×

วีระ กมธ. เสียงข้างน้อย ชี้ รัฐบาลติดกับดักทำงบประมาณ ห่วงงบขาดดุล แนะคุมเข้มรายจ่าย 3 ปี ยับยั้งวิกฤตการคลังในอนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
03.09.2024
  • LOADING...
งบประมาณปี 2568

วันนี้ (3 กันยายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท โดยเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรานั้น

 

วีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ขอตัดงบประมาณรายจ่ายมาตรา 4 เป็นจำนวนเงิน 187,700 ล้านบาท พร้อมทั้งสงวนความเห็นเพื่ออภิปรายว่า ในมาตรา 4 ของงบประมาณปี 2568 ได้กำหนดวงเงินรายจ่ายโดยรวมทั้งหมด 3,752,700 ล้านบาทนั้น โดยขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายเหลือ 3,565,000 ล้านบาท 

 

วีระกล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายตั้งงบไว้รวมทั้งหมด 3,752,700 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจาก 2 ทาง คือ มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2,887,000 ล้านบาท แหล่งที่ 2 มาจากการกู้เพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ 865,000 ล้านบาท ที่เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เนื่องจากมีงบไม่เพียงพอ จึงต้องกู้เงินมาเพิ่ม

 

วีระตั้งข้อสังเกตเพิ่มว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจัดทำงบประมาณด้วยการขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้หนี้สาธารณะพอกพูนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการทำงบประมาณที่ขาดดุลอย่างเรื้อรังสร้างความวิตกให้แก่ผู้คนในอนาคต เพราะจะทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้าง 11.54 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมด้วยการเพิ่มหนี้ขาดดุลในปีงบประมาณ 2567-2568 อีก 865,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มยอดหนี้คงค้างสาธารณะทะลุ 12 ล้านล้านบาท และอาจสูงถึง 13 ล้านล้านบาทภายในปี 2568 

 

วีระกล่าวอีกว่า ในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า หากมีการจัดทำงบประมาณที่เรื้อรังไปพร้อมกับการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปเรื่อยๆ ทุกปีเช่นนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีปัญหาทางด้านการเงินการคลังอย่างหนักหนาสาหัสแน่นอน และการจัดสรรงบประมาณในปีนี้ มีการจัดสรรผ่าน 3 ก้อน

 

  1. รายจ่ายประจำ 2,704,574 ล้านบาท 
  2. รายจ่ายลงทุน 908,224 ล้านบาท 
  3. รายจ่ายชำระคืนเงินต้น 150,001 ล้านบาท

 

วีระกล่าวอีกว่า สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนมาอย่างต่อเนื่องในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี จะเห็นว่ารายจ่ายประจำไม่ได้ลดลงและยังเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องพิจารณาถึงจุดที่อันตรายคือ รายจ่ายที่ยากจะตัดทอน ซึ่งขณะนี้ข้อมูล ณ ปี 2566 รวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 67 ซึ่งตนคิดว่าอัตราส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาขณะนี้ เงินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลที่จะดำเนินการล้วนเป็นเงินกู้ที่มีภาระที่ต้องหาเงินต้น และหาเงินดอกเบี้ยมาชำระในอนาคตทั้งหมด

หนี้รัฐบาลเป็นเช่นไร หนี้ของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น 

 

คนที่เข้าใจถึงการจัดทำงบประมาณย่อมรู้ดีว่า นี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤตการคลังในอนาคต แม้การทำงบประมาณปี 2568 และงบประมาณในอนาคตจะจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ฯลฯ ซึ่งทำถูกกฎหมาย หรือการทำตามกฎหมายครบถ้วนอย่างเคร่งครัดนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นปัญหา การทำงานตามกฎหมายอย่างครบถ้วนก็สามารถนำไปสู่วิกฤตและหายนะได้เช่นกัน หากกระทำอย่างไม่ระมัดระวังและรอบคอบ 

 

วีระกล่าวอีกว่า ในฐานะที่ติดตามงบประมาณประจำปีมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ผมอยากจะบอกว่า ประเทศของเราติดกับดักการจัดทำงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ภาระการคลังเพิ่มขึ้นทุกปี หากดูการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นก็จะเข้าใจ งบประมาณปี 2568 ตั้งงบรายงานเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐสูงถึง 410,253 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายเงินต้นเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยซึ่งต้องจ่ายกว่า 200,000 ล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่ต้องคืนให้กับสถาบันของรัฐที่ออกเงินให้ก่อน ซึ่งมียอดคงค้างไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยตัวเลขที่ทราบอย่างชัดเจนในปี 2566 จำนวน 1,000,492 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบตัวเลขคงค้างที่ชัดเจนว่าเท่าไร 

 

“นี่เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถานะทางการเงินของรัฐในปัจจุบันและในอนาคตอย่างแท้จริง หากไม่มีการยับยั้ง และจะกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลัง และนำไปสู่วิกฤตการคลัง”

 

วีระเสนอต่อที่ประชุมว่า จากนี้ตั้งแต่งบประมาณปี 2569 ต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบไม่เพิ่มรายจ่ายอีก เป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่เรียกว่า Zero Ghost Budget อย่างน้อย 3 ปี จนกว่าภาระทางความเสี่ยงจะลดลงจนถึงระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และจากนี้ถึงปี 2569 ต้องหยุดสร้างภาระทางการเงินในอนาคต โดยให้ใช้มาตรการทางการคลังออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อน และใช้เงินต้นและดอกเบี้ย และชดเชยรายได้ในภายหลังตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 

 

นอกจากการหยุดสร้างภาระทางการคลังแล้ว ยังต้องจัดสรรงบประมาณที่ค้างจ่าย และชดเชยรายได้ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท ให้ระดับใช้เงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระ รวมถึงการชดเชยรายได้ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่ทำก็หวั่นใจว่าเราอาจต้องประสบวิกฤตการเงินการคลังในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising