พาเวล ดูรอฟ มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย วัย 39 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน Telegram โซเชียลมีเดียยอดนิยมของรัสเซีย ถูกทางการฝรั่งเศสจับกุมตัวที่สนามบินเลอบูร์เกต์ ชานกรุงปารีส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 สิงหาคม) หลังเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวมาจากกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน
โดยเขาถูกควบคุมตัวและสอบสวนในหลายข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่างๆ รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าแพลตฟอร์ม Telegram มีส่วนรู้เห็นในการช่วยผู้กระทำผิดทางอาญา ทั้งการฟอกเงิน ลักลอบค้ายาเสพติด และเผยแพร่สื่อลามกเด็ก
อย่างไรก็ตาม การจับกุมดูรอฟที่ได้ฉายาว่า ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย’ จุดชนวนให้เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดและเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในโลกอินเทอร์เน็ต
ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสส่งสัญญาณ ‘เอาจริง’ ในการจัดการกับโซเชียลมีเดียที่ถูกมองว่าบกพร่องและปล่อยให้เกิดการดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังไม่แน่ว่าการจับกุมดูรอฟในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อ Telegram ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญในพื้นที่ขัดแย้ง รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน
เกิดอะไรขึ้น?
ดูรอฟถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานต่อต้านการฉ้อโกง ซึ่งสังกัดหน่วยงานศุลกากรของฝรั่งเศส โดยมีหมายจับจากสำนักงานตำรวจเพื่อนำตัวเขาไปสอบสวน และมีการตั้งข้อหาอาญาถึง 12 กระทง รวมถึงการมีส่วนรู้เห็นในการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน และการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก
โดยดูรอฟถูกกล่าวหาว่าละเลยในการปล่อยให้มีการใช้แพลตฟอร์ม Telegram เพื่อกระทำผิดดังกล่าว และหากถูกตัดสินว่ามีความผิด เขาอาจต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี
ทางด้านสำนักงานอัยการในปารีสกล่าวว่า การควบคุมตัวดูรอฟเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยอัยการยังกล่าวหาดูรอฟว่าปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับทางการฝรั่งเศสในการสกัดกั้นการสื่อสารที่อาจผิดกฎหมายใน Telegram ซึ่งล่าสุดทางการได้ขยายเวลาควบคุมตัวเขาออกไป และสามารถขยายเวลาได้จนถึงวันพุธนี้ (28 สิงหาคม)
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า การจับกุมดูรอฟนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘การสอบสวนทางกฎหมายที่ยังคงดำเนินอยู่’ และ ‘ไม่ใช่การตัดสินใจด้วยเหตุผลทางการเมือง’
ขณะที่มาครงชี้แจงข้อกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก โดยกล่าวว่า “ในรัฐที่ปกครองด้วยหลักนิติธรรม บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่นเดียวกับในชีวิตจริง เสรีภาพต่างๆ ถูกใช้ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดขึ้น เพื่อปกป้องพลเมืองและเคารพสิทธิพื้นฐานของพวกเขา” พร้อมทั้งยืนยันว่า “ฝรั่งเศสยึดมั่นในเสรีภาพการแสดงออกและการสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการ และจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป”
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย
ดูรอฟ ซึ่งเกิดในรัสเซีย แต่ปัจจุบันถือ 4 สัญชาติ ได้แก่ รัสเซีย, สหพันธรัฐเซนต์คิตส์และเนวิส, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย’
โดยเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโซเชียลมีเดีย VKontakte หรือ VK ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในรัสเซียตั้งแต่ปี 2007 ก่อนจะกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากการเสนองานให้กับ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองชาวอเมริกันที่ลี้ภัยในรัสเซีย หลังออกมาแฉรายละเอียดโครงการการสอดส่องพลเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2013
อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 ดูรอฟเผยว่าตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของ VK และหนีออกนอกประเทศ หลังถูกทางการรัสเซียเข้าแทรกแซง โดยกดดันให้ VK ยอมอนุญาตให้หน่วยงานรัฐเข้าถึงข้อมูลบัญชีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในยูเครน อีกทั้งพันธมิตรของปูตินยังเริ่มเข้ามาควบคุมแอปพลิเคชัน
หลังหนีออกจากรัสเซีย ดูรอฟและพี่ชายของเขาจึงได้ร่วมกันพัฒนา Telegram ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ดูรอฟติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอันดับที่ 120 โดยมีมูลค่าทรัพย์สิน ณ ปัจจุบันราว 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์
ขณะที่ดูรอฟยืนกรานในจุดยืนของเขาในการไม่ก้าวก่ายการควบคุม Telegram และกำหนดจุดยืนหลักของแพลตฟอร์มในด้านความเป็นส่วนตัว แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่าแนวทางนี้ทำให้ Telegram กลายเป็นแหล่งรวมกิจกรรมผิดกฎหมาย
Telegram คืออะไร?
สำหรับแอปพลิเคชัน Telegram เป็นแอปส่งข้อความผ่านระบบคลาวด์ที่เปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2013 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึงกว่า 900 ล้านคน และมียอดการดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจาก WhatsApp และ Snapchat
โดยทีมพัฒนา Telegram นั้นอยู่ในนครดูไบ โดยนอกจากรัสเซียแล้ว สหรัฐฯ และอินเดียยังเป็นตลาดหลักที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบการสร้างรายได้ของแอปพลิเคชันหลักๆ มาจากโฆษณาและการสมัครสมาชิก
จุดเด่นของ Telegram นั้นมีตั้งแต่การเป็นแอปพลิเคชันสนทนาทั่วไป ไปจนถึงการเผยแพร่ข้อความของรัฐบาล ซึ่งสามารถส่งไฟล์ภาพและคลิปวิดีโอขนาดใหญ่ รวมถึงตั้งกลุ่มหรือช่องเพื่อเผยแพร่คอนเทนต์หรือข้อมูลต่างๆ
ที่ผ่านมา Telegram กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญของประชาชนในหลายประเทศ รวมถึงในพื้นที่ขัดแย้งอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งถูกใช้ในการแบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับสงครามและส่งข้อความเตือนเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศ อีกทั้งยังเป็นทางเลือกหลักของชาวรัสเซีย หลังจากแพลตฟอร์มอย่าง Twitter และ Facebook ถูกแบน
เสรีภาพในการพูด
Telegram เปิดเผยว่าดูรอฟให้การสนับสนุน Telegram ทั้งในด้านการเงินและอุดมการณ์ โดยทางแพลตฟอร์มไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาใดๆ ด้วยแรงจูงใจทางการเมือง แต่ก็มีการดำเนินการปิดกั้นช่องหรือเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับกลุ่มก่อการร้าย และยืนยันว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายของสหภาพยุโรป และการควบคุมดูแลของ Telegram เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การจับกุมดูรอฟที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า ผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยีควรต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของตนเองหรือไม่ ซึ่งทาง Telegram ออกแถลงการณ์ว่าการกระทำของทางการฝรั่งเศสที่จับกุมดูรอฟเป็นเรื่องที่ ‘ไร้สาระ’
นอกจากนี้หลายบุคคลมีชื่อเสียงต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจับกุมดูรอฟที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการพูด
โดย อีลอน มัสก์ โพสต์ #FreePavel บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ของเขา ขณะที่ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ มองว่าการจับกุมดูรอฟสะท้อนถึงความจำเป็นในการปกป้องเสรีภาพในการพูด
ภาพ: Albert Gea / File Photo / Reuters
อ้างอิง: