เปิดเหตุผลทำไมเศรษฐกิจไทยขยายตัว แต่คนบางกลุ่มยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ล่าสุดแบงก์ชาติได้ฉายภาพให้เห็นชัดๆ ว่าอุตสาหกรรมไหนฟื้นตัวแล้ว และอุตสาหกรรมไหนยังน่าห่วง! จากข้อมูลพบว่าอุตสาหกรรม 40% ของ GDP ยังไม่ฟื้นหรือฟื้นไม่ชัด ขณะที่แรงงานเกือบ 60% ทำงานอยู่ในภาคส่วนที่ยังฟื้นตัวไม่ได้
ในงานแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในภาพรวม แต่มีความแตกต่างค่อนข้างมากในภาพย่อย
โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่าภาคส่วนที่ฟื้นตัวดี ได้แก่ การท่องเที่ยวและภาคบริการ เช่น การค้า เป็นภาคส่วนที่ ‘ฟื้นตัวดีต่อเนื่องในภาพรวม’ คิดเป็น 60% ของ GDP
อุตสาหกรรม 40% ของ GDP ยังไม่ฟื้นตัวหรือฟื้นไม่ชัด
ขณะที่ภาคส่วนที่การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน หรือ ‘ทรงๆ’ คิดเป็น 34% ของ GDP ได้แก่
- อสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายภาครัฐล่าช้า รวมทั้งสินเชื่อธุรกิจก่อสร้างและสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง
- เกษตร ผลผลิตช่วงที่ผ่านมาถูกกระทบจากเอลนีโญ ในระยะต่อไปจะได้รับผลดีจากสภาพอากาศที่ปรับตัวดีขึ้น
- บางภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจีนที่สูงขึ้น (China-flooding) เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์ ถูกกดดันจากสินค้าจีนต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ
สำหรับภาคส่วนที่ฟื้นตัวช้า คิดเป็น 6% ของ GDP ไทย ได้แก่
- ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ ที่แย่ลงทั้งซัพพลายเชนจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรและเชิงโครงสร้าง และเผชิญแรงกดดันในระยะต่อไป
- อิเล็กทรอนิกส์ (IC) ที่ได้รับประโยชน์จาก Electronic Cycle ไม่เต็มที่ และอุปสงค์โลกชะลอตัว
- ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ซึ่งถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD)
เกือบ 60% ของแรงงานไทยอยู่ในภาคส่วนที่ยังไม่ฟื้นตัว
ปิติกล่าวอีกว่า จำนวนแรงงานและธุรกิจที่อยู่ในภาคการผลิตในกลุ่มที่ฟื้นตัวดีและยังไม่ฟื้นตัวดี ‘คิดเป็นครึ่งๆ’ หมายความว่า มีแรงงานและบริษัทจำนวนไม่น้อยที่การฟื้นตัวยังไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนสาเหตุของการฟื้นตัวที่ค่อนข้างจะล่าช้าในแต่ละภาคส่วน (Sector) ก็มีต้นตอแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ภาคอสังหาและภาคก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2567
นอกจากนี้การฟื้นตัวที่ไม่ค่อยดีของกิจกรรมในบางภาคส่วน เช่น ภาคอสังหาและธุรกิจยานยนต์ ได้รับผลกระทบจากภาวะการเงิน หรือการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอลงด้วย
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย