สถานการณ์โลกที่ไม่มีความแน่นอน ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก รวมถึงความยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึง
PRISM Petrochemical Market Outlook ของกลุ่ม ปตท. จึงได้จัดงานสัมมนา ‘The 15th PTT Group Petrochemical Outlook Forum’ ขึ้น ภายใต้หัวข้อ ‘Shaping the Future of Petrochemicals Along the Sustainable Pathway’
งานสัมมนานี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 และเป็นปีที่ 2 ที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้าร่วมการสัมมนา เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก ความท้าทายต่างๆ มากมาย ทั้งจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ด้านสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภค และกฎระเบียบต่างๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้พร้อมปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยกันนำพาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของเราไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน
ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องจับตา
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ฉายภาพว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2025 มีแนวโน้มที่น่าสนใจ โดยคาดว่าสหรัฐอเมริกาจะเติบโตประมาณ 2% ท่ามกลางความท้าทายจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจในวงกว้าง ขณะที่ Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง
ในด้านเศรษฐกิจจีน การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้รัฐบาลเร่งเพิ่มกำลังการผลิตและการส่งออก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะอุปทานสูงกว่ากำลังการผลิต (Overcapacity) ในตลาดโลก
สำหรับไทย แม้จะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว แต่ก็เผชิญความท้าทายจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และแรงกดดันในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ต้องเผชิญกับอุปสงค์ที่ชะลอตัว และภาวะอุปทานล้นตลาดจากจีน ทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนในหลายมิติ ซึ่งต้องการการบริหารจัดการและการปรับตัวอย่างรอบคอบจากทุกภาคส่วน
การปรับตัวเพื่อชิงความได้เปรียบในตลาด PE
ธนเดช งามธนวิทย์ Senior Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวว่า Polyethylene (PE) เป็นเม็ดพลาสติกที่นิยมนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม กว่า 70% ของ PE ถูกใช้ในบรรจุภัณฑ์ อีก 20% ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และที่เหลืออีก 10% ใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ตลาดของ PE จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่
- ต้นทุนวัตถุดิบ: ซึ่งผันผวนตามวัตถุดิบตั้งต้น ได้แก่ น้ำมันดิบ Naphtha หรือ Ethylene
- อุปสงค์และอุปทาน: เกือบ 40% ของ Polymer ทั่วโลก เป็น PE การแข่งขันในตลาด PE จึงยังคงสูง โดยเฉพาะจากอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และจีน คาดการณ์ว่าราคา Spread ของ HDPE Film CFR SEA เทียบกับ Naphtha MOPJ จะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนัก เนื่องจากความต้องการที่ยังคงทรงตัว
- อุปสรรคทางการค้า: ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกลไกการปรับค่าคาร์บอน (CBAM) จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งการขยายตลาดหรืออุปสรรคทางด้านภาษี
GC จึงปรับตัวโดยปรับกลยุทธ์ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพและวัสดุประสิทธิภาพสูงที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
PP ล้นตลาดจากจีน แผนความยั่งยืนจึงสำคัญ
เธียร เครือโชติกุล Department Manager Strategy and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (HMC Polymers) ได้ฉายภาพให้เห็นว่า Polypropylene (PP) เป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านความใสและทนความร้อนสูง ทำให้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ยืดหยุ่นและแข็งแรง ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ตลาด PP กำลังเผชิญความท้าทายจากนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self-Sufficiency) ของจีน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะ Overcapacity ในตลาดโลก ทำให้การคาดการณ์ราคาในอนาคตไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่าความต้องการจะเติบโตตาม GDP โลกก็ตาม
ในสถานการณ์นี้ HMC Polymers ได้วางแผนปรับตัวเพื่อความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และการสำรวจตัวเลือกที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลาสติก ส่งเสริมการใช้ซ้ำและรีไซเคิล รวมถึงการทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพลาสติกในระยะยาว
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ BZ และ PX
ชุติภา เรืองศรีมั่น นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในส่วนของ Benzene (BZ) และ Paraxylene (PX) กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงเสื้อผ้าและผงซักฟอก
การเติบโตของอุปสงค์สำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสอดคล้องกับการเติบโตของ GDP โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย แอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจีนจะมีนโยบาย Self-Sufficiency มากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นผู้นำเข้าสุทธิของทั้ง BZ และ PX ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มราคาของทั้งสองผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้วัสดุสังเคราะห์ในอนาคต เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมอย่าง ไทยออยล์ กำลังปรับตัวด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการแปรรูปน้ำมันดิบเป็นสารเคมี และขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างสารลดแรงตึงผิว ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง
การปรับตัวเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของอุตสาหกรรมในการรักษาความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนในระยะยาว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ตลาด SM ยังเผชิญกับความท้าทาย
สิริรัชต์ หวานแฉล้ม เจ้าหน้าที่บริหารการตลาดอาวุโส บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) กล่าวว่า Styrene Monomer (SM) เป็นผลิตภัณฑ์สำคัญในสายอโรมาติก ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเม็ดพลาสติก PS, EPS และ ABS ซึ่งมีบทบาทสำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (39%)
- บรรจุภัณฑ์ (23%)
- การก่อสร้าง (19%)
- ชิ้นส่วนยานยนต์ (4%)
ปัจจุบันอุปสงค์หลักของผลิตภัณฑ์สไตรีนิกส์อยู่ในจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายเศรษฐกิจแบบ Self-Sufficiency
ขณะที่อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างโดดเด่นจากนโยบาย China Plus One คาดว่าธุรกิจสไตรีนิกส์จะฟื้นตัวหลังปี 2025 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการขยายตัวของเมืองในประเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านความยั่งยืนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องการรีไซเคิลที่ยังมีอัตราต่ำ เนื่องจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสามารถในการรีไซเคิล การจัดการ e-Waste ที่ซับซ้อน และต้นทุนการรีไซเคิลที่สูง IRPC จึงปรับตัวโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ Bio Composite และ Recycled Compound เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มความยั่งยืนและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังต้องปรับตัวและพัฒนาต่อไป
กฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้แจกแจงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไว้ว่า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2023 ซึ่งมียอดขายโดยรวมทั่วโลกประมาณ 14 ล้านคัน โดยมาจากจีน ยุโรป และสหรัฐฯ
นอร์เวย์ถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ที่ไม่มีการปล่อยไอเสีย ทั้งแบบไฟฟ้าหรือไฮโดรเจน ภายในปี 2025 ซึ่งรัฐได้มีการสนับสนุน คือ ไม่มีภาษีซื้อ/นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า, ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 25% สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า, ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ หรือการจอดรถในที่สาธารณะ
ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยถือว่าเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 600% ในปี 2023 ตลาดยานยนต์ในไทยมียอดขายในประเทศประมาณ 6-7 แสนคันต่อปี และทรงตัว หากผู้ประกอบการมากขึ้น ซัพพลายมากขึ้น ก็จะมีการแข่งขันของราคามากขึ้น
จีนเริ่มเข้าตั้งฐานการผลิตไทย แต่ยังนำเข้าชิ้นส่วนของตัวเอง เพราะชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้ายังผลิตในประเทศไม่ได้ในช่วงแรก ไทยต้องพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากร เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยต่อไป และต้องสร้างแรงจูงใจภาคส่วนต่างๆ ให้หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับภาษีคาร์บอน และต้องวางแผนในระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น