×

มองบทบาทจีน-สหรัฐฯ ในวิกฤตขัดแย้งเมียนมา สันติภาพหรือผลประโยชน์?

19.08.2024
  • LOADING...

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็น ‘จุดร้อน’ (Hot Spot) ซึ่งทั่วโลกให้ความสนใจ จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านที่ยืดเยื้อและนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น 

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 2 ผู้เล่นมหาอำนาจที่มีบทบาทต่อสถานการณ์ในเมียนมาทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง โดยฝ่ายจีน หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ เดินทางไปเยือนกรุงเนปิดอว์ พูดคุยกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร และประกาศสนับสนุนรัฐบาลทหาร พร้อมเสนอให้ความช่วยเหลือจัดทำสำมะโนประชากรและจัดการเลือกตั้ง

 

ขณะที่สหรัฐฯ แสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายต่อต้านที่เป็นประชาธิปไตย โดย 2 เจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ ทอม ซัลลิแวน ที่ปรึกษาอาวุโสของ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และ ไมเคิล ชิฟเฟอร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเอเชียของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้พูดคุยผ่านระบบ Virtual กับผู้แทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงา รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับกองทัพเมียนมา 

 

ท่าทีของทั้งสองฝ่ายจะมีผลอย่างไรต่อวิกฤตในเมียนมา ที่จนถึงตอนนี้ยังไร้ทางออก ความเป็นมหาอำนาจของทั้งสองฝ่ายที่ดูเหมือนจะยืนอยู่ต่างขั้ว จะนำพาสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่เมียนมาได้หรือไม่ หรือท้ายที่สุดแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกมภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในภูมิภาคอาเซียน

 

จีนหนุนสันติภาพ แต่ยังมุ่งรักษาผลประโยชน์

 

การเยือนเมียนมาของหวังอี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และก่อนหน้านั้นคือ เติ้งซีจวิน ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่ไปพบมิน อ่อง หล่าย เช่นกัน เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงที่กองทัพเมียนมากำลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ โดยสูญเสียเมืองล่าเสี้ยว เมืองที่ใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือของรัฐฉาน ที่มีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนาน ให้แก่กองกำลังโกก้าง (MNDAA) 

 

จีนเองให้ความสำคัญต่อพื้นที่รัฐฉานค่อนข้างมาก ทั้งในแง่เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขีดความสามารถทางทหารสูงสุดในรัฐฉาน

 

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การเยือนเมียนมาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนทั้งสอง คนสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของปักกิ่งที่ต้องการให้สถานการณ์ในเมียนมากลับมามีเสถียรภาพ

 

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ (USIP) ประจำเมียนมา กล่าวว่า “จีนพยายามใช้การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้ เพื่อโน้มน้าวให้กองทัพเมียนมากลับสู่โต๊ะเจรจา”

 

อย่างไรก็ตามเขามองว่า รัฐบาลจีนกำลังดิ้นรนเพื่อให้เกิดการเจรจาหยุดยิงรอบใหม่ระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งได้เข้าควบคุมหลายพื้นที่สำคัญบริเวณแนวชายแดนเมียนมา-จีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจีนจะทำอย่างไรเพื่อให้การพูดคุยสันติภาพนั้นเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่กองทัพกำลังตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

 

หลังการพูดคุยกับหวังอี้ ทางด้านมิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า ปักกิ่ง “ต่อต้านความวุ่นวายและความขัดแย้งในเมียนมา” และคาดหวังว่าเมียนมาจะเพิ่มความพยายามในการรักษาเสถียรภาพของสถานการณ์ตามแนวชายแดนจีน-เมียนมา

 

ขณะที่รัฐบาลจีนเผยแพร่แถลงการณ์อย่างเป็นทางการ เน้นย้ำไปที่การรักษาผลประโยชน์ในโครงการต่างๆ ที่จีนดำเนินการอยู่ในเมียนมา

 

“หวังอี้แสดงความหวังว่าเมียนมาจะปกป้องความปลอดภัยของบุคลากรและโครงการของจีนในเมียนมาอย่างจริงจัง รักษาสันติภาพและเสถียรภาพตามแนวชายแดนจีน-เมียนมา เพิ่มความพยายามร่วมกันเพื่อปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทวิภาคี” แถลงการณ์ระบุ

 

ทั้งนี้รัฐบาลทหารยังระบุด้วยว่า จีนสนับสนุนความพยายามในการนำแผนฉันทมติ 5 ข้อมาใช้ เพื่อสร้างสันติภาพและเสถียรภาพ ตลอดจนการพัฒนาในเมียนมา และสนับสนุนการเตรียมการสำหรับจัดการเลือกตั้งทั่วไปแบบหลายพรรคการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่เสรีและยุติธรรม”

 

ภายหลังการเยือนของหวังอี้ สื่อทางการเมียนมา อาทิ Global New Light of Myanmar มีการรายงานโดยอ้างว่า ปักกิ่งให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการเลือกตั้ง แต่รายงานข่าวในสื่อจีนไม่ปรากฏว่าระบุรายละเอียดคำสัญญาดังกล่าว

 

โดยนักวิเคราะห์บางคนมองว่า ความแตกต่างเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาและรัฐบาลจีนนั้นมองแผนการเลือกตั้งของเมียนมาอย่างไร

 

ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจากมหาวิทยาลัยลาโทรบในออสเตรเลีย มองว่า “สำหรับกองทัพเมียนมาและมิน อ่อง หล่าย การเลือกตั้งถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับจีนอาจยังคงมีข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการจัดเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐบาลทหารสามารถควบคุมพื้นที่ของเมียนมาได้ไม่ถึงครึ่งในขณะนี้”

 

กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงของจีน

 

ทาวเวอร์กล่าวว่า การที่กองทัพเมียนมาสูญเสียศักยภาพในการรับรองความปลอดภัยให้กับโครงการของจีนในพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมา ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ที่ปักกิ่งอาจเพิ่มความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

 

“เนื่องจากโครงการเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มต่อต้านต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะได้เห็นจีนทำงานร่วมกับกลุ่มเหล่านี้ เพื่อพยายามอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในเมียนมา” เขากล่าว

 

อย่างไรก็ตามมาร์สตันมองว่า ถึงแม้ต่อไปจีนอาจเพิ่มความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เขาเชื่อว่ากลยุทธ์ของจีนในการป้องกันความเสี่ยงระยะยาวคือการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับเมียนมา ด้วยการดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในประเทศเข้ามามีส่วนร่วม และพยายามรักษาอิทธิพลเหนือกลุ่มต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

แต่เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าการสู้รบระหว่างกลุ่มกบฏและกองทัพเมียนมาจะหยุดลงในเร็วๆ นี้ เขามองว่าตอนนี้ปักกิ่งยังทำได้เพียงพยายามกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านต่างๆ เคารพผลประโยชน์ของจีน ในขณะที่พยายามค่อยๆ สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเจรจาหยุดยิงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

สหรัฐฯ ย้ำ ช่วยเหลือฝ่ายประชาธิปไตย

 

ทางด้านสหรัฐฯ ในการประชุมทางไกลของ 2 เจ้าหน้าที่ระดับสูง กับผู้แทนของรัฐบาลเงา NUG และกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา ทั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) และแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) ฝ่ายสหรัฐฯ ได้แสดงความชื่นชม NUG และกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา ในความพยายามร่วมกัน เพื่อสร้างเส้นทางสู่การเป็นรัฐบาลกลางประชาธิปไตย

 

ชิฟเฟอร์ยืนยันในการประชุมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ “จะยังคงขยายการสนับสนุนและความช่วยเหลือโดยตรงให้กับผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยต่อไป” ซึ่งรวมถึง “การพัฒนาขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมไปสู่การเปลี่ยนผ่านเต็มรูปแบบ สู่การปกครองโดยพลเรือนที่เคารพเจตจำนงของประชาชนชาวเมียนมา”

 

ขณะที่สหรัฐฯ เน้นย้ำท่าทีเดียวกับฝ่ายต่อต้านของเมียนมาคือ การคงแรงกดดันเพื่อให้รัฐบาลทหารยอมเปลี่ยนแนวทางปกครองประเทศ แต่ยืนยันว่าพร้อมทำงานร่วมกับชุมชนระหว่างประเทศ รวมถึงอาเซียนและผู้แทนพิเศษด้านเมียนมาของสหประชาชาติ เพื่อยุติวิกฤตการณ์และสร้างเส้นทางสู่สันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา

 

สำหรับท่าทีของสหรัฐฯ นั้นชัดเจนว่ายืนอยู่ตรงข้ามระบอบเผด็จการทหาร แต่การแสดงบทบาทในลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า จะสามารถนำพาสันติภาพหรือการเจรจาให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ 

 

โดยสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมายังคงมีความซับซ้อนและต้องใช้ความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก ซึ่งคาดว่าหนทางกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของเมียนมาอาจจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X