วันนี้ (17 สิงหาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ปี 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีรายละเอียดระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้
จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว จะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำประมาณ 50,000 ราย จากเรือนจำทั่วประเทศ ตามมาตรา 5 และยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับสิทธิเข้าหลักเกณฑ์ลดวันต้องโทษตามพระราชกฤษฎีกาอีกกว่า 200,000 ราย
ขณะนี้กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาดทั่วประเทศที่ควบคุมอยู่ในเรือนจำจำนวน 220,094 ราย เป็นนักโทษชาย 192,898 ราย และนักโทษหญิง 27,196 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 290,749 ราย จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่าภายหลังจากการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 นั้น ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้พ้นโทษเป็นอิสระทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดโทษในวันที่ 31 สิงหาคม เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมประพฤติที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 ฉบับนี้
ที่ระบุว่า ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป
- ผู้ต้องกักขัง
- ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
- ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ
รายงานแจ้งว่าสำหรับกลุ่มผู้ถูกคุมประพฤติที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวพ้นจากการเป็นผู้ถูกคุมประพฤติครั้งนี้มีประมาณ 7,500 รายทั่วประเทศ ซึ่งทักษิณเป็นหนึ่งในผู้ถูกคุมประพฤติ ทั้งนี้ สามารถเดินทางไปรับใบบริสุทธิ์จากเรือนจำได้ในภายหลัง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในเรือนจำเพราะได้รับการพักโทษไปอยู่นอกเรือนจำแล้ว