วันนี้ (30 สิงหาคม) กรมอุตุนิยมวิทยารายงานพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
อนึ่ง พายุโซนร้อน ‘ชานชาน’ ปกคลุมบริเวณตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ข้อมูล ณ เวลา 07.00 น. พื้นที่กรุงเทพมหานครมีฝนตกเล็กน้อย ปริมาณฝนรวมสูงสุดที่จุดวัดคลองบางนา-ถนนศรีนครินทร์ เขตบางนา 14.5 มิลลิเมตร, คลองประเวศฯ-รพ.ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง, 10.5 มิลลิเมตร, สำนักงานเขตประเวศ 6.0 มิลลิเมตร และประตูระบายน้ำคลองหลวงแพ่ง เขตหนองจอก 3.0 มิลลิเมตร
ขณะที่กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา เวลา 07.00 น. เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำแบบขั้นบันไดอยู่ในอัตรา 900-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้
- สถานี C2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,311 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.74 เมตร
- สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,300
ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัว ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 4.24 เมตร
หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป