×

พุทธ-พราหมณ์ นัยและความหมายในงานเรือพระราชพิธี

19.08.2024
  • LOADING...
เรือพระราชพิธี

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร มีพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ พิธีสงฆ์ และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี เพื่อเตรียมเรือพระราชพิธีที่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 

 

เรือพระราชพิธีเป็นประเพณีที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สามารถสืบย้อนได้ถึงสมัยอยุธยา ซึ่งมักเป็นองค์ประกอบสำคัญในเกือบทุกรัชสมัยจนถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ประเพณีโบราณนี้มีองค์ประกอบที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นสมมติเทพแบบพุทธ-พราหมณ์ แต่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นของไทย พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีนัยสำคัญอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ยอร์ช เซเดส์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อธิบายไว้ว่า การกำเนิดของอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดจากการที่พราหมณ์จากอินเดียสามารถควบคุมชนชั้นปกครองพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ โดยผ่านการแต่งงานกับผู้นำท้องถิ่นและการแต่งงานกับชนชั้นนำอื่นๆ เพื่อที่จะมีความชอบธรรมในการปกครองตามคติความเชื่อแบบอินเดีย จนทำให้สังคมของชาวพื้นเมืองกลายเป็นแบบอินเดียโดยปริยาย 

 

ตรงกันข้ามกับ วอลเตอร์ส แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา กลับเล็งเห็นว่า วัฒนธรรมและคติความเชื่อแบบอินเดียเกิดจากนักเดินเรือชาวอินเดีย มากกว่าการถูกครอบงำจากชนชั้นพราหมณ์ที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ประการแรกอารยธรรมอินเดียมีความก้าวหน้า ไม่ว่าจะในเรื่องของเทคโนโลยีของการเดินเรือ วัฒนธรรมเชิงวัตถุ รวมไปถึงระบอบการปกครองตามคติความเชื่อแบบอินเดีย ทำให้รัฐของตนได้เปรียบเหนือรัฐคู่แข่งใกล้เคียง 

 

ประการที่ 2 ภารตภิวัตน์ (Indianization) ยังส่งเสริมการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชมพูทวีป เช่น ในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร โดยการริเริ่มการใช้ตัวอักษรปัลลวะในการเขียนในจารึกหรือพิธีกรรมทำพิธีศพที่มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าฮินดู 

 

นอกจากนี้แนวคิดแบบศาสนาพุทธแพร่จากอินเดียเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้ขยายดินแดนโดยใช้พุทธศาสนาซึ่งเกิดขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 ความรู้รวมถึงคำสอนในพุทธศาสนาด้วย ในขณะที่รัฐฟูนันเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดเทวราชาที่ส่งผลต่อการปกครองของอยุธยา

 

แผนที่การแพร่กระจายของวัฒนธรรมอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ภาพ: Gunawan Kartapranata

 

งานเรือพระราชพิธีนี้ก็สะท้อนคติความเชื่อแบบพราหมณ์และพุทธได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือคติความเชื่อการแสดงออกทางอำนาจแบบอินเดียมากมาย ดังที่ปรากฏให้เห็นที่รูปแบบลักษณะทางศิลปะและความหมายของเรือพระราชพิธี โดยเฉพาะโขนเรือ 

 

สำหรับโขนเรือพระราชพิธีมีความสอดคล้องกับคติเรื่องโลกและจักรวาลที่รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยที่ ‘ครุฑ’ และ ‘นาค’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้า

 

คติความเชื่อดังกล่าวถูกนำมาสร้างเป็นโขนเรือพระราชพิธี เพื่อใช้เป็นเรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ครุฑถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ตามคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งถือว่าเป็นเทพพาหนะของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ และไทยก็รับเอาคติความเชื่อนี้มาใช้เช่นกันตั้งแต่สมัยอยุธยา 

 

พระมหากษัตริย์เป็นดั่ง ‘พระนารายณ์’ อวตารมาเป็น ‘พระราม’ ผู้ครองเมืองอโยธยา และปราบทุกข์เข็ญในคัมภีร์มหากาพย์รามายณะตามคติเทวราชา ครุฑจึงมีฐานะสัญลักษณ์แห่งพระนารายณ์ จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา ซึ่งปรากฏในรูปเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ในพระราชลัญจกร ธง และโขนเรือพระที่นั่งรูปครุฑ 

 

นอกจากนี้พญานาค ตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปรากฏในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ หลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ภาควัตปุราณะและคัมภีร์วิษณุปุราณะ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพญานาคไว้ว่า เป็นผู้เป็นใหญ่เหนือบาดาล ทั้งเป็นบัลลังก์ที่บรรทมของพระนารายณ์ในระหว่างการสร้างโลก อีกทั้งเป็นบัลลังก์ที่ประทับของพระนารายณ์กลางทะเลน้ำนม หรือเกษียรสมุทร 

 

นอกจากครุฑและนาคที่เป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในริ้วขบวนเรือ ก็ยังมีเรือพระราชพิธีลำอื่นๆ ที่จะทำหน้าที่เป็นเรือพิธีคู่ชัก หรือเรือสำหรับจูงเรือพระที่นั่ง จะมีการแกะสลักโขนเรือรูปสัตว์ที่ไม่ใช่พาหนะสำหรับเทพเจ้า อย่างเช่น ตัวละครในรามายณะ ได้แก่ ลิง อันเป็นองครักษ์และช่วยงานราชการให้กับพระรามผู้เป็นอวตารของพระนารายณ์ตามมหากาพย์รามยณะ ซึ่งบุคคลที่นั่งอยู่บนเรือดังกล่าวคือข้าราชการและข้าราชบริพารระดับสูง เป็นการส่งสถานะของความเป็นเทพเจ้าอวตาร 

 

หากวิเคราะห์แล้ว เรือพระราชพิธีเป็นการแสดงออกทางอำนาจโดยใช้สัญญะจากแนวคิดพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียอย่างชัดเจน 

 

เรือพระราชพิธี

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 

ภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

 

เรือกระบี่ปราบเมืองมารและเรือกระบี่ราญรอนราพณ์

ภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

 

ในอีกด้านหนึ่ง ประเพณีการทอดกฐินเป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้วสามารถรับมานุ่งห่มได้ นับเป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ดไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับแนวคิดพุทธราชาตามพุทธปรัชญาเถรวาท ผู้ปกครองแบบธรรมราชาต้องเป็นผู้มีคุณธรรมประจำตัวและมีหน้าที่ทางศีลธรรมต่อสังคม ปกครองบ้านเมืองโดยหลักธรรมาธิปไตย และมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนเป็นคนดี มีความสุข ในธรรมรัฐ พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการปกครองการบริหารที่อำนวยประโยชน์ให้แก่ราษฎรในรัฐ เรียกว่า ‘ทศพิธราชธรรม’ 

 

พระมหากษัตริย์ไทยทรงอุทิศพระองค์เพื่อพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมเป็นหลักในการบริหารชาติบ้านเมืองประหนึ่งว่าเป็นธรรมนูญการปกครองชาติไทย ศาสนาพุทธจึงกลายเป็นสื่อกลาง การสนับสนุนศาสนาพุทธด้วยวิธีนี้นอกจากเป็นการยืนยันความเป็นธรรมราชาแล้ว ก็ยังเป็นสามารถใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น โดยการใช้ประเพณีทอดกฐินเป็นสิ่งตอกย้ำของการเป็นธรรมราชา

 

เรือพระราชพิธี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน 

ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 

ภาพ: สำนักพระราชวัง

 

โดยสรุปแล้ว งานเรือพระราชพิธีสะท้อนแนวคิดพุทธและพราหมณ์ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและพระมหากษัตริย์ที่แตกต่างกัน โดยที่ฮินดูจะเน้นถึงความยิ่งใหญ่ของผู้นำ เปรียบดั่งเทพเจ้าจากการที่เราได้เห็นริ้วขบวนเรือ ในขณะที่ศาสนาพุทธที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น มีหลักการปกครองที่ชัดเจนและมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าที่จะแบ่งแยกมนุษย์ออกจากส่วนของผู้ปกครอง ตัวอย่างเช่น ฮินดูจะมีชนชั้นพราหมณ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารกับเทพเจ้า หรือเทวสถานที่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สำหรับแค่กลุ่มผู้ปกครองเท่านั้น 

 

ส่วนพุทธศาสนาเปิดพื้นที่ให้กับทุกชนชั้นในการเข้ามามีส่วนร่วม เรียกได้ว่าเป็นศาสนาของมวลชน จะมีการอุปถัมภ์พุทธศาสนาจากทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ขุนนาง หรือแม้กระทั่งพ่อค้า ศาสนาพุทธจึงได้รับความนิยมและเข้าถึงทุกภาคส่วน ซึ่งแตกต่างจากศาสนาฮินดูที่ถูกจำกัดเฉพาะแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

 

ส่วนภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์จะใช้แนวคิดเทวราชาแสดงสถานะทางสังคมมากกว่า รัฐโบราณเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อการปกครองของรัฐโบราณ โดยเฉพาะที่ยังปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ในพิธีกรรมของประเทศไทยในปัจจุบัน 

 

อ้างอิง: 

  • Hall, K. R. 1984. Small Asian Nations in the Shadow of the Large: Early Asian History through the Eyes of Southeast Asia.Journal of The Economic and Social History of The Orient
  • Coedès, G., Cowing, S. B., & Vella, W. F.1996. The Indianized States of Southeast Asia. 
  • Wolters, O. W. 2005. History, culture, and region in Southeast Asian perspectives. ACLS History E-Book Project.
  • ศานติ ภักดีคำ. 2562.พระเสด็จโดยแดนชล เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค. สำนักพิมพ์: มติชน
  • กชภพ กรเพชรรัตน์.2565.คติความเชื่อแบบอินเดียโบราณกับอำนาจของผู้นำในรัฐไทยในยุคร่วมสมัย Indic ideology and expression of the power in contemporary Thailand.เอเชียปริทัศย์.ปีที่43.ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising