×

ปภ. รายงานเหตุอุทกภัย 6 จังหวัด ประชาชนรับผลกระทบ 10,432 ครัวเรือน เฉพาะสุโขทัยระดับน้ำยังไม่ลดลง

โดย THE STANDARD TEAM
28.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (28 สิงหาคม) เวลา 10.00 น. ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

 

ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16-28 สิงหาคม 2567 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา, น่าน, ลำปาง, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, เลย, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, ระยอง, ภูเก็ต, ยะลา และนครศรีธรรมราช รวม 75 อำเภอ 312 ตำบล 1,694 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,730 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย

 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวม 25 อำเภอ 102 ตำบล 609 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,432 ครัวเรือน ได้แก่

 

  1. จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงชัย, อ.เชียงแสน, อ.ป่าแดด, อ.พญาเม็งราย, อ.เชียงของ, อ.ขุนตาล, อ.เมืองเชียงราย, อ.พาน, อ.เวียงเชียงรุ้ง, อ.แม่สรวย, อ.แม่ลาว และ อ.เทิง รวม 35 ตำบล 194 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,328 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และระดับน้ำลดลง

 

  1. จังหวัดพะเยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปง, อ.เชียงม่วน, อ.ดอกคำใต้, อ.ภูซาง, อ.เมืองพะเยา และ อ.เชียงคำ รวม 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และระดับน้ำลดลง

 

  1. จังหวัดสุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสุโขทัย, อ.ศรีสำโรง, อ.สวรรคโลก และ อ.ศรีสัชนาลัย รวม 24 ตำบล 90 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,590 ครัวเรือน และระดับน้ำทรงตัว

 

  1. จังหวัดนครสวรรค์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ คือ อ.เมืองนครสวรรค์ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน และระดับน้ำลดลง

 

  1. จังหวัดเลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ คือ อ.เมืองเลย รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน และระดับน้ำลดลง

 

  1. จังหวัดหนองบัวลำภู เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ คือ อ.ท่าลี่ รวม 1 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11 ครัวเรือน และระดับน้ำลดลง

 

ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่และมีเพียงจังหวัดสุโขทัยที่ระดับน้ำยังคงทรงตัว สำหรับการแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สำนักงาน ปภ. แต่ละจังหวัดได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

 

โดยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการระดมกำลังพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

ในส่วนของการเสริมกำลังช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ปภ. ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนธิกำลังร่วมส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 ‘The Guardian Team’ สนับสนุนภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่

 

ไชยวัฒน์กล่าวต่อว่า ปภ. ยังได้ส่งทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยและยานพาหนะ จากศูนย์ ปภ. เขตใกล้เคียงและศูนย์ ปภ. เขตภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัยพิบัติ เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย ศูนย์ ปภ. เขต 10 ลำปาง, ศูนย์ ปภ. เขต 6 ขอนแก่น และศูนย์ ปภ. เขต 5 นครราชสีมา

 

สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้ระดมกำลังฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงได้เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายเพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังต่อไป

 

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางแอปพลิเคชัน LINE ‘ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784’ โดยเพิ่มเพื่อน ผ่าน LINE ID: @1784DDPM รวมถึงแจ้งทางสายด่วนนิรภัย 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน ‘THAI DISASTER ALERT’

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising