×

โรงเรียนอนุบาลจีนปิดตัว 20,000 แห่งใน 2 ปี สะท้อนปัญหาเด็กเกิดน้อย เพราะคนไม่อยากมีลูกจากค่าใช้จ่ายสูง

05.09.2024
  • LOADING...
โรงเรียนอนุบาลจีน

โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ Angels Kindergarten ที่เคยคึกคักด้วยห้องเรียน 16 ห้อง สนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ 2 แห่ง พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ และครูต่างชาติสำหรับหลักสูตรสองภาษา ปัจจุบันต้องปิดตัวลงอย่างถาวร หลังเปิดดำเนินการมา 18 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่จีนกำลังเผชิญคือจำนวนโรงเรียนอนุบาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการจีนระบุว่า ระหว่างปี 2021-2023 จำนวนโรงเรียนอนุบาลในประเทศลดลงถึง 20,000 แห่ง จาก 294,832 แห่ง เหลือ 274,480 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน ท่ามกลางอัตราการเกิดที่ลดลง ความกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจ และการปราบปรามธุรกิจการศึกษาที่แสวงหากำไร

 

สถานการณ์นี้ส่งผลให้จำนวนเด็กที่ลงทะเบียนเรียนอนุบาลลดลง 5 ล้านคนในปี 2023 เหลือ 40.92 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2014 และมีตำแหน่งงานครูอนุบาลที่ทำงานเต็มเวลาหายไปกว่า 170,000 ตำแหน่งในปี 2023

 

ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ตัวอย่างคือคุณแม่คนหนึ่งจากมณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน กำลังถกเถียงกับสามีว่าจะให้ลูกสาววัย 2 ขวบเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลของรัฐหรือเอกชน แม้ว่าคุณภาพการศึกษาจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่เธอก็ยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายกับลูกสาวมากกว่า 10,000 หยวน (ประมาณ 48,000 บาท) ต่อเดือน และไม่สามารถมีลูกคนที่ 2 หรือ 3 ได้ในตอนนี้

 

ตัวเลขจากสถาบันวิจัยประชากร YuWa ในปักกิ่ง ยิ่งตอกย้ำถึงปัญหานี้ โดยรายงานว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปีในจีนสูงถึง 6.3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัว ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 จาก 13 ประเทศที่นำมาเปรียบเทียบ โดยมีเพียงเกาหลีใต้ที่สูงกว่าที่ 7.79 เท่า ในขณะที่ออสเตรเลียอยู่ที่ 2.08 เท่า สหรัฐอเมริกา 4.11 เท่า และญี่ปุ่น 4.26 เท่า

 

รัฐบาลจีนกำลังหาวิธีแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงในระยะยาว มาตรการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การทำให้คู่รักแต่งงานกันง่ายขึ้น และหย่าร้างกันยากขึ้น รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร การเลี้ยงดูบุตร และการศึกษา ขณะเดียวกันรัฐบาลยังดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเร่งขยายโรงเรียนของรัฐ การให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชน และส่งเสริมให้โรงเรียนรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเข้าเรียนในชั้นอนุบาลมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 มีเด็กเพียง 2.2 ล้านคนที่ลงทะเบียนเรียนในชั้นเด็กเล็ก คิดเป็นเพียง 5% ของเด็กทั้งหมดที่ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนอนุบาล สะท้อนให้เห็นว่าพ่อแม่ในจีนยังคงพึ่งพาปู่ย่าตายายในการดูแลเด็กเล็กเป็นหลัก

 

Yeh Hsueh อธิบายว่า การเติบโตของโรงเรียนอนุบาลเอกชนในจีนเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนโรงเรียนอนุบาลของรัฐและโรงเรียนร่วมให้เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีเจ้าของรายบุคคล หรือที่เรียกว่า ‘มินปัน’ ในช่วงปี 2000 และการผลักดันให้ขยายไปยังพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลเด็ก

 

โรงเรียนมินปันยังตอบสนองความต้องการของแรงงานย้ายถิ่นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ที่ย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ แต่ส่งลูกกลับไปเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเกิด จำนวนโรงเรียนอนุบาลเอกชนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าระหว่างปี 2003-2019 โดยมีจำนวนสูงสุดที่ 173,200 แห่งในปี 2019

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า จีนอาจเผชิญปัญหาเดียวกับญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุมากกว่านโยบายส่งเสริมการมีบุตร และแม้ว่าจีนจะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปี 2016 แต่อัตราการเกิดก็ลดลงติดต่อกัน 7 ปีจนถึงปี 2023 และประชากรลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

การปราบปรามกิจกรรมที่แสวงหากำไรด้านการศึกษาในปี 2018 ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาก่อนวัยเรียน อย่างไรก็ตาม การศึกษาในโรงเรียนเอกชนยังคงดึงดูดผู้ที่มีกำลังทรัพย์และไม่ชอบระบบการศึกษาของรัฐที่พวกเขามองว่าเข้มงวดเกินไป รวมถึงครูในโรงเรียนรัฐบาลมักเน้นเรื่องเกรดมากเกินไป ซึ่งสร้างความเครียดให้กับเด็ก

 

ในขณะที่เสียงหัวเราะของเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศเริ่มเบาบางลงเรื่อยๆ จีนกำลังเร่งหาทางออกเพื่อฟื้นฟูระบบการศึกษาปฐมวัย และกระตุ้นอัตราการเกิด แต่คำถามที่ยังคงค้างคาใจคือ มาตรการเหล่านี้จะมาทันเวลาหรือไม่ และจะสามารถพลิกฟื้นอนาคตของเด็กจีนรุ่นต่อไปได้หรือไม่?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising