อีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือภายในวันที่ 2 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ มวลน้ำจากภาคเหนือจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และพัดพาเข้ามายังกรุงเทพฯ ตามคาดการณ์ของคณะทำงานกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรีจนถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตลอดจนข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ล้วนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะไม่หนักเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 ที่เคยเกิดขึ้นแน่นอน
ทว่าแม้จะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แต่ชาวกรุงเทพฯ ไม่น้อยยังคงสงสัยว่า โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในจุดต่างๆ มีมากน้อยแค่ไหน และพวกเราควรต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง THE STANDARD ได้พูดคุยกับ ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพื่อคลายข้อสงสัยเรื่องนี้
ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน.
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ดร.รอยบุญได้ร่วมติดตามสถานการณ์พร้อม ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ในจังหวัดน่าน เพื่อมอบถุงยังชีพเยียวยาประชาชน และติดตามการรายงานสถานการณ์น้ำผ่าน Mobile War Room
ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สสน. รับนโยบายจาก ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินภารกิจเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานสถานการณ์น้ำจาก ดร.รอยบุญ ที่จังหวัดน่าน
น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ จริงหรือ?
“เราต้องยอมรับความจริงว่ากรุงเทพฯ ก็มีโอกาสท่วมด้วยตัวเขาเองอยู่แล้ว แต่ก็เป็นระยะสั้นๆ” ดร.รอยบุญกล่าว
ผู้อำนวยการ สสน. เปรียบเทียบกับกรณีเมื่อวานนี้ (26 สิงหาคม) ที่มีฝนตกกระจุกในจังหวัดอุดรธานี ส่งผลให้น้ำท่วมตัวเมือง แต่ก็ไม่มีใครทราบ เพราะความสนใจขณะนี้อยู่ที่ภาคเหนือ เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ต้องมีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างที่จะบริหาร ระบบปั๊ม หลายจุดก็ยังมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ประตูบางทีก็ใช้การไม่ได้
“เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนน้ำมาน่าจะสำคัญมาก รวมทั้งอุปกรณ์ปั๊มน้ำ ไม่ใช่มาซ่อมกันในวินาทีสุดท้าย”
คนกรุงเทพฯ ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ระบุผ่านการไลฟ์ตรวจสอบการป้องกันน้ำเมื่อวานนี้ว่า ขณะนี้น้ำเหนือไม่ได้น่าเป็นห่วงเท่าน้ำจากฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญของสถานการณ์น้ำท่วม
ดร.รอยบุญอธิบายว่า กรุงเทพฯ มีสภาพเป็น Heat Dome (โดมความร้อน) อยู่แล้ว ก็มีโอกาสที่จะเกิดฝนตก ปัจจุบันนี้เห็นได้ชัดว่าฝนตกหนักเกิน 150-200 มิลลิเมตร เกิดขึ้นทั้งประเทศ อย่างที่จังหวัดน่านก็ 408 มิลลิเมตรที่ท่าวังผา และเกิดใน 8 อำเภอ แน่นอนที่สุดย่อมเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
“นี่เป็นผลจาก Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) จะเห็นได้ว่าฝนตกหนักทั้งอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ในเวลาเดียวกัน ชัดมากๆ ว่า Climate Change คนที่ต้อง Change คือพวกเรา”
เจ้าหน้าที่จัดเรียงกระสอบทรายป้องกันน้ำเหนือบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ
ภาพ: ฐานิส สุดโต
ดร.รอยบุญมองว่าในปัจจุบันที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ อยากให้ช่วยสื่อสารและติดตามตำแหน่ง สร้างความพร้อมตัวเราเอง เช่น สังเกตดูทางระบายน้ำในบริเวณที่พักอาศัยของตัวเองว่ามีขยะหรือสิ่งอุดตันหรือไม่ จะทำความสะอาดกันเองอย่างไร ต้องเริ่มจากตัวเรา ไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือมาถึงก่อน
ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ความเสี่ยงสูงนั้น ดร.รอยบุญชี้ว่า บริเวณที่มีสิ่งปลูกสร้างหรือกำลังซ่อมแซม บางทีจะมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งต้องดู อย่างที่เจอตอนปี 2554 ทีมไปช่วยแก้น้ำท่วมพบขยะที่อยู่ในคลองเป็นที่นอน 7 หลัง
“พื้นที่กรุงเทพฯ น่าจะท่วมในช่วงสั้นๆ เพียงแต่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณเสี่ยงเริ่มรู้แล้วว่าจะท่วม ถนนอาจจะต่ำ ปั๊มอาจจะเสีย ซึ่งตอนนี้ผู้ว่าฯ กทม. ก็ประกาศจุดเสี่ยงชัดแล้วอย่างเช่นถนนวิภาวดี ช่วงฝนตกหนักเราก็จะรู้ว่าไม่ควรขับเลนนอก ควรขับเลนด้านใน เพราะน้ำจะล้น ทุกคนต้องพร้อมที่จะปรับตัวหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น”
รู้ล่วงหน้า เตรียมตัวก่อนน้ำมา
ดร.รอยบุญแนะนำว่า จากข้อมูลของ สสน. จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยในการเตรียมรับมือน้ำท่วมของประชาชนได้ ทั้งในเว็บไซต์ thaiwater.net รวมถึงแอปพลิเคชัน ThaiWater จะแสดงผลให้เห็นว่าตรงไหนน้ำล้นตลิ่ง ตรงไหนที่ปริมาณน้ำฝนตกมากเกิน 24 ชั่วโมง มีทั้งสีแดง สีส้ม
“หากเราอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสีส้มนี่ก็ต้องดูแล้ว ถ้าน้ำหลากมามันจะลงเรา เราก็จะได้เตรียมตัวกันได้ก่อน คือถ้ารอประกาศก็หลายเหตุผล เรื่องของความพร้อม เครื่องมือในการประกาศ จุดอพยพ อาจจะต้องเช็กกันด้วย เพราะเรื่องนี้จำเป็นมากๆ ถ้ารู้ล่วงหน้า”
ขณะที่การเคลื่อนตัวของน้ำเหนือ ซึ่งจะมาบรรจบที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญคือจังหวัดนครสวรรค์ ที่เป็นประตูสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดร.รอยบุญเผยว่า จะมีพื้นที่รับน้ำบึงบอระเพ็ด และขณะนี้มีจุดตัดยอดน้ำหลากได้หลายจุดแล้ว ในภาพรวมถือว่ามีการจัดระบบได้ดีกว่าปี 2554
อย่างไรก็ตาม ดร.รอยบุญย้ำว่า ยังไม่อาจวางใจเรื่องสถานการณ์น้ำในประเทศไทย และยังต้องติดตามกันต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายนและตุลาคม เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้า 1-2 ลูก โดยสามารถติดตามได้จากการรายงานและคาดการณ์ของ สสน.
เรือของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เก็บขยะและผักตบชวาขึ้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมรองรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ
ภาพ: ฐานิส สุดโต