ครึ่งทางของปี 2024 อธิบายได้ด้วยคำเพียง 2 คำ คือ ‘ความกังวล’ และ ‘ความกลัว’ สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมสัมผัสได้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสได้พบเจอกับผู้นำในหลายๆ ภาคส่วน
ต้องยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์ของโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เป็นโลกที่ Unknown Unknowns ไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตล่วงหน้าได้ จากความไม่แน่นอนที่เคยนิยามกันโดยใช้คำว่า VUCA (Volatility ความผันผวน, Uncertainty ความไม่แน่นอน, Complex ความซับซ้อน และ Ambiguity ความคลุมเครือ) ต่อเนื่องมาจนถึง BANI (Brittle ความเปราะบาง, Anxious ความวิตกกังวล, Nonlinear ความไม่เป็นเส้นตรง และ Incomprehensible ความไม่สมเหตุสมผล) ตอนนี้กลายเป็นความไม่แน่นอนที่ซ้อนกันแล้วซ้อนกันอีก กลายเป็นโลกที่ Hyper ในทุกๆ ด้าน นั่นหมายถึงความไม่แน่นอนนี้อยู่ในอัตราเร่งที่ทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าเปรียบองค์กรเป็นเหมือนเรือที่กำลังแล่นอยู่กลางมหาสมุทร ขณะนี้พายุลูกใหญ่ที่เราเคยมองเห็นไกลๆ ได้เข้ามาประชิดเรือของเราแล้ว สัญญาณของมรสุมกำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และถ้าไม่ทันตั้งตัวมันอาจจู่โจมเรือของเราได้ทุกเมื่อ
- THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ครบที่สุดแห่งปี! ไม่ตกเทรนด์ปี 2025 ด้วยงานเดียว เศรษฐกิจ AI ภูมิรัฐศาสตร์ EV อินไซต์จากผู้ออกแบบนโยบาย ซื้อบัตรได้ที่ ZipEvent
สัญญาณมรสุมที่เห็นได้อย่างชัดเจนในรอบปีที่ผ่านมามีทั้งเรื่องของทุนจีน ที่วันนี้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากการทุ่มตลาดและสินค้าต้นทุนต่ำที่ไหลบ่ามากระทบทุกอุตสาหกรรม เทคโนโลยีอย่าง AI ที่ทำให้โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงไปในชั่วข้ามคืน การแข่งขันกันอย่างดุเดือดของหลายประเทศเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นขุมพลังขับเคลื่อนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คนใช้กันทั่วโลก ยานยนต์ EV ที่เคยเป็นเทรนด์มาแรง แต่วันนี้หนทางอาจไม่สดใส เมื่อผู้บริโภคหันกลับไปเลือกเทคโนโลยีไฮบริด หรือเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่กำลังกลายเป็นกฎกติกาใหม่ของโลก ขณะที่เรื่อง Climate Adaptation ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญเพื่อหาทางรอดในยุคสภาพอากาศสุดขั้ว สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของเมกะเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้อย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากเมกะเทรนด์ระดับโลกแล้ว สำหรับประเทศไทยเองก็มีปัจจัยเสี่ยงที่สะสมมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว เช่น เรื่อง Rule of Law หรือกติกากฎหมายที่บิดเบี้ยว การคอร์รัปชันที่ฝังรากลึก ยังไม่รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่วันนี้มีผลกระทบสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ถ้าหันไปดูที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบตัวเราหลายๆ ประเทศอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ที่แม้จะเผชิญความท้าทายไม่ต่างจากประเทศไทย แต่ดูเหมือนพวกเขากำลังไล่กวดด้วยสปีดที่เร็วและแรง พร้อมแซงเราขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อทุกปัจจัยกำลังประดังประเดเข้ามา ความกังวลและความกลัวจึงไม่ได้มีแค่ผู้นำเท่านั้นที่รู้สึกได้ เพราะมันกำลังกลายเป็นความรู้สึกร่วมที่คนทุกคนในองค์กรรู้สึกไม่ต่างกัน
กลัวว่าตัวเองจะไม่มีค่าอีกต่อไป
กลัวถูกแทนที่ในวันใดวันหนึ่ง
กลัวสิ่งใหม่ๆ ที่จะต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
เมื่อความกลัวเข้าครอบงำ สุดท้ายไฟในการทำงานที่เคยลุกโหมอาจดับสูญลงในวันใดวันหนึ่ง
ในฐานะผู้นำองค์กรที่อยู่ในจุดที่สูงที่สุดของเรือ มองเห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าคนบนเรือที่เหลือ ถ้าหน้าที่ของคุณคือการนำพาเรือลำนี้แล่นไปในทิศทางที่มีโอกาสรออยู่มากที่สุด สิ่งที่คุณควรทำเป็นอันดับแรกคือการปลุกความหวังขึ้นมาอีกครั้ง จัดวางความกังวลและความกลัวไปอยู่ในมุมที่ลึกที่สุด และเพิ่มความกล้าด้วยความรู้
วิธีที่ผมมักจะใช้บ่อยๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ คือการเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ 3 ข้อ
What: เกิดอะไรขึ้น
So What: สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบเราอย่างไร
Now What: เราทำอะไรได้บ้าง
What
อาจดูเหมือนง่าย แต่ที่จริงแล้วไม่ง่าย เพราะเวลาของทุกคนมีจำกัด ขณะที่โลกนี้มีเรื่องราวที่รอให้เรารู้เต็มไปหมด ดังนั้นเราจึงต้องเลือกเสพข้อมูลที่มีประโยชน์ หาความรู้เพิ่มเติมด้วยการอ่านหนังสือ คุยกับคน หรือหาความรู้ในแบบที่ตัวเองถนัด ยิ่งถ้าคนทำงานในองค์กรมีความรู้ที่อยู่ในระนาบเดียวกับผู้นำองค์กร ผมเชื่อว่าจะทำให้องค์กรนั้นได้เปรียบ เพราะทุกคนมองเห็นภาพความท้าทายไปในทิศทางเดียวกัน
So What
คำถามนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการตั้งคำถามกลับมาที่ตัวเองว่าเรื่องที่เรารู้มานั้นเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถตามกระแสเมกะเทรนด์ได้ทันทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยควรรู้ก่อนว่าเรามีจุดแข็งอะไร เช่น หากรู้ว่า AI กำลังจะมาทำหน้าที่ในบางเรื่องที่เราเคยทำอยู่ ดังนั้นเราจำเป็นต้องรู้ว่าแล้วอะไรที่ AI ทำไม่ได้ และเพิ่มทักษะเหล่านั้น เช่น Human Touch ที่อาจจะกลายเป็นความหรูหราในอนาคต ทักษะการสื่อสารที่ดี ความ Empathy เมื่อรู้แล้วจึงไปฝึกฝนทักษะเหล่านั้น หรือเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่รู้ เพื่อไปดักรออนาคต ซึ่งแต่ละคนจะมีโจทย์ไม่เหมือนกัน จะได้เปรียบหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครที่ตั้งคำถามนี้ได้ดีกว่า และตอบโจทย์ได้ตรงจุดกว่า
Now What
คือการลงมือทำ สิ่งสำคัญคือต้องโฟกัส เพราะผมเชื่อว่าเราคงทำทุกอย่างไม่ได้ ต้องเรียงลำดับความสำคัญว่าควรจะทำอะไรก่อน-หลัง อะไรที่ทำน้อยได้มาก อะไรที่ทำแล้วสร้างอิมแพ็กต์มากที่สุด อะไรที่ทำแล้วกำไรเพิ่มขึ้น อะไรที่ทำแล้วได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ให้เลือกทำสิ่งนั้นก่อน แล้วโฟกัสกับมัน
ถ้าเรามี What, So What และ Now What ที่ตกตะกอนมาอย่างดีแล้ว ที่สุดแล้วความกลัวก็จะลดลง และอาจทำให้คุณกล้าลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อตามเทรนด์เหล่านั้นให้ทัน
บทสรุปคือต้องรู้ทัน เท่าทัน และวิ่งตามให้ทัน
ผมเชื่อเสมอว่าพลังของปัญญาจะทำให้เรารู้สึกกล้ามากขึ้น กล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะเดินหน้าต่อไป และมีความหวังในการที่จะพาเรือลำนี้เดินหน้าต่อไปได้ในโลกใบใหม่
- THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ครบที่สุดแห่งปี! ไม่ตกเทรนด์ปี 2025 ด้วยงานเดียว เศรษฐกิจ AI ภูมิรัฐศาสตร์ EV อินไซต์จากผู้ออกแบบนโยบาย ซื้อบัตรได้ที่ ZipEvent
- ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://thestandard.co/thestandardeconomicforum2024/