×

เศรษฐกิจไทย ต้องซ่อมอะไรก่อน?

09.09.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพนั้น ผู้ว่าการป๋วย (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) ได้สรุปง่ายๆ ด้วยแนวคิดที่ท่านเรียกว่า ‘ทฤษฎีลูกโป่ง’ ซึ่งอธิบายถึงระบบเศรษฐกิจโดยเปรียบรายได้ประชาชาติกับปริมาณเงินเป็นลูกโป่งสองใบซ้อนกัน ใบในแทนรายได้ที่แท้จริง ใบนอกแทนปริมาณเงิน ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) มีหน้าที่ต้องรักษาขนาดของลูกโป่งทั้งสองให้สัมพันธ์กัน ผ่านลูกสูบลมเข้าออกสามทางคือ ลูกสูบการคลังหรือการใช้จ่ายของรัฐบาล ลูกสูบการเงินภายในประเทศผ่านการขยายเครดิตหรือสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และลูกสูบการเงินระหว่างประเทศผ่านการค้าระหว่างประเทศ

 

คัดลอกจากหนังสือ 72 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (2557)

 

ย้อนกลับไปช่วงก่อนโรคโควิดระบาด (ปี 2555-2562) ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.0% ต่อปี สูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ที่แท้จริง (Real GDP) ที่ 3.5% ต่อปีอยู่ประมาณ 2.5% แต่หลังโควิดเป็นต้นมา ปริมาณเงินกลับเติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 3.5% ต่อปี สูงกว่าอัตราการขยายตัวของ Real GDP ที่ 2.2% ต่อปี อยู่เพียง 1.3% อนุมานจากทฤษฎีลูกโป่งได้ว่า ลูกโป่งใบนอกกำลังหดตัวเข้ามาใกล้กับลูกโป่งใบในมากขึ้น หรืออาจกล่าวว่า ‘ลูกสูบการเงินภายในประเทศออกแรงสนับสนุนเศรษฐกิจน้อยลง’

 

อัตราการขยายตัวของปริมาณเงินและ Real GDP (%)

 

ภาพ: ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

ในกรณีของไทย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณเงินเติบโตช้ากว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือสินเชื่อภาคเอกชนที่เติบโตชะลอลง สอดคล้องกับบทความฉบับที่แล้วที่เล่าว่า สถาบันการเงินไทยปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจาก ‘หนี้เสีย (NPL) เพิ่มสูงขึ้น’

 

สถาบันการเงินพิจารณาความคุ้มค่าในการให้สินเชื่อจากค่า Risk-Adjusted Return on Capital (RAROC) ซึ่งคำนวณจาก ‘ผลตอบแทนที่คาดหวังจากการให้สินเชื่อ’ ต่อ ‘มูลค่าเงินกองทุนที่สถาบันการเงินใช้รองรับสินเชื่อและสำรองไว้ในกรณีที่สินเชื่อกลายเป็นหนี้สูญ’

 

หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่า ลูกหนี้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น นอกจากสถาบันการเงินจะไม่สามารถคาดหวังผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อได้เท่าเดิมแล้ว สถาบันการเงินยังต้องเผื่อเงินกองทุนมารองรับสินเชื่อเอาไว้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้เสียกระทบความมั่นคงของสถาบันการเงินเอง นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังต้องโยกเงินที่มีไป ‘ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ’ จึงมีเงินปล่อยสินเชื่อน้อยลง

 

ล่าสุด ข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด แสดงว่า ระบบสถาบันการเงินไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีหนี้เสียสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท และมีหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) สูงถึง 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.5% และ 3.7% ของหนี้ที่สถาบันการเงินทั้งหมดถืออยู่ตามลำดับ หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้สถาบันการเงินพาณิชย์ 10 รายใหญ่ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น 7.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ยอดสะสมครึ่งปีแรกของปี 2567 สูงถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

มองไปข้างหน้า Negative Feedback Loop ระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินจะรุนแรงขึ้น ข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อจะกดดันสถานะทางการเงินของครัวเรือนและธุรกิจต่อไป ในขณะเดียวกัน สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงก็จะปรากฏเป็นหนี้เสียที่กดดันสถานะทางการเงินและความสามารถในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินต่อไป หากปล่อยให้ Negative Feedback Loop ขยายวงจรมากขึ้น การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินของไทยจะแย่ลง ฉุดเศรษฐกิจไทยให้หมุนลงเร็วและแรงขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจึงต้องเร่ง ‘ตัดวงจร’ โดยการเร่ง ‘ซ่อม’ สถานะทางการเงินของครัวเรือน ธุรกิจ และสถาบันการเงิน การซ่อมแซมสถานะทางการเงินของคนไทยเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ก่อนที่เราจะ ‘สร้าง’ หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างโอกาสเติบโตในระยะยาว


ซ่อมอะไรก่อน?

 

เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องเร่งซ่อมแซมสถานะทางการเงินของทั้งครัวเรือน ธุรกิจ และสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายมีจำกัด ไทยจึงจำเป็นต้องเลือกซ่อมฝั่งที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายผลออกไปได้เร็วที่สุด

 

จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ การซ่อมแซมสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินโดยการแก้ปัญหาหนี้เสียจะมีประสิทธิภาพกว่า เพราะสถาบันการเงินมีกรอบการบริหารจัดการ NPL ที่ชัดเจน ทำแล้วจะส่งผลต่อลูกค้าธนาคารจำนวนมากในคราวเดียว ประกอบกับหนี้เสียยังมีตลาดรองรับ จึงสามารถแก้ด้วยกลไกตลาดซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าการให้ผู้ดำเนินนโยบายแทรกแซงโดยตรง และที่สำคัญ การจัดการหนี้เสียในสถาบันการเงินจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและแรงจูงใจในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของครัวเรือนและธุรกิจ

 

บทความฉบับนี้จะกล่าวถึงวิธีการซ่อมแซมสถานะทางการเงินของสถาบันการเงิน ประสิทธิผลและข้อจำกัด และตั้งคำถามต่อไปว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อเร่งแก้หนี้เสียให้สัมฤทธิ์ผลเร็วขึ้น

 

สถาบันการเงินบริหารหนี้เสียอย่างไร?

 

การบริหารหนี้เสียมีหลายวิธี สถาบันการเงินจะเลือกใช้วิธีที่สอดคล้องกับ ‘สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งหมายถึงภาวะและแนวโน้มทางเศรษฐกิจการเงิน และ ‘กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ’ ที่สถาบันการเงินใช้เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งอาจมองจาก 2 มิติ

 

มิติ ‘ขอบเขต’ ของหนี้เสีย ว่าเกิดขึ้นบางบัญชี บางอุตสาหกรรม บางกลุ่มลูกค้า ซึ่งสะท้อนปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นเฉพาะจุด หรือหนี้เสียที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างตามภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ชะลอลง

 

รวมถึง มิติ ‘ปัญหาของหนี้’ ว่าประสบปัญหาการชำระหนี้จากปัจจัยชั่วคราว เช่น ธุรกิจขาดสภาพคล่อง แต่คาดว่ากระแสเงินสดจะกลับมาเป็นปกติในระยะข้างหน้า หรือปัญหาการชำระหนี้เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม Sunset

 

การบริหารหนี้เสีย

 

 

ในกรณีที่ปัญหาหนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว (ซ้าย) สถาบันการเงินจะพักหรือยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ โดยอาจพักเฉพาะเงินต้นหรือทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย วิธีการนี้สามารถดำเนินการได้เร็วและมีต้นทุนทางการเงินน้อย รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้บ้าง แต่สถาบันการเงินจะยังต้องเก็บความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ไว้ในงบการเงิน

 

ในกรณีที่หนี้เสียเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของลูกหนี้บางกลุ่ม (ขวาบน) สถาบันการเงินจะตัดจำหน่ายหรือฟ้องบังคับคดี การตัดจำหน่ายจะลดการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ทันที แต่ต้องแลกกับการยอมรับผลขาดทุนเต็มจำนวน ในขณะที่การฟ้องบังคับคดีมีต้นทุนทางกฎหมายและใช้เวลานานโดยเฉพาะในกระบวนการขายทอดตลาด

 

ในกรณีที่หนี้เสียเกิดขึ้นชั่วคราวแต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ลูกหนี้อาจไม่สามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขสัญญาเดิม (กลาง) สถาบันการเงินจะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ให้สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยคาดว่าเมื่อโควิดสิ้นสุดลง ลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ

 

และสุดท้าย ในกรณีที่หนี้เสียจากปัญหาเชิงโครงสร้างกระจายตัวเป็นวงกว้าง (ขวาล่าง) จนเกินกำลังที่สถาบันการเงินจะบริหารเอง สถาบันการเงินจะขายหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Companies: AMCs) ที่มีทรัพยากรและองค์ความรู้นำไปบริหารจัดการ โดย AMCs จะฟื้นฟูมูลค่าหนี้เสียผ่านการตามเก็บหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ไปจนถึงการฟ้องบังคับคดี ปัจจุบันไทยมี AMCs ที่บริหารโดยเอกชนจำนวน 83 แห่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

 

  1. AMCs ที่รับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด
  2. AMC ที่รับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินบางแห่งโดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่เป็น AMCs ที่สถาบันการเงินจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารหนี้เสียของตนเอง เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ซึ่งรับซื้อจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา

 

AMCs เอกชนดำเนินธุรกิจในระบบตลาดจึงมีแรงจูงใจที่จะบริหารจัดการหนี้ให้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ก็มีข้อเสียคือ AMCs แต่ละแห่งแยกกันบริหารจัดการหนี้เสีย ทั้งที่ร่วมมือกันอาจสัมฤทธิ์ผลมากกว่า ในบางกรณี AMCs เอกชนหลายแห่งอาจลงทุนกับข้อมูลหรือโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารหนี้เสียลักษณะเดียวกัน ในบางกรณีหนี้เสียของลูกหนี้รายใหญ่อาจกระจายอยู่กับสถาบันการเงินหลายแห่ง และถูกซื้อโดย AMCs ต่างรายที่อาจมีกลยุทธ์บริหารหนี้เสียที่ขัดแย้งกัน นอกจากนี้ ในบางกรณี AMCs เอกชนที่แสวงหากำไรอาจเร่งเทขายสินทรัพย์ทอดตลาดพร้อมกันจนราคาตกลงมาก เราจะเห็นข้อเสียชัดขึ้นในภาวะที่หนี้เสียเพิ่มจำนวนขึ้นเร็ว ในขณะที่ทรัพยากรสำหรับการจัดการหนี้มีจำกัด

 

ในสถานการณ์ดังกล่าว ภาครัฐจะพิจารณาจัดตั้ง National AMCs เพื่อรับซื้อและบริหารจัดการหนี้แบบรวมศูนย์ การรับซื้อหนี้เสียปริมาณมากจากสถาบันการเงินหลายแห่งทำให้มี Economies of Scale และ Economies of Scope ในการบริหาร และสามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ National AMCs ยังเข้าถึงเงินลงทุนภาครัฐและจะมีอำนาจต่อรองในการขายสินทรัพย์ทอดตลาดอีกด้วย ซึ่ง National AMCs ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ อาทิ Korea Asset Management Corporation (KAMCO) ที่รัฐบาลเกาหลีใต้จัดตั้งขึ้นเพื่อซื้อหนี้เสียในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s

 

รัฐบาลไทยก็เคยจัดตั้ง National AMCs ในชื่อ ‘บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (Thai Asset Management Corporation: TAMC)’ ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงิน TAMC มีกำลังรับซื้อหนี้เสียมากถึง 7.8 แสนล้านบาทในช่วงปี 2542-2546 และมีสัดส่วน Disposal Rate ซึ่งหมายถึง มูลค่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จัดการได้ต่อมูลค่าทางบัญชีสูง 73.46% (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2546) เทียบกับ KAMCO (61.6) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยต้องบริหารหนี้เสียแบบไหน?

 

หลังจากสถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยคาดว่า ลูกหนี้จะฟื้นตัวและกลับมาชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากโควิดได้ช้า ประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างกดดันศักยภาพการเติบโตของไทยในระยะยาว สถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจึงอ่อนแอลงอีก

 

จากการวิเคราะห์ของ SCB EIC ในฝั่งครัวเรือน ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายรุนแรงขึ้นและลุกลามขึ้นไปยังกลุ่มรายได้ปานกลาง สะท้อนจากรายได้เฉลี่ยของกลุ่มครัวเรือนที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือนในปี 2566 ที่ปรับแย่ลงจากปี 2564 ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ 50,000-60,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมากขึ้น (ภาพที่ 3) ขณะที่ในฝั่งธุรกิจ สัดส่วนบริษัทผีดิบ (Zombie Firm) ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (ภาพที่ 4)

 

เนื่องจากสถานะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจอ่อนแอติดต่อกันเป็นเวลานาน หนี้เสียใหม่จึงเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่น่ากังวลคือ ปริมาณหนี้เสียใหม่ขยับเข้าใกล้จุดสูงสุดในช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 แม้โควิดสิ้นสุดลงแล้ว (รูปที่ 5) ก็สร้างความท้าทายในการบริหารหนี้เสียด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด

 

รายได้และค่าใช้จ่ายครัวเรือนแบ่งตามกลุ่มรายได้

 

เศรษฐกิจไทย

หมายเหตุ: ข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายหนี้สินของครัวเรือนนับเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้สินเท่านั้น

อ้างอิง: การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติ

 

สัดส่วนบริษัทผีดิบ (Zombie Firm) ปี 2562-2565 แบ่งตามขนาดธุรกิจ

 

 

หมายเหตุ: ธุรกิจขนาดใหญ่ คือ ธุรกิจที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปีสำหรับภาคการผลิต และมากกว่า 300 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปสำหรับภาคการค้าและบริการ ธุรกิจขนาดกลาง คือ ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปีสำหรับภาคการผลิต และไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปีสำหรับภาคการค้าและบริการ ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดย่อย คือ ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปีสำหรับภาคการผลิต และไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี สำหรับภาคการค้าและบริการ

 

อ้างอิง: การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

มูลค่าหนี้เสียใหม่

 

เศรษฐกิจไทย

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

National AMCs แบบไหนที่สำเร็จ

 

จากประสบการณ์ต่างประเทศ National AMCs ที่ประสบความสำเร็จจะมีคุณลักษณะร่วมกัน ดังนี้

 

  1. ป้องกันหรือบรรเทาปัญหาจริยธรรมวิบัติ (Moral Hazard) ได้ดี โดยปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากลูกหนี้ โดยลูกหนี้อาจตั้งใจหยุดชำระหนี้ทั้งที่ยังชำระได้ ให้สถาบันการเงินยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาดเพื่อรอซื้อสินทรัพย์คืนโดยคาดว่าจะซื้อคืนได้ในราคาที่ต่ำลง ส่งผลให้มีหนี้เสียเพิ่มสูงเกินไปจนกระทบความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ Moral Hazard กรณีนี้สามารถป้องกันได้ โดยพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อติดตามที่มาที่ไปของสินทรัพย์และใช้กฎหมายควบคุมไม่ให้ลูกหนี้กลับมาซื้อสินทรัพย์คืนได้ภายในเวลาที่กำหนด

 

Moral Hazard ยังอาจเกิดจากสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินคาดว่าจะสามารถโอนหนี้เสียไปยัง AMCs ได้ จึงอาจขาดแรงจูงใจที่จะบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบและกล้าให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเกินไปจนสะสมความเปราะบาง จากประสบการณ์ต่างประเทศ AMCs สามารถตกลงเงื่อนไขให้สถาบันการเงินยังมีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้หนี้อยู่ เช่น อาจให้สถาบันการเงินกับ AMCs ร่วมทุนก่อตั้ง Special Purpose Vehicle (SPV) ที่ดำเนินการบริหารจัดการหนี้เสีย โดยสถาบันการเงินในฐานะผู้ถือหุ้นก็จะต้องยอมรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานของ SPV ด้วย โดยอาจนำประสบการณ์ต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น กรณีการร่วมทุนระหว่างธนาคาร Intesa Sanpaolo ในอิตาลี และบริษัท Intrum ซึ่งเป็น AMCs จากสวีเดน

 

  1. มีเครื่องมือทางการเงินที่ผูกกับผลตอบแทนจากบริหารหนี้เสีย เครื่องมือที่หลากหลายจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและช่วยกระจายความเสี่ยง หนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ KAMCO ที่ออกหลักทรัพย์โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นหนี้เสีย (Asset-Backed Security) ขายให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

 

  1. เพิ่มจำนวนผู้เล่นในตลาดซื้อขายหนี้เสียซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่จูงใจให้ผู้ซื้อและผู้ขายตั้งราคาหนี้เสียให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง นอกจากนี้ หากสามารถเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายเครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับหนี้เสียจะเปิดโอกาสให้ National AMCs ถ่ายโอนหนี้เสียต่อไปให้กับ AMCs ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะมีพอร์ตหนี้เสียจากหลายประเทศที่กระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า

 

ซ่อม Balance Sheet ครัวเรือนผ่านการซ่อม Balance Sheet สถาบันการเงิน

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางและความไม่แน่นอนซ่อนอยู่อีกมาก เราจำเป็นต้องเร่งซ่อมแซมสภาวะการเงินของสถาบันการเงินเพื่อให้ลูกสูบการเงินภายในประเทศกลับมาทำงานอีกครั้ง เมื่อทำงานเป็นปกติแล้ว ระบบสถาบันการเงินจะช่วยฟื้นฟูสภาวะการเงินของครัวเรือนและธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

 

ในเมื่อเรามุ่งหมายที่จะทำให้การพัฒนาและการดำเนินเศรษฐกิจตีวงกว้างขึ้นทุกที…เราก็จำเป็นต้องทำให้ปริมาณเงินเป็นไปโดยสมดุลกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

คัดลอกจากหนังสือ ป๋วย อึ้งภากรณ์: ทัศนะว่าด้วยเศรษฐกิจ (2545)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising