชี้ชะตาชายแดนใต้ว่าจะไปในทิศทางไหน
“ต้องแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้เสียที ผ่านมาแล้ว 20 ปี จะต้องพลิกแกนแก้ปัญหาให้กระบวนการสันติภาพเป็นแนวทางการเมืองหลัก ถ้าปล่อยปละละเลยไว้ให้เป็นแนวทางมุมมองต่อความมั่นคง ก็จะเป็นการครอบงำของหน่วยงานภาครัฐและราชการต่อ”
รอมฎอนกล่าวอีกว่า โจทย์ใหญ่คือ เรื่องที่ท่านต้องตัดสินใจคือในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ว่ารัฐบาลจะขยายอีกเป็นครั้งที่ 77 หรือไม่ และมติ ครม. ของท่านจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องทบทวนกฎหมายอื่นๆ ด้วย
รอมฎอนกล่าวว่า เราต้องเรียนรู้อดีตจังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหายืดเยื้อมาอย่างยาวนาน เพราะเราเพิกเฉยต่อสิ่งที่เราเรียนรู้ และบาดเจ็บ ประวัติศาสตร์บาดแผลหลายเรื่องเป็นเรื่องที่กลืนยาก แต่สังคมที่มีวุฒิภาวะเราต้องก้าวผ่านมันไปด้วยกัน เรียนรู้ที่จะเก็บบทเรียน ซึ่งนี่ถือเป็นบทเรียนของนายกฯ ที่จะต้องนำประเทศนี้ พร้อมขอให้รัฐบาลแสดงจุดยืนว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
“ยืนยันให้เราหน่อยได้ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่นราธิวาส มุกดาหาร กลางกรุงเทพฯ เมืองกาญจน์ นครพนม หรือเชียงใหม่ จะต้องไม่มีใครกล้าฆ่าประชาชนแบบนี้อีก” รอมฎอนกล่าว
ในช่วงท้ายรอมฎอนยังขอให้นายกฯ แสดงจุดยืนโน้มน้าวใจแนะนำให้ สส. ที่เป็นจำเลยในคดีตากใบไปขึ้นศาลในนัดต่อไป หรือในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งเหลืออายุความอีกเพียงแค่ 10 วัน เพราะประชาชนรอมากกว่า 20 ปี เราจึงจะมาสร้างบรรทัดฐานและความยุติธรรมที่เข้มแข็งด้วยกัน และเราในฐานะฝ่ายค้าน ยินดีทำงานร่วมกัน สร้างสันติภาพ หลักนิติธรรม ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศนี้พร้อมกับท่าน จึงต้องขอคำยืนยันจากนายกฯ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย รอมฎอนได้ฉายภาพบนจอซึ่งมีภาพของทักษิณ ทำให้ ธีระชัย แสนแก้ว สส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า ผู้อภิปรายกำลังพาดพิงบุคคลภายนอกที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาชี้แจง พร้อมถามว่า แพทองธารซึ่งเป็นบุตรสาวของทักษิณ จะให้เขาตัดพ่อตัดลูกกันหรือ และยืนยันว่าหากยังนำภาพนี้ขึ้นอยู่ก็จะยืนประท้วงอยู่อย่างนี้ 3 วัน 3 คืนก็ได้
ทำให้วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น ได้ขอดูภาพอีกครั้ง พร้อมขอให้นำภาพที่มีทักษิณออกไปทันที เพราะเป็นบุคคลภายนอก พร้อมบอกให้รอมฎอนไม่อภิปรายถึงผู้นำประเทศคนอื่นๆ ในอดีตอีก
ต่อมา สส. พรรคประชาชนหลายคน เช่น จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ และ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ได้ลุกขึ้นแย้งว่า การอภิปรายจำเป็นต้องย้อนอดีตเพื่อให้เห็นผลของการกระทำ แต่ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ประธานได้วินิจฉัยแล้ว ก็ถือให้เป็นที่สุด ซึ่งวันมูหะมัดนอร์ย้ำว่า จะไม่ให้ฉายภาพบุคคลภายนอกที่ทำให้เกิดความเสียหายในที่ประชุม