×

Best Timing ทบทวนนโยบาย Digital Wallet

20.08.2024
  • LOADING...

หลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 คำถามสำคัญที่ตามมาคือ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของแพทองธารจะยังคงเดินหน้าโครงการสำคัญๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงและอยู่ระหว่างดำเนินการหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ที่ปัจจุบันมียอดผู้ลงทะเบียนทั่วประเทศแล้วกว่า 30 ล้านคน

 

ที่ผ่านมา เราได้รับทราบมุมมองต่อนโยบายดังกล่าวมาพอสมควร ในความคิดเห็นของผม ช่วงเวลานี้ (ระหว่างการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่) เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด (Best Timing) สำหรับแพทองธารและพรรคเพื่อไทย ที่จะทบทวนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้งหนึ่ง บทความนี้ชวนมองโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยใช้กรอบแนวคิดจากเศรษฐศาสตร์การพัฒนา มี 2 ประเด็น ดังนี้

 

1. โครงการดิจิทัลวอลเล็ตตั้งต้นจากกรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่แคบเกินไปเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ผู้สนับสนุน (Cheerleader) ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมักกล่าวอยู่เสมอว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการนำแนวคิดที่ได้เรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคตัวต้นมาอธิบาย โดยเริ่มจากการพูดถึงการกำหนดขึ้นของรายได้ประชาชาติ หรือ National Income Identity ว่าประกอบไปด้วย การบริโภค (Consumption), การลงทุน (Investment), การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government Expenditure), และการส่งออกสุทธิ (Net Export) และอธิบายต่อว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้จากการเพิ่มตัว C หรือการบริโภคเอกชน

 

การอธิบายเช่นนี้สะท้อนว่าผู้สนับสนุนรายนี้/กลุ่มนี้ แยกไม่ออกระหว่างการวัด (Measurement) และปัจจัยกำหนด (Determinants) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การนำ C+I+M+X-M นั้น เป็นหนึ่งในวิธีที่เราพยายามจะวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนนโยบายหรือติดตามสภาวะการทำงานของเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะหาก C+I+M+X-M เป็นสูตรสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คงไม่มีประเทศไหนนำเข้าสินค้าเพราะรู้ว่า GDP จะลดลง!

 

สำหรับคนที่เรียนจบสาขาเศรษฐศาสตร์เพียงแค่ระดับปริญญาตรีคงจะได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development Economics) กันมาบ้าง วิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญๆ เช่น Arthur Lewis, Simon Kuznets, Amartya Sen รวมถึง Abhijit Banerjee และ Esther Duflo (แฟนๆ เศรษฐศาสตร์การพัฒนาคงจะไม่โกรธเคืองหากผมไม่ได้พูดถึงนักเศรษฐศาสตร์คนโปรดของท่าน!) แม้ว่าแต่ละคนจะมีทฤษฎีที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายสำคัญของวิชาดังกล่าวคือการหาคำตอบว่า เหตุใดประเทศหนึ่งถึงร่ำรวย อีกประเทศถึงยากจน ประสบการณ์การลดความยากจนของประเทศที่รวยแล้วปัจจุบันเป็นอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการลดความยากจน มีนโยบายใดบ้างที่เวิร์กและไม่เวิร์กในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

จากการติดตามพัฒนาการของวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาอย่างใกล้ชิด สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือน Wisdom ที่ยึดถือกันในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาคือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นคนละเรื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราจะโฟกัสแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (วัดจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง หรือ Real GDP) ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ‘Invention’ หรือการสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา โดยแบบจำลองพื้นฐาน (Traditional Model) ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการศึกษาปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ Solow Model ซึ่งมีข้อสรุปว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะหยุดลง ‘หาก’ เทคโนโลยีของการผลิต (Technology of Production) ไม่เติบโตอย่าง Exponentially ขณะเดียวกัน Endogenous Growth Models เช่น The Romer Model และ The Schumpeterian Model ให้ความสำคัญกับ Ideas หรือความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) และนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Progress) นอกเหนือจากเรื่องของไอเดียแล้ว การเพิ่มขึ้นของประชากร (Population Growth) ยังเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจจัยการผลิต แต่รวมถึงโอกาสที่นวัตกรรมใหม่ๆ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะเกิดขึ้น

 

นอกเหนือจากทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัยเชิงประจักษ์ (Stylized Fact from Empirical Research) ยังแบ่งปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. Deep (Fundamental) Determinant
  2. Proximate Determinant

 

ซึ่ง Deep Determinant ประกอบด้วยสถาบัน วัฒนธรรม ศาสนา ที่ตั้งของประเทศ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ (Ethnolinguistic Fractionalization) และการเปิดเสรีทางการค้า (Openness to Trade) ขณะที่ Proximate Determinant คือ การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิต มีเหตุปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technological Change) ทุนมนุษย์ ประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาทางการเงิน

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเปรียบเสมือน ‘Manna from Heaven’ ส่งผลให้คนไทยมีอิสระทางการเงินเพียงชั่วครู่ แต่หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การใช้จ่ายเงินผ่าน Digital Wallet สามารถเพิ่มตัว C ในสมการ National Income Identity ได้จริงคือ การมี Leakage ไปยังสินค้านำเข้าในปริมาณที่ต่ำ และผู้เข้าร่วมโครงการใช้เงิน 10,000 นี้ ‘เพิ่มขึ้น’ จากค่าใช้จ่ายเดิมที่มีอยู่แล้ว หากเป็นเช่นนั้นผลกระทบระยะสั้นอาจเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตชั่วคราวเพื่อให้สอดรับกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับการสร้าง Invention หรืออะไรใหม่ๆ ที่เป็นเสาหลักของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่โฟกัสกับตัวเลข GDP ที่วัดจาก C+I+G+X-M

 

รัฐบาลใหม่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร ควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Invention รวมถึงการส่งเสริมปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Deep และ Proximate) ไม่ใช่แค่โฟกัสกับตัวเลข GDP ที่วัดจาก C+I+G+X-M

 

2. โครงการดิจิทัลวอลเล็ตตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ผิดพลาด (False Assumption) เกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย

 

หากย้อนดูพัฒนาการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์เรียกช่วงเวลา 2530-2539 ว่า ‘Economic Boom Period’ เพราะ Real GDP ของไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ต่อปี ในช่วงเวลาดังกล่าว ไทยคือประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก วาทะเกี่ยวกับเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย (ต่อจากสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้) เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ จนทำให้ธนาคารโลกกล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ‘Miracle’

 

การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment) ซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของ GDP ระหว่างปี 2534-2539 แต่หลังเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง การลงทุนเอกชนของไทยไม่เคยกลับไปสู่จุดเดิมอีกเลย ในปี 2566 สต็อกทุนมีสัดส่วนประมาณ 23% ของ GDP ใกล้เคียงกับปี 2513 หรือ 50 ปีที่แล้ว ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 30% ของ GDP และสูงกว่าไทยนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

 

 

ในทางตรงกันข้าม โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกมองว่าเป็นกระสุนกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กระสุนที่ว่าคือการเพิ่มการบริโภคของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาเรื่องของการบริโภคเอกชน จากการแถลง GDP ไตรมาส 2/67 จากสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อพิจารณา GDP ด้านรายจ่ายพบว่า GDP โตขึ้นจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าร้อยละ 6.8 โดยมีประมาณการว่า ในปี 2567 การลงทุนภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการเติบโตเมื่อปี 2565 และ 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ การขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนคือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยโตช้านั้นไม่ได้มีเหตุปัจจัยมาจากด้านดีมานด์

 

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณา GDP ด้านการผลิต พบว่าการผลิตอุตสาหกรรมติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางด้านซัพพลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร เคมี โลหะประดิษฐ์ และเฟอร์นิเจอร์ ที่เผชิญกับการหดตัวของผลิตภาพการผลิต อันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การใช้ทุนต่อแรงงานลดลง การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาลดลง ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มลดลง

 

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยกำหนดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาที่มี Growth สูงๆ โจทย์ของรัฐบาลในปัจจุบันคือจะทำอย่างไรให้การลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment) กลับมาสูงดังเดิม แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นการสร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน (Investment Climate) ของภาคเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้สัญญา (Contract Enforcement), การปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สิน (Respect for Property Rights), การแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition), นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ, กฎระเบียบที่โปร่งใส, กฎระเบียบของราชการ และความล่าช้าในการปฏิบัติงานของราชการ

 

เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีความพยายามพอสมควรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (รู้จักในชื่อการกิโยตินกฎหมาย) ไม่ต้องกู้งบประมาณจากที่ไหนนับแสนล้าน แต่ต้องอาศัยความเด็ดขาดและเอาจริงเอาจังของผู้นำในการรื้อระบบระเบียบราชการเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ซึ่งสามารถยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่น

 

จากข้อมูลของ Doing Business Report ปี 2020 แม้ว่าคะแนนรวมของไทยจะรั้งอันดับที่ 21 ของโลก จากทั้งหมด 190 ประเทศ แต่ไทยยังมีคะแนนต่ำในเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลงทุนของเอกชน เช่น การจดทะเบียนทรัพย์สิน (Registering Property) ที่แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย แปซิฟิก และประเทศ OECD ในเรื่องของจำนวนขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ แต่ค่าใช้จ่ายยังมีราคาสูง

 

นอกจากนั้น เมื่อดูความเห็นของประชาชนต่อการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สิน เมื่อไปดูดัชนี Trade Facilitation Indicators (TFI) ซึ่งเป็นดัชนีใช้วัดความยากง่ายของขั้นตอน/กระบวนการทางเทคนิคและทางกฎหมายที่เอื้อต่อการค้าระหว่างประเทศ พบว่า แม้ไทยจะทำได้ดีในภาพรวม (อยู่ลำดับที่ 61 ของโลก จากทั้งหมด 164 ประเทศ มีอันดับต่ำกว่ามาเลเซียและจีน แต่อันดับดีกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม) แต่ยังมีอีกหลายด้านที่มีคะแนนต่ำและต้องปรับปรุง เช่น ด้านค่าธรรมเนียมและค่าปรับ (Fees and Charges) ซึ่งครอบคลุมทั้งการเข้าถึงข้อมูล การประเมินค่าธรรมเนียมและค่าปรับ จำนวนค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่เรียกเก็บ จำนวนค่าธรรมเนียม และด้านความร่วมมือของหน่วยงานภายใน (Internal Border Agency Co-Corporation) ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ

 

เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่รัฐบาลมีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเริ่มต้นด้วย Assumption ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ก็อาจทำให้นโยบายผิดเพี้ยนไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้การพัฒนาเศรษฐกิจหยุดอยู่กับที่ การทบทวนนโยบายสาธารณะที่มีราคาสูง (ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนค่าเสียโอกาส) จึงเป็นก้าวแรกที่ควรกระทำ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X